×

‘เอลนีโญ’ ท้าทายทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก แม้แต่ ‘Diageo’ ยักษ์ใหญ่แอลกอฮอล์ ยังกังวลวิกฤตน้ำขาดแคลนกระทบการกลั่นสุรา-เบียร์

12.06.2023
  • LOADING...
Diageo

Diageo บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กังวลภาวะเอลนีโญส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิตเสี่ยงขาดน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในการกลั่นสุรา-เบียร์ ตลาดจนห่วงโซ่ต้นน้ำ พืชที่นำมาผลิตที่ต้องพึ่งพาการชลประทานเพื่อการเพาะปลูก อาจไม่เพียงพอ ขณะที่งานวิจัยเตือนไม่ควรมองข้ามเอลนีโญ เพราะอาจสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลกมากถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากไม่ทำอะไรเลย

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ออกมาระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญปีนี้ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก และคาดว่าจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อภัยแล้ง แน่นอนว่าน้ำเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่ขาดไม่ได้ และในบางปีเอลนีโญฉุดการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาล

 

ไมเคิล อเล็กซานเดอร์ หัวหน้าด้านน้ำ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนด้านการเกษตรของ Diageo ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก เจ้าของแบรนด์ที่ผลิตแอลกอฮอล์ชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Johnnie Walker, Smirnoff, Guinness และ Gordon’s โดยมีโรงงานผลิต 43 แห่งทั่วโลก ออกมาระบุว่า ขณะนี้โลกกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับพายุ ความแห้งแล้งยาวนานผิดปกติ สภาพอากาศที่แปรปรวน สิ่งเหล่านี้กำลังบีบให้บริษัทต่างๆ ตั้งแต่ผู้ผลิตกางเกงยีนส์ Levi Strauss & Co. ไปจนถึง Whitbread กลุ่มโรงแรมและร้านอาหารรายใหญ่ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ครั้งใหญ่ในการบริหารน้ำให้น้อยลงให้มากที่สุด

 

เช่นเดียวกับ Diageo เอง จำเป็นต้องมีผู้ดูแลโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในตุรกี และวางแผนระยะยาวในการลดการใช้น้ำภายในระยะเวลา 7 ปี เนื่องจากการผลิตสุราต้องใช้น้ำมากกว่า 60% และการผลิตเบียร์ใช้น้ำมากกว่า 90% ขณะเดียวกันวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นส่วนผสม เช่น องุ่นและเมล็ดข้าว ก็จำเป็นต้องพึ่งพาการชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ทำให้การจัดหาน้ำมีความสำคัญอย่างมากในห่วงโซ่อุปทานของ Diageo ที่กังวลว่าจะไม่เพียงพอในอนาคต 

 

อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลอนดอนได้พยายามให้คำมั่นสัญญาว่าจะกักเก็บน้ำให้มากกว่าที่ใช้ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เป็นภูมิภาคที่มีการใช้น้ำมากเกินความต้องการในบางช่วงเวลา หรือมีข้อจำกัดด้านคุณภาพน้ำที่ต่ำ รวมทั้งเป็นพื้นที่แหล่งผลิต ตุรกีซึ่งผลิตรากิ โป๊ยกั๊ก และเม็กซิโกซึ่งผลิตเตกีลา (หรือสุรากลั่นท้องถิ่น)

 

ทั้งนี้ ตามการรายงานดัชนี ESG ระบุว่า Diageo ใช้น้ำประมาณ 1.7 หมื่นล้านลิตร (4.6 พันล้านแกลลอน) ในปีที่ผ่านมา โดยจากนี้จะมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ 40% ภายในปี 2030 หลังจากที่บริษัทได้รับแรงกดดันอย่างมากจนถึงขั้นปรับปรุงและลดการผลิตลง 30% เมื่อปี 2020 

 

“คุณสามารถอยู่กับโรงกลั่นหรือโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกได้ก็จริง แต่มันก็ยังไม่ช่วยลดความเสี่ยงของคุณหากเกิดภัยแล้ง และแม้ว่าเรามีกลยุทธ์ที่ดีอยู่แล้ว แต่เราก็รู้ด้วยว่าวิกฤตน้ำกำลังเป็นตัวเร่ง” อเล็กซานเดอร์ย้ำ

 

ทั้งนี้ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา Diageo เริ่มทำงานร่วมกับผู้ใช้น้ำนอกห่วงโซ่อุปทาน เช่น เกษตรกร บริษัทสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ และรัฐบาล โดยให้ความร่วมมือสนับสนุนกฎหมายเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำ 

 

รวมถึงวางแผนการลงทุนนอกประเทศอย่างตุรกี โดยมีโครงการ Sahyar ที่บริษัทเข้าไปสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านน้ำ เครื่องกลั่นที่นั่นสามารถเติมน้ำได้มากกว่าที่ใช้ในบางพื้นที่ และส่งเสริมการให้น้ำแบบหยดที่ปกป้องดินและเพิ่มผลผลิตด้วยระบบที่จะให้น้ำครั้งละหยด โดยส่งไปยังรากของพืช ซึ่งจะช่วยลดการระเหย จนถึงตอนนี้ ความคิดริเริ่มนี้ในภาคตะวันตกของตุรกีช่วยประหยัดน้ำได้ประมาณ 93,000 ลูกบาศก์เมตรตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะประหยัดได้ 177,000 ลูกบาศก์เมตรก่อนสิ้นปี 2026 อีกด้วย

 

อีก 5 ปี ปัญหาขาดแคลนน้ำจะกระเทือนมูลค่าเศรษฐกิจโลกถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ 

สำนักข่าว BBC รายงานการศึกษาผลกระทบเอลนีโญโดยนักวิจัยจาก Dartmouth College, Hanover และ New Hampshire คาดการณ์ว่าเอลนีโญที่เริ่มในปีนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายมากถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือราว 2.7 ล้านล้านปอนด์) ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมองข้าม ซึ่งหากย้อนไปก่อนหน้านี้ ภัยแล้งกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการผลิตโดยเฉพาะภาคเกษตร และส่งผลกระทบต่อ GDP ของแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

สำหรับประเทศไทย ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ออกมาเตือนว่า ปีนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องจับตาความเสี่ยงจากภัยแล้งอันเป็นผลมาจากภาวะเอลนีโญ ซึ่งอาจซ้ำเติมภาคการผลิต อัตราเงินเฟ้อ และการส่งออก โดย กกร. ประเมินว่า หากไม่มีการเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำจะส่งผลต่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เป็นครัวของโลก จะมีผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจถึง 3.6 หมื่นล้านบาท

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising