×

ธรรมชาติลงโทษ ‘เอลนีโญ’ ธีมใหญ่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและไทย ผลกระทบไปไกลถึงไหนบ้าง?

23.06.2023
  • LOADING...

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก’ สุภาษิตสำนวนไทยนี้คงเป็นตัวสรุปได้อย่างดีกับสถานการณ์ความท้าทาย ณ ปัจจุบัน ในขณะที่โลกกำลังหาทางฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาเอลนีโญรอบใหม่ก็กลับมาอีกครั้งในรอบ 4 ปี ตามประกาศอย่างเป็นทางการของสหรัฐอเมริกา

 

แม้ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศระหว่างเอลนีโญ-ลานีญา จะเคยเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนตามวัฏจักรของมัน แต่ครั้งนี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) แสดงความกังวลเป็นอย่างมากว่า เอลนีโญที่กลับมาในปี 2023 กำลังจะนำมาสู่มูลค่าความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากทำให้อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น 

 

ปัญหาโลกร้อนและเอลนีโญจะส่งผลกระทบกับค่าครองชีพทั่วโลก

 

โดยทั่วไป เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่นำมาซึ่งความแห้งแล้งและความร้อนให้กับพื้นที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ในขณะที่แนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้มีฝนตกหนัก สำนักข่าว Bloomberg มีการเก็บข้อมูลในอดีตและพบว่า เอลนีโญที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ ส่งผลลบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และอีกหลายประเทศที่อยู่ในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้

 

ภาวะโลกร้อนรวมกับความแห้งแล้งของเอลนีโญ จะทำให้อุณหภูมิที่สูงผิดปกติในหลายพื้นที่ทั่วโลก ก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจากการขาดแคลนพลังงานที่มีความถี่มากขึ้น และผลผลิตทางการเกษตรที่มักจะผลิตได้น้อยกว่าความต้องการ ซึ่งจะส่งผลกับสภาพความเป็นอยู่ของเราแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร หรือแนวทางการรับมือกับอากาศที่จะร้อนขึ้นอีกในอนาคต

 

Bhargavi Sakthivel นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักข่าว Bloomberg ในอังกฤษให้ความเห็นว่า เอลนีโญครั้งนี้มาได้ผิดที่ผิดเวลามาก เพราะมันจะยิ่งมาซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ในช่วงที่ผ่านมานโยบายการแทรกแซงเศรษฐกิจจากภาครัฐมักจะพยายามกำหนดทิศทางของความต้องการบริโภคหรืออุปสงค์ แต่เมื่อเอลนีโญมาถึงมันจะเป็นตัวกำหนดปริมาณสินค้าและบริการที่มีในตลาดหรืออุปทาน ซึ่งหมายความว่า ‘นโยบายธนาคารกลางต่างๆ อาจไม่สามารถช่วยบรรเทาอะไรได้มากนัก

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

 

ประเทศอย่างชิลีที่เป็นแหล่งผลิตทองแดงรายใหญ่ของโลกกว่า 30% อาจได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ที่จะทำให้ปริมาณฝนในบริเวณนั้นเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งผลิต ซึ่งจะส่งผลกับราคาสินค้าที่ต้องพึ่งพาทองแดง เช่น รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ให้ปรับตัวสูงขึ้นได้

 

หรือในประเทศจีนที่อากาศร้อนจัดได้คร่าชีวิตปศุสัตว์ (Livestocks) ไปจำนวนหนึ่ง และยังกดทับกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย ความแห้งแล้งปี 2022 ทำให้หลายโรงงานผลิตสินค้าโดนตัดพลังงานไปกว่าสองสัปดาห์ ส่งผลให้สายการผลิตชิ้นส่วนของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Tesla ถูกกระทบไปด้วย เหตุผลของการระงับการจ่ายพลังงานนั้นเป็นไปเพื่อไม่ให้โรงผลิตไฟฟ้าทำงานหนักมากเกินควร และในปีนี้ทางการจีนก็คาดว่าการขาดแคลนพลังงานน่าจะเกิดซ้ำอีก

 

แม้กระทั่งกาแฟก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตเมล็ดกาแฟหลักอย่าง บราซิล และเวียดนามก็ถูกพิษเอลนีโญเล่นงานให้การผลิตทำออกมาได้ต่ำกว่าเป้า ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าพุ่งทะยานไปสู่ระดับราคา 2,790 ดอลลาร์ต่อตัน สูงสุดในรอบ 15 ปี หรือราคาโกโก้ที่อยู่ในระดับสูงสุดรอบ 7 ปีที่ประมาณ 3,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

 


ข่าวเกี่ยวข้อง: 


 

ความแห้งแล้งกับผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทย

 

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ ในสหรัฐฯ ทำการประเมินว่าเอลนีโญที่เกิดในปี 1997-1998 ทำให้ GDP ในอีก 5 ปีให้หลังสูญเสียมูลค่าไปกว่า 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภายในสิ้นศตวรรษนี้ (ภายในปี 2100) พวกเขาประเมินว่าวิกฤตทางสภาพอากาศนี้จะสร้างความเสียหายให้กับ GDP ได้ถึง 84 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบเท่า GDP ของปี 2020 ทั้งปี

