×

‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เทรนด์ที่กำลังมาแรง แต่มีทั้ง ‘ข้อดี’ และ ‘ข้อเสีย’ ต่อ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

07.06.2022
  • LOADING...
รถยนต์ไฟฟ้า

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 12 ของโลก โดย พ.ศ. 2561 มียอดผลิตรวมกว่า 2.16 ล้านคัน โดยมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกันอยู่ในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 1,933 ราย และเกี่ยวข้องกับแรงงานทางตรงกว่า 7.5 แสนคน 

 

โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการรถยนต์รายหลัก 18 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-1 จำนวน 709 ราย (เพียง 33% เป็นบริษัทไทย) และผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-2 และ Tier-3 อีกกว่า 1,700 ราย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs สัญชาติไทย) 

 

ลึกเข้าไปผู้ประกอบการที่อยู่ในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังคงมีทิศทางการเติบโตขึ้นจากนโยบาย Local Content Requirements ประกอบกับทิศทางความต้องการยานยนต์ในไทยและตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้น 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการของรถยนต์สันดาปภายในลดลงโดยสัดส่วนที่หายไปนั้น เป็นการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีสัดส่วนที่มากขึ้นถึงร้อยละ 54 ภายในปี 2040 

 

จุดนี้เองทำให้ทางรัฐบาลผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็น Product Champion ลำดับที่ 3 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต โดยเริ่มต้นผลักดันให้มีการผลิตรถยนต์ ในกลุ่ม S-Curve ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 

 

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV) ในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 ยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV) ร่วม 8,900 คัน เพิ่มขึ้นเป็น 25,200 คันใน พ.ศ. 2561 สำหรับใน พ.ศ. 2562 ประเมินว่ายอดการผลิตจะเติบโตถึง 36,000 คัน

 

ทิศทางของ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่กำลังเติบโตไปทั่วโลก และแน่นอนย่อมส่งผลกระทบถึงไทย กลายเป็นที่มาของ ‘โครงการการวิเคราะห์ผลกระทบของโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เพื่อพัฒนานโยบายการพัฒนาและการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย’ โดย รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 

 

การศึกษาดังกล่าวมีขึ้นเพื่อจำลองสถานการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ EV โดยสถานการณ์ที่ทางทีมงานวิจัยได้ทำ กรณีศึกษา 2 กรณี คือ 1. สถานการณ์ปกติ และ 2. สถานการณ์ได้รับการสนับสนุนความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงสู่ EV (EV Readiness Upgrade) 

 

โดยสถานการณ์ปกติเกิดผลกระทบเชิงบวกในปี ที่ 1-5 ต่อมูลค่าอุตสาหกรรมเฉลี่ย จำนวน 2,374 ล้านบาท และผลกระทบต่อแรงงานส่งผลน้อยมาก ส่วนผลกระทบเชิงลบในปีที่ 1-5 ต่อมูลค่าอุตสาหกรรมเฉลี่ยจำนวน 4,579 ล้านบาท และผลกระทบต่อแรงงานจำนวน 1,057 คน ส่วนในปีที่ 6 ถึง 10 ผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7,588 ล้านบาท และผลกระทบต่อแรงงาน 1,000-3,000 คน ส่วนของผลกระทบเชิงลบในปีที่ 6-10 ต่ออุตสาหกรรมเฉลี่ยจำนวน 14,650 ล้านบาท จะสร้างงานให้กับประชากรแรงงานได้รับผลกระทบจำนวน 3,350 คน 

 

ในกรณีที่ 2 ถ้าได้รับการสนับสนุน EV Readiness Upgrade ผลกระทบเชิงบวกในปี ที่ 1-5 ต่ออุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,566 ล้านบาท โดยไม่กระทบต่อแรงงานมากนัก ในส่วนของผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมเฉลี่ย 6,876 ล้านบาท นั้นจะส่งผลให้แรงงานมีผลกระทบจำนวน 1,595 คน 

 

ในปีที่ 6-10 ผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมเฉลี่ย 23,710 ล้านบาท และผลกระทบต่อแรงงานเป็นจำนวน 1,000-3,000 คน ในส่วนผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรม เฉลี่ย 45,750 ล้านบาท จะมีผลกระทบต่อแรงงานจำนวน 10,599 คน 

 

อย่างไรก็ตามจากการที่ผลกระทบเชิงลบในปีที่ 6-10 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีค่าตํ่าสุดที่ 6 พันล้านบาท และสูงสุดอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท ถ้ามีการได้รับการสนับสนุนความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงสู่ EV ผลกระทบเชิงลบ ปีที่ 6-10 ที่เกิดขึ้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีค่าตํ่าสุดที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และสูงสุดที่ 1.21 แสนล้านบาท 

 

ทั้งนี้ จากมูลค่าตลาดโดยรวมของประเทศนั้นมีมูลค่ารวมอยู่ทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท หากไม่เกิดการสนับสนุนหรือการเตรียมความพร้อมต่อการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลให้สูญเสียมูลค่าทางการตลาดร่วม 1.1 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 6 ปี โดยการสูญเสียนี้ยังรวมถึงการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนให้กับประเทศเพื่อนบ้านหรือกลุ่มอาเซียน เป็นต้น

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising