หากไม่มีอะไรพลิกโผ โจ ไบเดน มีโอกาสชนะในรัฐสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นฐานเสียงของเดโมแครต เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย, วอชิงตัน, อิลลินอยส์, นิวยอร์ก และฮาวาย โดยรัฐเหล่านี้จัดอยู่ในโซนปลอดภัยสำหรับเดโมแครต และหากรวมกับรัฐที่มีแนวโน้มเลือกไบเดนหรือเอนเอียงไปทางเดโมแครต จะทำให้ไบเดนมีจำนวนผู้แทนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) รวม 229 เสียง ขณะที่เป้าหมายของผู้สมัครทั้งสองอยู่ที่ 270 เสียงเป็นอย่างน้อย นั่นหมายความว่า ไบเดนต้องชนะเพิ่มเพื่อให้ได้จำนวนคณะผู้แทนอีก 41 เสียงจากรัฐที่เหลือ ก็จะได้เป็นประธานาธิบดี
ดังนั้น จึงต้องมาวัดกันในรัฐที่เป็น Swing State หรือ Battleground State ซึ่งความเป็นไปได้สูงสุดก็คือ ไบเดนอาจชิงรัฐเพนซิลเวเนีย (20 เสียง) กลับคืน บวกมิชิแกน (16) และวิสคอนซิน (10) ซึ่งโพลชี้ว่าไบเดนมีคะแนนนำหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐเหล่านี้ หากทำได้สำเร็จ ไบเดนจะมีคะแนนเสียงเกิน 270 เสียงทันที และในกรณีที่ไบเดนชนะในรัฐฟลอริดา (29) ที่คะแนนนิยมระหว่างสองผู้สมัครขับเคี่ยวสูสีได้ด้วย จะทำให้ไบเดนเข้าเส้นชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน
ดังนั้นรัฐที่เป็นเป้าหมายสำหรับไบเดนก็คือการพิชิตรัฐเพนซิลเวเนียที่เสียให้รีพับลิกันครั้งก่อนให้ได้ รวมถึงคว้าชัยในรัฐมิชิแกนและวิสคอนซิน โดยสำหรับไบเดนนั้น เขาไม่จำเป็นต้องชนะในรัฐฟลอริดาก็ได้ หากเก็บชัยชนะในรัฐ Swing State ในแถบมิดเวสต์ได้ทั้งหมด
ส่วนทรัมป์นั้น หากเขารักษาคะแนนเสียงในรัฐที่เป็นแดงเข้ม รวมถึงรัฐที่มีแนวโน้มเลือกรีพับลิกันได้ทั้งหมด (รวมทั้งเท็กซัส) จะทำให้เขามีคะแนน Electoral Votes ในมือ 163 เสียง ซึ่งทรัมป์ต้องได้เพิ่มอีกอย่างน้อย 107 เสียง เพื่อที่จะรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2
เป้าหมายสำคัญของทรัมป์คือการคว้าชัยชนะในรัฐฟลอริดาที่เป็น Swing State ให้ได้เหมือนกับปี 2016 ซึ่งจะทำให้เขาได้เพิ่มอีก 29 เสียง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคะแนนเสียงในรัฐทางใต้อย่างจอร์เจียและแอริโซนา (รวม 27 เสียง) ให้ได้ด้วย รวมถึงรัฐแถบมิดเวสต์ที่เป็นตัวแปรสำคัญอย่างไอโอวา, โอไฮโอ, วิสคอนซิน และมิชิแกน (รวม 50 เสียง) ซึ่งเขาเคยชนะในการเลือกตั้งครั้งก่อน โดยอีกรัฐสำคัญที่ทรัมป์จะต้องแย่งชิงกับไบเดนคือ เพนซิลเวเนีย (20 เสียง) ซึ่งถ้าทรัมป์ชนะทั้งหมดในรัฐที่กล่าวมา เขาจะมีคะแนน Electoral Votes 289 เสียง ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยทันที
สำหรับทรัมป์นั้น หากเขาแพ้ในรัฐเท็กซัส (38 เสียง) นั่นหมายความว่ามีโอกาสสูงมากที่เขาจะพ่ายแพ้ให้ไบเดน ดังนั้นเท็กซัสจึงเป็นตัวแปรที่น่าจับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมาก
บทสรุปจะเป็นอย่างไร ออกหน้าไหน ใครจะเป็นผู้ชนะ สหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนที่ 46 หรือจะเป็นประธานาธิบดีคนเดิม อีกไม่นานเราจะได้คำตอบ
สำหรับรัฐเนแบรสกาและเมนจะมีระบบคณะผู้เลือกตั้งแตกต่างจากรัฐส่วนใหญ่ โดยจะแบ่งเป็นการคิดคะแนนดิบทั่วทั้งรัฐจำนวน 2 เสียง และที่เหลือเป็นคะแนนเสียงจากแต่ละเขตเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า สองรัฐนี้อาจแบ่งผู้แทนผู้เลือกตั้งให้สองพรรคได้ แตกต่างจากรัฐอื่นๆ ที่ใครชนะคว้าไปทั้งหมด
ติดตามผลเลือกตั้งรัฐต่อรัฐในเว็บไซต์พิเศษ US ELECTION 2020 พร้อมสถานการณ์ล่าสุดและบทความเจาะลึก ได้ที่นี่ https://thestandard.co/us-election-2020/