 

สำนักข่าว Bloomberg ยังทำการคาดการณ์ผ่านโมเดลเศรษฐกิจของพวกเขาถึงผลกระทบจากเอลนีโญต่อ GDP และอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ แล้วพบว่าประเทศไทยอาจเห็น GDP ตัวเองหดตัวไป -0.2% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 0.7% เพราะเอลนีโญครั้งนี้

 

หนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทยอย่างข้าวก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า “ผมคิดว่าปริมาณข้าวที่ผลิตได้จะลดลงอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ถึงกับขาดแคลน ฉะนั้นผมคิดว่าปีนี้จะเป็นปีที่ผู้ขายมีอำนาจต่อรองทางการค้าที่มากขึ้น” เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าข้าวที่ผลิตได้ทั่วโลกจะมีปริมาณลดลงจากปีก่อนถึง 5% ทำให้หลายประเทศเร่งกักตุนข้าวเพิ่มขึ้น 

 

อีกทั้งข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เผยว่า การส่งออกข้าวของไทยเพิ่มขึ้น 18% ทั้งนี้ ประเทศอย่างเวียดนามก็มีสัดส่วนการส่งออกไปสู่จีนและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 70% และเกือบ 2,500% ตามลำดับ 

 

อย่างไรก็ตาม การมาของเอลนีโญที่มีแนวโน้มสูงให้ฝนตกได้น้อยลงในหลายพื้นที่ รวมถึงประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักของโลกอย่าง อินเดีย ไทย และเวียดนาม ที่ผลผลิตนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 โดยพวกเขาส่งออกข้าวมากกว่าอันดับ 2 อย่างไทยถึง 2.6 เท่า (ข้อมูลสถิติจาก Statista) ที่เริ่มแสดงให้เห็นสัญญาณชะลอการส่งออกจากความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารจากภาพด้านล่างที่ยอดการส่งออกข้าวทั่วโลกลดลง

 

ยอดการส่งออกข้าวทั่วโลก (เส้นสีดำ) ยอดการส่งออกข้าวของอินเดีย (แท่งสีเหลือง) ที่ลดลงจากความกังวลจาก ‘เอลนีโญ’

 

ซึ่งหากอุปทานข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของโลก ปัญหาก็จะไปผุดอยู่ในราคาข้าวที่แพงขึ้นประมาณ 15-20% ในปีหน้าจากการคาดการณ์ของ Sam Mohanty นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ระบุว่า ถึงแม้ในระยะสั้นไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่คำถามสำคัญคือ เอลนีโญครั้งนี้จะรุนแรงแค่ไหน? เพราะนั่นหมายถึงอนาคตการส่งออกข้าวและปากท้องของคนไทยเราด้วย 

 

SCB EIC ประเมินความเสียหายในภาคการเกษตรจากภาวะฝนแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ว่า จะมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณน้ำที่คาดว่าจะกักเก็บได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรอย่างข้าวนาปรังปี 2024 ที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนของปีนี้มีแนวโน้มลดลง

 

ปัญหาเรื่องการบริหารน้ำก็สอดคล้องกับมุมมองของ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับ Bangkok Post ว่า การขาดแคลนน้ำจะกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรไทยทั้งในด้านของปริมาณที่ผลิตได้และต้นทุน รวมไปถึงสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ที่จะเจอต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าอาหารเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากผลิตผลทางการเกษตรสูง ทั้งนี้ ผลกระทบของเอลนีโญยังส่งผลต่อภาคการบริการน้ำประปาที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วย 

 

ทรัพยากรน้ำ หนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อชะตากรรมเศรษฐกิจไทย

 

จากความกังวลเรื่องน้ำขาดแคลนนี้ Bangkok Post รายงานว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบไปด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ยื่นเสนอจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม เพื่อเร่งหาแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและยาว

 

ทาง กกร. เสนอให้ภาครัฐมีการวางแผนเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอเพื่อการผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญของไทย เช่น ข้าว น้ำตาล น้ำมันปาล์ม สับปะรด และข้าวโพด เป็นต้น การขาดแคลนน้ำจะทำให้ไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่มาก หากเป็นเช่นนั้นสินค้าอาจมีราคาสูงขึ้นประมาณ 5-10% โดยเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันในภาคการส่งออกกับประเทศคู่แข่ง ส่วนในระยะยาว กกร. ยังชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับจากการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน

 

ในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่กำลังหาทางรับมือกับเอลนีโญ มีการหารือกันถึงประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำ การพัฒนาวิธีบริหารแหล่งที่มาและแหล่งเก็บน้ำ รวมไปถึงแผนการจัดการน้ำแบบองค์รวม เพื่อให้มั่นใจว่าไทยจะมีทรัพยากรที่จำเป็นให้ใช้เพียงพอและพร้อมรับมือกับเอลนีโญที่มาถึงแล้ว และมันกำลังค่อยๆ นำความแห้งแล้งมาสู่หลายๆ ประเทศรวมถึงไทยเราเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising