×

จากภาคใต้ถึงหลักสี่: มองสนามซ้อม วิเคราะห์สนามจริง ดาบสองคมผลเลือกตั้งซ่อม กับ ดร.สิริพรรณ

20.01.2022
  • LOADING...
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ไม่ใช่แค่สนามพิสูจน์ความนิยมต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คือการวัดว่าบรรดาพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเดินตามรอย ‘เศรษฐกิจใหม่โมเดล’ จะอยู่รอดหรือไม่ในกติกาบัตร 2 ใบ 
  • เลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร รวมถึงที่ภาคใต้ คือภาพจำลองการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต ที่อาจเกิดขึ้นหลังเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งใหม่ บัตร 2 ใบ ที่ไม่ใช่ระบบทุกคะแนนเสียงมีความหมาย การได้คะแนนเลือก ส.ส. เขต เป็นที่ 2, 3, 4 จะไม่ถูกนำมารวมเป็นคะแนนพรรคให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ สนามเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จึงสำคัญ เพราะจะเป็นสถานีคิดระหว่างทางว่าแนวทางทำพรรคแต่ละแบบจะไปต่อได้ไหม

เมื่อเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ไม่ใช่แค่สนามพิสูจน์ความนิยมต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คือการวัดว่าบรรดาพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเดินตามรอย ‘เศรษฐกิจใหม่โมเดล’ จะอยู่รอดหรือไม่ในกติกาบัตร 2 ใบ 

 

โดยเฉพาะพรรคกล้า ที่คราวนี้ส่ง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เขต 4 (พญาไท-บางซื่อ-หลักสี่-จตุจักร) ในระบบการเลือกตั้งตามกติการัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ที่มี ส.ส. ได้ 3 คน กลับมาลงเพื่อทดสอบฐานเสียงเก่าในระบบแบ่งเขตว่ายังมีเสียงในตะกร้าอยู่แค่ไหน 

 

รวมถึงพรรคไทยภักดี ที่ชูธงปกป้องสถาบันฯ ไม่เอาคนโกง ซึ่งอาจจะกลายเป็นดาบสองคม ที่หากได้คะแนนน้อย อาจถูกตีความไปในอีกทางหนึ่งเช่นกัน

 

แต่ทว่าดาบสองคมของผลเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ไม่ได้มีแค่กับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมเท่านั้น ฝั่งเพื่อไทยและก้าวไกลก็มีเช่นกัน 

 

สำหรับเพื่อไทย แน่นอนว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรี และการชี้ว่านักการเมืองที่อยู่กับพื้นที่ ทำพื้นที่มาตลอด 17 ปี เป็นตัวแบบของผู้สมัครในกติกาแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตร 2 ใบ จะเอาชนะกระสุนและกระแสได้ไหม  

 

ขณะที่พรรคก้าวไกล ที่จะพาแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. มาลงเดินสนามเรียกคะแนนร่วมกับ เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ หลังเปิดตัว 23 มกราคมนี้ 

 

หากผลเลือกตั้งไม่เป็นดั่งหวัง ก็จะตีกลับไปที่กระแสพรรคก้าวไกล ทั้งสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสนามเลือกตั้งใหญ่ในกติกาบัตร 2 ใบเช่นกัน

 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

 

ท้ายที่สุดเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร รวมถึงที่ภาคใต้ คือภาพจำลองการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต ที่อาจเกิดขึ้นหลังเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งใหม่ บัตร 2 ใบ ที่ไม่ใช่ระบบทุกคะแนนเสียงมีความหมาย การได้คะแนนเลือก ส.ส. เขต เป็นที่ 2, 3, 4 จะไม่ถูกนำมารวมเป็นคะแนนพรรคให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ สนามเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จึงสำคัญ เพราะจะเป็นสถานีคิดระหว่างทางว่าแนวทางทำพรรคแต่ละแบบจะไปต่อได้ไหม

 

ยังต้องไม่ลืมว่า Gen X คนรุ่นใหม่ก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการวิจัยสอบถามคนรุ่นใหม่อายุ 14-36 ปี ที่ตอนนี้มีจำนวนเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ที่พบว่าเป็นรอยัลลิสต์เพียงร้อยละ 6 และโดยรวมมีจุดยืนอนุรักษนิยมเพียงร้อยละ 15 รวมทั้งจากงานวิจัยนี้พบว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการผู้นำทางการเมืองที่เป็นแบบคนเดียวเข้มแข็ง เป็นพระเอกขี่ม้าขาว แต่คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการตรวจสอบถ่วงดุลมาก พรรคการเมืองแบบไหนจะสะท้อนเสียงคนรุ่นใหม่ การเลือกตั้งทุกครั้งต่อจากนี้ก็จะเป็นสนามทดสอบประชาชนเองเหมือนกันว่า ประชาชนในวันข้างหน้าจะเป็นฐานเสียงให้พรรคการเมืองใหม่ๆ ในทิศทางเฉดสีไหนบ้าง 

 

THE STANDARD ขอใช้พื้นที่นี้พูดคุยกับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมองสนามเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ว่าจะสะท้อนสนามจริงของการเลือกตั้งใหญ่อย่างไร

 

เลือกตั้งซ่อมชี้วัดความนิยม พล.อ. ประยุทธ์ 

ว่า ‘จะเอาประยุทธ์ หรือไม่เอาประยุทธ์’

รศ.ดร.สิริพรรณ ชวนเรามองถึงความต่างของการเลือกตั้งซ่อมในยุครัฐบาลประยุทธ์ ที่ต่างจากเลือกตั้งซ่อมยุครัฐบาลก่อนๆ ในอดีตพรรคฝ่ายค้านจะคว้าชัยเสมอในสนามเลือกตั้งซ่อม แต่ยุคนี้พลังประชารัฐชนะเลือกตั้งซ่อมตลอด

 

ส่วนหนึ่งเพราะความขัดแย้งในพรรค ทำให้เลขาธิการพรรค ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องแสดงผลงานสุดตัว และด้วยพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เป็นรัฐบาล 19 พรรค ดังนั้นแรงกดดันที่จะต้องชนะเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาจึงสูง

 

แต่การเลือกตั้งซ่อมรอบนี้ ทั้งชุมพร สงขลา และหลักสี่ กทม. จะต่างไปหรือไม่ เพราะตอนนี้เหลืออีกปีครึ่งก็ครบวาระแล้ว จะชนะหรือไม่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนรัฐบาล แต่ส่งผลต่อการวัดความนิยม พล.อ. ประยุทธ์ ว่าจะเอาหรือไม่เอาประยุทธ์ และสิ่งนี้ต่างหากที่จะไปวัดทิศทางการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดในอนาคต นี่ไม่ใช่เฉพาะสนามเลือกตั้งที่หลักสี่ แต่ผลการเลือกตั้งที่ชุมพรและสงขลาด้วย

 

 

‘เลือกตั้งยุทธศาสตร์’ ไม่ส่งผลสะท้อนอยู่ในสนามเลือกตั้งซ่อม

เหตุสนามนี้ยังไม่ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล

นอกจากนั้น รศ.ดร.สิริพรรณ ยังมองว่ากระทั่งสนามเลือกตั้งใหญ่เพื่อเลือกรัฐบาล การจะประนีประนอมกันระหว่างค่ายก็ไม่ใช่สิ่งที่จัดการง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะมีการกำหนดพื้นที่ การตกลงร่วมกัน ยังประเมินไม่ได้ เพราะยังมีพรรคไทยสร้างไทยอีกพรรคที่จะเป็นอีกตัวแปรสำคัญ

 

รศ.ดร.สิริพรรณ ยังมองว่า สนามเลือกตั้ง 3 ครั้งในเขตหลักสี่ที่ผ่านมา พื้นที่เขตเปลี่ยนทุกครั้ง วิเคราะห์ฐานเสียงได้ยาก

 

“สมัยก่อนที่คุณอรรถวิชช์เคยชนะเขตนี้ ถ้าไปดูพื้นที่ในเขตเลือกตั้งมันไม่ใช่พื้นที่เดียวกับตอนนี้ ดังนั้นการวิเคราะห์ฐานเสียงจึงยาก ถ้าประเมินคร่าวๆ ประชาธิปัตย์มีฐานเสียง 16,000 จากการลงเลือกตั้งโดยผู้การแต้ม-พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ ส่วนคุณสิระ เจนจาคะ ที่ได้ 34,000 ถามว่าเป็นฐานเสียงคุณสิระทั้งหมดไหม ก็ไม่ใช่ เพราะหนึ่ง เชื่อว่ามาจากกระแส พล.อ. ประยุทธ์ และสอง เป็นฐานเสียงจากคุณสกลธี ภัททิยกุล โดยในเวลานั้นทั้งสองคนอยู่พรรคเดียวกัน ซึ่งตอนนี้คุณสกลธีออกจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว และคุณสกลธีเป็นเพื่อนคุณอรรถวิชช์ เคยอยู่ในเขตเดียวกัน เคยชนะพื้นที่นี้มาก่อน ตั้งแต่ตอนเป็นกติกาสมัยรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แบบเขตใหญ่ เรียงเบอร์ ที่ 1 เขต จะมี ส.ส. ได้มากกว่า 1 คน ดังนั้นเชื่อได้ว่าคุณอรรถวิชช์จะได้ฐานเสียงจากคุณสกลธี”

 

รศ.ดร.สิริพรรณ มองว่า แต่ในตะกร้าคะแนนเดียวกันนี้ พรรคไทยภักดีของคุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ก็ประกาศส่งผู้ลงสมัครด้วย ซึ่งคุณหมอเหรียญทอง แน่นหนา ก็ประกาศสนับสนุนผู้สมัคร ดังนั้นในตะกร้านี้แม้ไม่มีฐานเสียงเดิมของไทยภักดี แต่ก็ต้องมาดูกันว่าจะได้คะแนนเท่าไรในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

“มาที่เรื่องกระแส ก็ต้องมองที่หัวหน้าพรรค คุณสิระ รวมถึงมาดามหลี (สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ) ก็เป็นคนพูดเองว่าจะใช้กระแสของ พล.อ. ประยุทธ์ ตรงนี้จึงเป็นตัวที่ทำให้การเลือกตั้งซ่อมหนนี้เป็นตัววัดว่าพลังประชารัฐจะไหวไหม ในขณะเดียวกันคุณสิระก็ห้อยหลวงพ่อป้อมมาตลอด”

 

รศ.ดร.สิริพรรณ วิเคราะห์ว่า หลวงพ่อป้อมไม่เคยขายได้สำหรับผู้เลือกตั้ง ความขลัง (ซึ่งขลังจริง) เป็นเรื่องความสามารถในการจัดการทางการเมือง คุณสิระและมาดามหลีจึงอาจจะอ่าน Voters หลักสี่ผิดพลาด ที่ชูบทบาทศิษย์หลวงพ่อป้อมและองครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์ แต่ก็ต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่าเขตนี้เป็นค่ายทหาร ดังนั้นกระสุนเยอะแน่นอนสำหรับพรรคพลังประชารัฐ

 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

 

สงขลา ชุมพร ใช้เป็นโมเดลหลักสี่ไม่ได้

รศ.ดร.สิริพรรณ ย้ำว่า สงขลา ชุมพรเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคตั้งแต่แรก ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์แพ้ไม่ได้อีกแล้ว แพ้ก็สูญหาย จึงทุ่มหาเสียงทุกรูปแบบ และประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูโครงสร้างเครือข่ายของพรรคในพื้นที่ โรงน้ำชา สภากาแฟ การหาเสียงแบบถึงพริกถึงขิง 

 

ส่วนพรรคกล้า พรรคก้าวไกล ไม่มีโอกาสตั้งแต่ต้น เนื่องจากภาคใต้แบรนด์ประยุทธ์ยังคงขายได้ มีผลงาน ทั้งมาตรการช่วยเหลือต่างๆ บัตรคนจน คนละครึ่ง และยังถูกจริตคนไทยสายอนุรักษ์ 

 

ขณะที่คุณกรณ์ จาติกวณิช ยังไม่ได้สร้างแบรนด์ ยังไม่มีผลงานจริงจัง และคนใต้ยังคงไม่ลืมความเจ็บช้ำจากเพื่อไทย (ทักษิณ ชินวัตร) 

 

ส่วนจุดยืนก้าวไกล คนใต้ยังไม่ซื้อ ผู้สมัครยังเจาะพื้นที่นอกตลาดในชุมชนเมืองไม่ได้ ต่างจากหลักสี่ เพราะหลักสี่ก็เหมือนกับพื้นที่ส่วนใหญ่ใน กทม. ไม่เคยมีเจ้าของที่แท้จริง ไม่มีความผูกพันกับพรรคใดลึกซึ้ง  

 

ฐานคะแนนในตะกร้า 2 ฝั่ง 

ต่างตัดคะแนนกันเองทั้งคู่ 

ตัวแปรคือผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

เมื่อขยับมามองตัวเลขในตะกร้า 2 ฝั่ง รศ.ดร.สิริพรรณ ให้ข้อมูลประกอบว่า ฝั่งพลังประชารัฐบวกประชาธิปัตย์ จะได้ 50,000 ฝั่งเพื่อไทย ก้าวไกล (อนาคตใหม่) รวมได้ 57,000 แต่คนเลือกพรรคอื่นๆ อีก 13,000 ซึ่งส่วนใหญ่คือเศรษฐกิจใหม่กับเสรีรวมไทย จึงต้องยกมาอีกสัก 8,000 ฝ่ายค้านจะมี 65,000 ฝั่งอนุรักษนิยมมี 55,000 แล้วยังตัดคะแนนกันเองทั้ง 2 ฝั่ง ตัวแปรคือผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ครั้งที่แล้ว 120,000 แต่ครั้งนี้น่าจะไม่ถึง และเลือกตั้งซ่อมจะไม่ให้มีเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีเลือกตั้งนอกเขต ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคก้าวไกลจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งแค่ไหน

 

 

ไทยภักดี ตัวแปรสำคัญในการแย่งคะแนน

รศ.ดร.สิริพรรณ ชี้ว่า พรรคไทยภักดีจะเป็นตัวแย่งคะแนนจากคุณอรรถวิชช์และมาดามหลี แม้จะไม่ชนะ แต่จะเป็น

 

บททดสอบสำคัญ คือ ไทยภักดี คุณหมอวรงค์ชูสโลแกนหลักคือปกป้องสถาบันฯ แน่นอนว่ามีเรื่องไม่เอาคนโกงด้วย แต่ฐานหลักคือปกป้องสถาบันฯ ซึ่งมองว่ามันละเอียดอ่อน เพราะถ้าได้คะแนนน้อยมันจะถูกตีความไปแบบหนึ่งได้

 

ถ้าหากมองแบบนี้ ถ้าเอางานวิจัยของตัวเองที่ทำ ถามคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนแบบไม่เอาประชาธิปไตย ก็มีประมาณร้อยละ 15 ดังนั้นก็อาจเป็นจุดอ่อนของพรรคได้

 

หลักสี่คือสนามทดสอบพรรคใหม่

เตรียมพร้อมกติกาใหม่เลือกตั้งใหญ่

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า หลักสี่เป็นบททดสอบของพรรคใหม่เหล่านี้ ว่าแก่นของพรรคเหล่านี้จะดำรงอยู่ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ถ้าสนามเลือกตั้งซ่อมนี้ยังไปไม่ไหว จะเกิดการจับกลุ่มเปลี่ยนแปลงการรวมพรรคครั้งใหม่ เพราะพรรคเหล่านี้ เช่น พรรคกล้า ก็ตั้งขึ้นมาก่อนเปลี่ยนแปลงกติการะบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ โมเดลคือขึ้นมาแทนพรรคเศรษฐกิจใหม่ เบื่อเพื่อไทย ไม่เอาอนาคตใหม่ ไม่เอาประยุทธ์ ตอนนั้นคนที่มาสอยคะแนนไปก็คือคุณมิ่งขวัญ ได้ ส.ส. มา 6 คน พรรคกล้าก็จะใช้โมเดลนี้ แล้วทีนี้พอเปลี่ยนกติกาบัตร 2 ใบ สนามนี้ก็เอาคุณอรรถวิชช์มาลง ก็จะได้ทดสอบว่ายังมีฐานเสียงในเขตเลือกตั้งอยู่หรือเปล่า แต่ฐานตรงนี้ย้ำว่าไม่ได้เป็นฐานของคุณอรรถวิชช์เต็มร้อย

 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

 

ก้าวไกล เปิดตัวผู้ว่าฯ กทม. 

ร่วมเดินหาเสียงกับ เพชร กรุณพล 

คือการเดิมเกมเสี่ยง

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า ตนเองได้ตั้งคำถามตั้งแต่ที่เลือกคุณเพชร กรุณพล มาลงหลักสี่ เพราะมันดูเป็นการฉาบฉวยสำหรับผู้ตัดสินใจหย่อนบัตรจริงๆ ทั้งหมดนี้อย่าลืมว่ากรอบเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมสั้นมาก แต่เราก็บอกตรงนี้ไม่ได้ว่าคนที่จะหย่อนบัตรเขาให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า

“การเมืองแบบสีสันในระยะสั้นมันอาจจะชนะได้ เพราะมันพลิกกันได้ในสัปดาห์เดียว แล้วยิ่ง กทม. ยิ่งสวิง

 

เข้าใจว่าก้าวไกลจะใช้ตรงนี้เป็นบททดสอบกระแสของพรรคและกระแสของการเลือกตั้งแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. แต่นี่เป็นดาบสองคมชัดเจน เพราะถ้าแพ้ขึ้นมา ทั้งคุณเพชร ทั้งผู้ว่าฯ กทม.

 

คะแนนที่เคยได้ 800,000 มันไม่ได้เป็นคะแนนที่นิ่ง แต่เป็นคะแนนที่ดิ้น อย่างที่บอก พอเป็นเลือกตั้งซ่อม คนจะเลือกเพราะตัวบุคคล คนหย่อนบัตรจะถามตัวเองว่าผู้สมัครคนนี้ทำอะไรในพื้นที่บ้าง และมันไม่ใช่เลือกตั้งใหญ่ที่มีตัวแปรคือนโยบายของพรรคที่จะเข้าไปจัดตั้งรัฐบาล แต่คิดว่าก้าวไกลเองก็ยอมรับได้ ไม่ว่าผลลัพธ์ออกทางไหน และคงจะใช้ตรงนั้นไปปรับยุทธศาสตร์เลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า”

 

 

หลักสี่ สนามทดสอบเพื่อไทย 

ในวันที่ไม่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เจ้าแม่ กทม.

รศ.ดร.สิริพรรณ มองว่า การเลือกตั้งปี 2562 ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นของอนาคตใหม่ คุณสุรชาติ เทียนทอง จะชนะ ที่แพ้เพราะตกปลาจากบ่อเดียวกัน สิ่งที่คุณสุรชาติทำ เท่าที่ประเมินเอาเองเหมือนสู้ด้วยตัวคนเดียว อาจเพราะที่มาของคุณสุรชาติคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นคนชวนมา ตรงนี้มันสะท้อนความระส่ำระสายของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะใน กทม. ยิ่งพอคุณหญิงสุดารัตน์ออกไปก็เหมือนไม่มีแม่ทัพ กทม. หลักสี่จึงเหมือนเป็นการซ้อมรบ เป็นบททดสอบแต่ละพรรคว่าจัดการอย่างไร

 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

 

พรรคเพื่อไทยไม่มีทางแลนด์สไลด์

รศ.ดร.สิริพรรณ ยืนยันว่า ไม่มีทาง และจะไม่แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย ที่หลักสี่ครั้งนี้คะแนนจะถูกเฉือนเป็น 4 กลุ่มหลัก แม้จะมีผู้สมัครเด่นๆ 5 คน รวมไทยภักดี แต่คิดว่าไทยภักดีได้ไม่ถึงหมื่น ก็จะถูกเฉือนเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนั้นไม่มีใครเป็นแลนด์สไลด์เด็ดขาด คะแนนก็อาจจะชนะกันน้อยกว่าครั้งที่แล้ว

 

ในแง่หลักวิชาการแล้ว การเลือกตั้งยุทธศาสตร์ การหลบหลีกให้กัน มีได้

 

สำหรับอีกประเด็นร้อน เรื่องการเลือกตั้งยุทธศาสตร์ รศ.ดร.สิริพรรณ ชวนมองในเชิงวิชาการ 2 มุม มุมแรก มองว่าคุณเป็นพรรคการเมืองคุณก็ต้องแข่งให้มากที่สุด จะมาประนีประนอม ฮั้วกัน หลบหลีกกัน มันไม่ควร มองในมุมก้าวไกล เป็นพรรคใหม่ สิ่งที่เขาทำตลอดเวลาในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาคือการทดสอบศักยภาพของตัวเอง ดังนั้นหลักสี่-จตุจักร เขาก็ส่งคุณเพชรมาชิมลางการเลือกตั้ง กทม. แล้วก็ทดสอบด้วยว่า 800,000 ยังอยู่ไหม เพราะผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว ต้องไม่ลืมว่าพรรคก้าวไกลมีความเป็นซ้ายมากขึ้นจากจุดแรกที่เป็นอนาคตใหม่ จึงต้องการทดสอบว่าฐานเสียงยังอยู่หรือเปล่า

 

แต่มองอีกมุมหนึ่ง จะเป็นการตั้งว่าเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดคืออะไร กำลังสู้อยู่กับอะไร จะให้พรรคได้คะแนนมากที่สุด หรือเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ เพื่อหยุดวงจรอุบาทว์ หยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศ ถ้ามองมุมนี้ เลือกตั้งใหญ่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุยกัน ในทางวิชาการ ในทางรัฐศาสตร์เองก็มี เรียกว่าการแข่งขันแบบเข้มข้นและการแข่งขันแบบไม่เข้มข้น แต่ละพรรค มันมีตัวอย่างทั่วโลกที่พรรคบล็อกเดียวกันจับมือร่วมกัน ในอิตาลี ในเยอรมนี ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ผิดกติกา แต่ว่ามันมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ถ้าไม่ทำ โอกาสหยุดระบอบอำนาจนิยมจะทำได้ยาก ต้องไปรอให้เขาทะเลาะกันเอง ซึ่งต่อให้เขาทะเลาะกันเองเขาก็ยังมีวิธีที่จะเอาชนะในการเลือกตั้งได้

 

 

การเลือกตั้งหลักสี่ การเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ 

คือภาพจำลองการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตครั้งแรก

หลังเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งใหม่ บัตร 2 ใบ 

รศ.ดร.สิริพรรณ ชี้ว่า

 

การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้สำคัญ เพราะจะเป็นสถานีคิดระหว่างทางว่าพรรคคุณจะไปต่อได้ไหม เราเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการจัดขั้วใหม่ทางการเมือง พรรคที่แยกกันออกไปจะกลับมารวมกันใหม่

 

คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ตอนนั้นก็จะตั้งพรรค กลับมาใหม่แล้ว ถ้าพรรคทุนหนา สายป่านยาว อาจจะยังส่งลงเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ว่าหลังจากนั้น ถ้ากติกานี้ยังอยู่ ภูมิทัศน์ทางการเมืองจะนิ่งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

