×

ยิ่งลักษณ์ VS ประยุทธ์ ใครแก้โกงดีกว่าระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลทหาร?

26.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การคุยเรื่องปริมาณโกงในยุคเผด็จการนั้นยาก เพราะระบบเผด็จการทุกที่ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง การเข้าถึงข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย และการตรวจสอบผู้มีอำนาจในระบบนี้อาจถูกคุกคามหรือลงโทษได้ตามอำเภอใจ
  • ผลการเปรียบเทียบดัชนีโกงในแต่ละรัฐบาลชี้ว่า ‘ที่มา’ ของรัฐบาลไม่มีผลต่อภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสของประเทศมากนัก นั่นคือจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลรัฐประหาร มุมมองต่างประเทศต่อประเทศไทยด้านโกงกินและคอร์รัปชันก็แทบไม่ต่างกัน
  • หัวใจของการต้านโกงไม่ใช่การทุ่มเถียงว่าทหารหรือนักการเมืองที่โคตรโกง แต่คือการสร้างกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจเปิดกว้างจนรัฐบาลยกทรัพยากรสาธารณะให้ใครตามใจไม่ได้

คนจำนวนมากในประเทศไทยเชื่อว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งคือพวกขี้โกง และขณะเดียวกัน คนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มก็เชื่อว่ารัฐบาลจากการยึดอำนาจนั้นโกงกว่า ความยุ่งของประเทศนี้คือความเชื่อที่ต่างกันนำไปสู่ท่าทีการเมืองที่ต่างกัน จากนั้นก็เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้าที่ปกคลุมประเทศมาสิบสองปี

 

สำหรับคนที่เชื่อแบบแรก เผด็จการทหารที่เกิดขึ้นในปี 2549 และ 2557 คือประตูสวรรค์สู่การต้านโกงแน่ๆ แต่สำหรับคนที่คิดแบบหลัง รัฐบาลทหารของกลุ่มพลเอกทั้งสองครั้งคือจุดเริ่มต้นของการคอร์รัปชันและเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องอย่างเงียบๆ แต่รุนแรงกว่ายุคที่มีการเลือกตั้งและประชาธิปไตย

 

หากตัดนักการเมืองและทหารที่ได้อำนาจจากการเลือกตั้งและการรัฐประหารทิ้งไป ปัญหาที่คนไทยคุยกันไม่รู้เรื่องคือตกลงเผด็จการทหารแก้โกงได้จริงหรือไม่จริง

 

ถ้าปัญหานี้ตอบง่ายเหมือนคำถามเรื่องพระอาทิตย์ขึ้นจากทิศไหนก็คงดี แต่ข้อเท็จจริงคือการคุยเรื่องปริมาณโกงในยุคเผด็จการนั้นยากเพราะเหตุสามข้อ ข้อเแรกคือระบบเผด็จการทุกที่ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ข้อสองคือการเข้าถึงข้อมูลที่แสดงความผิดของผู้มีอำนาจแบบเผด็จการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และข้อสามคือการตรวจสอบผู้มีอำนาจในระบบนี้อาจถูกคุกคามหรือลงโทษได้ตามอำเภอใจ

 

ใครไม่เชื่อเรื่องนี้ก็ลองถาม อ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ว่าท่านโดนนายกรัฐมนตรีจวกว่าอะไรบ้างหลังออกมาแถลงข่าวว่าการจ่ายสินบนและเงินใต้โต๊ะยุครัฐบาลนี้กำลังพุ่งสูงสุดในรอบสามปี

 

หนึ่งในตัวเลขที่ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายหนุนรัฐประหารนิยมใช้ในการเถียงกันเรื่องนี้คือภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใส ทั้งสองฝ่ายคิดคล้ายกันว่าตัวเลขนี้สะท้อนปริมาณโกงที่เกิดขึ้นจริง การโกงเป็นผลผลิตของระบบการเมืองขณะเกิดการโกง และการเปลี่ยนระบบย่อมส่งผลให้ภาพลักษณ์นี้เปลี่ยนแปลงตาม

 

พูดง่ายๆ ฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อว่าดัชนีความไม่โปร่งใสยุคเผด็จการต้องสูงขึ้น ขณะที่ฝ่ายนิยมเผด็จการก็เชื่อว่าภาพลักษณ์ความไม่โปร่งใสของรัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องเลวลงตลอดเวลา

 

อย่างไรก็ดี ผลการเปรียบเทียบดัชนีโกงในแต่ละรัฐบาลกลับชี้ว่า ‘ที่มา’ ของรัฐบาลไม่มีผลต่อการขึ้นลงของภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสของประเทศมากนัก หรือพูดให้ตรงขึ้นก็คือจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลรัฐประหาร มุมมองต่างประเทศต่อประเทศไทยด้านโกงกินและคอร์รัปชันก็แทบไม่ต่างกัน

 

ในการเปิดเผยอันดับความโปร่งใสโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติครั้งล่าสุด ประเทศไทยยุครัฐบาลประยุทธ์ในปี 2560 มีคะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 37 ซึ่งสูงกว่าปี 2559 ที่คะแนนคือ 35 แต่น้อยกว่าปี 2558 ซึ่งคะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 38 ในปีแรกที่พลเอก ประยุทธ์ รัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล

 

ดูอย่างผิวเผินแล้ว คะแนนโปร่งใสของรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งเริ่มต้นที่ 38 แต่ลดลงไปเหลือ 35 และกระเตื้องเป็น 37 เหมือนจะบอกว่ารัฐบาลนี้โปร่งใสต่ำลงเมื่อเทียบกับปีแรกที่ยึดอำนาจ แต่ถ้ามองแบบเปรียบเทียบ รัฐบาลทหารก็มีคะแนนโปร่งใสระหว่าง 35-38 ไม่ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ คสช. รัฐประหารโค่นล้มไป

 

ในปีแรกที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งจนยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายก คะแนนความโปร่งใสของประเทศไทยอยู่ที่ 37 ก่อนจะตกไปที่ 35 และขยับขึ้นเป็น 38 ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้านโกงดีกว่า คสช. เพราะยิ่งอยู่นานคะแนนความโปร่งใสยิ่งดีขึ้น แม้ในแง่เปรียบเทียบ คะแนนจะอยู่ในช่วง 35-+38 ไม่ต่างกันก็ตาม

 

 

สภาพที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และประยุทธ์มีดัชนีโปร่งใสขึ้นลงระหว่าง 35-38 สะท้อนว่าที่มาของอำนาจรัฐแทบไม่มีผลกับมุมมองที่ต่างประเทศมีต่อคอร์รัปชันในไทย การทำรัฐประหารเพื่อแก้โกงจึงเป็นข้ออ้างที่ใช้ไม่ได้ ซ้ำยังทำให้ภาพลักษณ์ประเทศถอยหลังลงคลองจนต้องใช้เวลาฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ ณ จุดที่เคยเป็น

 

โปรดสังเกตว่าอันดับความโปร่งใสของประเทศยุครัฐบาลทหารตกต่ำจากอันดับที่ 76 ไปเป็น 101 ก่อนจะกระเตื้องกลับมาเป็น 96 แต่นั่นก็ยังต่ำกว่าอันดับความโปร่งใส ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งปีแรกที่ชนะเลือกตั้งอยู่ที่ 88 และก่อนยุบสภาอยู่ที่ 85 หลังจากร่วงไปที่ 102 ในปีสองของรัฐบาล

 

คะแนนความโปร่งใสของประเทศที่วนเวียนในช่วง 35-38 แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยอื่นซึ่งทรงอิทธิพลต่อทัศนคติต่างประเทศไม่น้อยกว่าที่มาของอำนาจรัฐ ตัวอย่างเช่นการเรียกสินบนเพื่อแลกกับความสะดวก ระบบภาษีไม่โปร่งใส ธรรมาภิบาลของผู้บริหาร ระบบอุปถัมภ์ ความใกล้ชิดของธุรกิจกับรัฐบาล ฯลฯ

 

จะเป็นรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจโดยเลือกตั้งหรือกระบอกปืน โครงสร้างพื้นฐานที่โลกมองว่าเอื้อคอร์รัปชันเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงน้อยมาก รัฐบาลประชาธิปไตยทำน้อยไปที่จะลดเงื่อนไขอันทำให้เกิดความระแวงเรื่องโกงพวกนี้ ส่วนรัฐบาลเผด็จการยิ่งเจอปัญหาทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเรื่องที่มาของรัฐบาล

 

ตรงข้ามกับข้อถกเถียงว่าใครขี้โกงกว่าระหว่างทหารกับนักการเมือง การโกงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาชีพ ทหารโกงได้เหมือนนักการเมือง ผู้รับเหมา หรือกำนัน การอยู่บ้านหลวงหลังเกษียณคือการโกงไม่ต่างจากไถเงินเป่าคดี หรือใส่เหล็กสร้างถนนสเปกต่ำ และการยกย่องอาชีพไหนเกินเหตุก็เข้าข่ายอวดอุตริศีลธรรม

 

สำหรับคนที่ต้านโกงจริงๆ ไม่ใช่ต้านเพื่อสอพลอหรือหนุนนายยึดอำนาจ คำถามที่ต้องคิดคือทำอย่างไรที่จะสร้างระบบป้องกันโกงได้มากที่สุด ไม่ใช่ขยี้คนกลุ่มเดียวแล้วมโนว่าคนอีกกลุ่มเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาว

 

เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชันของไทยพูดดีว่าการต้านโกงต้องเริ่มต้นที่ความรู้เรื่องโกง และคนที่ศึกษาเรื่องโกงในหลายประเทศเขาสรุปไว้นานแล้วว่าพฤติกรรมโกงของรัฐบาลไหนล้วนมีจุดเริ่มต้นจากปัจจัยพื้นฐานสองข้อ ข้อแรกคือนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนข้อที่สองคือระบบการเมือง

 

แน่นอนว่ากรอบกว้างๆ ของการโกงคือรัฐบาลและข้าราชการผูกขาดการตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะ แต่การลงมือโกงจริงๆ จะเกิดขึ้นเมื่อนโยบายเศรษฐกิจมีช่องให้รัฐบาลทุจริต ยิ่งกว่านั้นคือรัฐบาลต้องอยู่ในระบบที่สังคมควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะไม่ได้ รวมทั้งไม่มีกลไกบังคับความรับผิดทางการเมือง

 

เห็นได้ชัดว่าหัวใจของการต้านโกงไม่ใช่การทุ่มเถียงว่าทหารหรือนักการเมืองที่โคตรโกง แต่คือการสร้างกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจเปิดกว้างจนรัฐบาลยกทรัพยากรสาธารณะให้ใครตามใจไม่ได้ เช่นเดียวกับการออกแบบให้มีฝ่ายค้านหรือองค์กรที่จะตรวจสอบรัฐบาลได้ตลอดเวลา

 

นโยบายซื้อรถไฟความเร็วสูงจากจีนโดยไม่ประมูลเข้าข่ายนโยบายเอื้อโกงในยุคปัจจุบัน เพราะแค่นายทุนคุยกับผู้มีอำนาจถูกคอก็โกยเงินไทยกลับจีนไปหลายแสนล้าน ส่วนประชาชนได้แต่นั่งทำตาปริบๆ โดยทำอะไรไม่ได้ และระบบบริหารประเทศตอนนี้ก็ไม่มีช่องทางให้เอาผิดเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว

 

ไม่ต้องเถียงกันว่ายุคไหนโกงเยอะระหว่างยิ่งลักษณ์กับประยุทธ์ เพราะโจทย์สำคัญของประเทศคือการปราบโกงโดยทำให้การโกงมีอุปสรรคจนไม่อยากโกง และเพราะการโกงเป็นเรื่องเดียวกับการผูกขาดอำนาจ การปราบโกงจึงต้องทลายอำนาจไม่ให้กระจุกที่คนกลุ่มซึ่งตรวจสอบไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X