การพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน 4 ล้านใบ ซึ่งในความเป็นจริง มีการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ และยังพิมพ์เพิ่มสำรองอีก 5% หรือราว 2.6 ล้านใบ นั่นเท่ากับว่ามีบัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 7.3 ล้านใบ
กรณีดังกล่าว เกิดเป็นประเด็นคำถามให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ว่าแนวโน้มดังกล่าวดูจะส่อแววทุจริตการเลือกตั้งปี 2566 หรือไม่
ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชี้แจงว่า ส่วนที่เกินมาเพราะ กกต. จ่ายบัตรเป็นเล่ม ไม่ได้จ่ายเป็นฉบับ โดยเล่มสุดท้ายสำรองให้หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งบางหน่วยก็จะใช้ 1-2 เล่ม จึงต้องมีการสำรองให้หน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 95,000 กว่าหน่วย รวมเป็น 2 ล้านฉบับ
อย่างไรก็ตามว่าด้วยปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง เรื่องราวเหล่านี้เคยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีเรื่องอื้อฉาว จนทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องหลุดจากอำนาจทางการเมืองไปตลอดกาล
ในช่วงก่อนปี 2490-2500 หรือ 1948-1957 เป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจสามฐาน (Triumvirate Rule) ภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในหนึ่งสมาชิกคณะราษฎรฝ่ายทหาร ร่วมกับ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นการวางอำนาจแบบถ่วงดุล
แม้ว่าจอมพล ป. สามารถกลับมามีอำนาจในสมัยที่ 2 ได้ แต่อำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเสื่อมลงเรื่อยๆ และไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ในช่วงเวลานั้น ภาพลักษณ์ของประเทศไทย อยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการมาตลอด ช่วงเวลานั้นประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะกดดันจากชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะโลกตะวันตก จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังเสื่อมความนิยมต่อเวทีโลกด้วยการมาจากการรัฐประหารปี 2490 หรือ 1947 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเริ่มมีท่าทีที่จะเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้น โดยมีการจัดการเลือกตั้ง
อีกสาเหตุสำคัญที่รัฐบาลจอมพล ป. สั่นคลอน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการบริหารงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่อยู่ในอำนาจ มาอย่างยาวนานมาตั้งแต่ปี 2491 หรือ 1948 ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ประชาชนจึงคาดหวังว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศ
นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามาร่วมแข่งขันเป็นอย่างมาก จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2498 หรือ 1955 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ออกมาให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยตรง ผลที่ได้คือการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งถึง 23 พรรค โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เองก็ต้องการสืบทอดอำนาจอย่างชอบธรรมผ่านการเลือกตั้ง จึงมีการจัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้น เพื่อสนับสนุนอำนาจของตน และเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้
จอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา
ภาพ: สถาบันปรีดี พนมยงค์
นอกจากมีการซื้อเสียงอย่างกว้างขวาง ในทางภาครัฐก็มีการประสานร่วมมือกับ พรรคเสรีมนังคศิลาจนมีการโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีศัพท์เรียกการทุจริตบัตรเลือกตั้งว่า ไพ่ไฟ คือบัตรเลือกตั้งที่มีการพิมพ์และกาล่วงหน้าไว้แล้ว เข้ามาสอดแทรกลงในกล่องบัตรเลือกตั้งจำนวนมาก โดยอาศัยจังหวะที่ไม่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือจังหวะที่มีการปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว มีการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง
ส่วน พลร่ม คือรูปแบบการทุจริตการเลือกตั้ง โดยผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งมาใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง โดยการทุจริตการเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้ มักจะทำในหน่วยเลือกตั้งที่มีขนาดใหญ่ เป็นชุมชนเมืองที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมักไม่ค่อยรู้จักกัน หรืออาจกระทำโดยสถาบันหรือหน่วยงานขนาดใหญ่ มีคำสั่งให้คนในหน่วยงานของตนย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตเลือกตั้ง
‘ผ้าเช็ดหน้าหาเสียง’ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลัวกาผิดเบอร์ก็หยิบขึ้นมากางดูได้
ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม
ผลของการเลือกตั้งในครั้งนั้น แม้ว่าพรรคเสรีมนังคศิลาจะได้รับชัยชนะ แต่เนื่องจากปัญหาอื้อฉาวที่กำลังเป็นที่รับรู้และเป็นที่สนใจจากทุกภาคส่วน มีหมู่นิสิต นักศึกษาที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วยตัวเอง
เหตุการณ์ความวุ่นวายบานปลายจากการไม่รับผลการเลือกตั้ง เกิดขึ้นหลังจากนั้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุผลหนึ่งของการรัฐประหาร โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน 2500 หรือ 1957 ของปีเดียวกัน อันนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบภายใต้การนำของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสร้างการเมืองไทยแบบระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการที่ประชาธิปไตยกลายเป็นอัมพาต เป็นปัญหาให้การเมืองไทยหลายทศวรรษ
ในยุคปัจจุบันสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นที่จับตามองของมวลชนจำนวนมาก เนื่องจากกรรมการกลางมีที่มาภายใต้กลไกของระบอบ คสช. ขณะที่ระบบรักษาความปลอดภัยของการเลือกตั้งในสายตาประชาชนก็ดูหละหลวมเป็นอย่างยิ่ง
การเลือกตั้งล่วงหน้าจากต่างประเทศก็มีความล่าช้าและการประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการทุจริตการเลือกตั้งได้
โดยสรุปแล้ว หากเรามองย้อนอดีตมาปัจจุบัน สถานการณ์ในปัจจุบันก็ไม่ต่างอะไรกับสมัยจอมพล ป. มากนัก หากจะแตกต่างคือตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลมิใช่เพียงแต่การเลือกตั้ง เพราะสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. คือตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หวังว่าในส่วนของการเลือกตั้งในระดับชาติครั้งนี้จะไม่มี ‘หน่วยพลร่ม’ และ ‘ไพ่ไฟ’ จากผู้มีอำนาจ
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของประชาชน ที่จะคอยจับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้
ตู้เก็บบัตรเลือกตั้งที่มีประชาชนบางส่วนตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัย
ภาพ: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD
อ้างอิง:
- ลิขิต ธีรเวคิน.(2554).วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่10
- ทักษ์ เฉลิมเตียรณ.(2526).การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.(2544). ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500.มูลนิธิโครงการตำราหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- BBC. (2023). ประชาชนคาใจ กกต. เคลียร์อย่างไรกับสารพันปัญหาจัดเลือกตั้ง 2566. BBC News ไทย. Retrieved May 5, 2023, from https://www.bbc.com/thai/articles/cn0ex66yd64o