แต่กรณีพรรคไทยภักดีอาจจะต่างไป ด้วยเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์บางอย่างชัดเจนมาก ซึ่งจริงๆ แล้วมันอ่อนไหว ถ้าเกิดเขาได้คะแนนน้อยขึ้นมา มันจะเป็นการเปิดเปลือยจุดยืนของสังคม ทีนี้พรรคนี้จะอยู่ต่อไปได้ไหมนั้น เนื่องจากพรรคนี้มีท่าทีชัดเจนว่าเขาต้องการทดสอบสนาม เขาอาจจะยังอยู่ เพราะเขาไม่ได้เป็นนักเลือกตั้งทั่วไป แต่เขาจะได้เรียนรู้ว่าเขาอ่านสังคมไทยถูกแค่ไหน ซึ่งจากการวิจัยที่ทำแบบสอบถาม เด็กที่บอกว่าตัวเองเป็นรอยัลลิสต์ มีร้อยละ 6 แล้วก็อนุรักษนิยม รวมกันไม่เกินร้อยละ 15

 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

 

เลือกตั้งหลักสี่-จตุจักร 

นอกจากเป็นทดสอบพรรค 

ยังทดสอบประชาชนด้วย 

รศ.ดร.สิริพรรณ มองว่า ปัจจัยหลักมาจากกติการัฐธรรมนูญที่พาประเทศถอยหลังเข้าคลอง ประชาชนเวลาถูกประเมินด้วยสื่อ ด้วยนักวิชาการ หรือด้วยประชาชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะเรื่องการซื้อเสียง บางทีก็ไม่ค่อยแฟร์กับประชาชน ด้วยกติกาแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย อย่าหวังว่าการซื้อเสียงจะหายไป เพราะเมื่อทุกคะแนนมีความหมาย ก็ต้องซื้อคะแนนเก็บไว้ในกระเป๋า เพราะแพ้ในเขตไม่เป็นไร แต่เอามาแปรรวมเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อได้ ดังนั้นการซื้อเสียงมันเลยสูง นี่คือมรดกบาปจากระบบเลือกตั้งเฉดสีใหม่ของพรรคการเมือง ในอนาคตจะมีหลากเฉดกว่านี้ กระทั่งปัจจุบันก็มีพรรคการเมือง 3 ไม่เอา

 

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวถึงอีก

 

หนึ่งบททดสอบใหม่สำหรับประชาชน คือ การเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์ เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังมีพรรคที่ตั้งมาเพื่อคว้าคะแนนในตะกร้าใหม่ ตะกร้าที่ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาลุงตู่ แต่ก็ไม่เอาทักษิณ ยังกลัวผีทักษิณ ทั้งยังไม่เอาก้าวไกลเพราะกลัวบ้านเมืองระส่ำระสาย เป็นตะกร้าของ 3 ไม่เอา

 

ไม่ใช่แค่ 2 ไม่เอาแล้วตอนนี้ ตะกร้า 3 ไม่เอาจะมีพรรคที่มารองรับ อย่างพรรคกล้าและพรรคไทยสร้างไทย แต่ว่าพรรคที่สุดโต่งอย่างไทยภักดี หรือพรรคที่จะสุดโต่งกว่าพรรคก้าวไกลก็อาจจะมีในอนาคต เพราะมีเด็กรุ่นใหม่ที่บอกว่าก้าวไกลทำได้แค่ไปประกันตัว ในอนาคตเราเชื่อว่าสเปกตรัมทางการเมืองของพรรคการเมืองจะมีเฉดสีที่หลากหลายมากว่านี้

 

รศ.ดร.สิริพรรณ ได้ทิ้งท้ายบทสนทนานี้ว่า “แต่

 

ปัจจัยหนึ่งของการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป จะขึ้นอยู่กับการตีความเรื่อง 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ด้วยว่าจะครบวาระหรือไม่ ซึ่งหากครบวาระในปี 2568 ก็อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมยอมถอดสลักด้วยซ้ำไป

 

ปีนี้เราจึงจะได้เห็นการเมืองที่ไม่ปกติเกิดขึ้นเป็นระยะ”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X