ผมพยายามคิดย้อนกลับไปมองหาเหตุและผลในการตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมทีมชาติไทยในศึกฟุตบอลเอเชียนคัพของ เอกนิษฐ์ ปัญญา ที่กลายเป็นประเด็นร้อนของวงการฟุตบอลไทยเมื่อคืนนี้
ถ้าเราเป็นเขา เราจะทำอย่างไร และอะไรที่ทำให้เราตัดสินใจแบบนี้
ยึดตามข้อความจากแถลงการณ์โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เหตุผลที่เจ้าตัวให้ไว้คือ “เพื่อเตรียมตัวสำหรับช่วงพรีซีซันกับสโมสรฟุตบอลอุราวะ เรด ไดมอนด์ส”
ปฏิเสธไม่ออกว่าเหตุผลนี้น้ำหนักมัน ‘น้อย’ เกินกว่าที่แฟนฟุตบอลจะเข้าใจ เพราะสิ่งที่เอกนิษฐ์ยอมทิ้งคือโอกาสในการเข้าร่วมแข่งกับทีมชาติไทยในศึกฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดของเอเชีย
รายการที่แม้แต่นักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง ซนฮึงมิน หรือ วาตารุ เอนโดะ ยังขอพักการทำหน้าที่กับสโมสรที่เป็นทีมระดับท็อปของพรีเมียร์ลีก เพื่อมาร่วมชิงชัยความเป็นหนึ่งในวงการฟุตบอลของทวีป
อย่างไรก็ดี บริบท เหตุผล และความจำเป็นของแต่ละคนมันแตกต่างกัน กรณีของบุ๊ค นักเตะอายุน้อยแค่ 23 ปี เป็นการตัดสินใจที่เลือกได้ยาก
ระหว่างเกียรติยศกับความฝัน
หรืออาจจะมีเหตุผลอะไรที่สำคัญกว่านั้นซ่อนอยู่
สิ่งที่ทำให้แฟนฟุตบอลโมโหโกรธามากที่สุดในเรื่องนี้คือ การที่นักฟุตบอลปฏิเสธโอกาสในการลงเล่นให้ทีมชาติในรายการสำคัญ
นอกจากจะดูเป็นการไม่ให้เกียรติกับการลงสนามในนามทีมชาติ ไม่เห็นความสำคัญของธงไตรรงค์แล้ว ก็ยังเป็นการทำร้ายความรู้สึกของแฟนฟุตบอลที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะติดตามและให้กำลังใจเชียร์ทีมชาติไทย ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคมืด
เหมือนทุกอย่างก็แย่อยู่แล้ว เสาหลักที่พึ่งพาได้อย่าง ธีรศิลป์ แดงดา กับ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถเดินทางไปช่วยทีมได้ ขณะที่การตระเตรียมความพร้อมของทีมก็น่าส่ายหัว เมื่อทีมชาติอื่นเดินทางไปถึงประเทศกาตาร์เพื่อเก็บตัว แต่ทีมชาติไทยเพิ่งมีการเรียกรวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
การถอนตัวของเอกนิษฐ์จึงเหมือนเป็นการปลดชนวนระเบิดทางความรู้สึกของแฟนบอลออกมา เพราะท่ามกลางสิ่งต่างๆ มากมายบนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่แย่ไปกว่าการ ‘ทิ้งกันยามยาก’
จะโกรธก็ไม่แปลก
แต่ในอีกมุมหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจคือ เหตุผลของเอกนิษฐ์ที่เลือกการซ้อมพรีซีซันกับอุราวะ เรด ก็ไม่ใช่ถึงกับเข้าใจไม่ได้
อย่างแรกคือ ตัวของเขาเองอยู่ในภาวะที่ต้อง ‘พิสูจน์ตัวเอง’ กับทางสโมสร เพราะสัญญาที่มีก็เป็นแค่สัญญาการยืมตัว
อย่างต่อมาที่มีความสำคัญมากคือ การที่อุราวะเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโค้ชคนใหม่เป็น มาร์เซ สกอร์ซา ซึ่งนั่นหมายถึงเอกนิษฐ์ต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมดจาก 0 (หรือเกือบ 0 เพราะอย่างน้อยก็มีข้อมูลจากฤดูกาลที่แล้ว) ในการจะหาทางเอาชนะใจโค้ชให้ได้
อย่างที่สามคือ ช่วงเวลาการพรีซีซันสำคัญอย่างมากสำหรับนักฟุตบอลอาชีพ โดยเฉพาะในลีกที่มีความเป็นมืออาชีพระดับสูงอย่างญี่ปุ่น การเตรียมทีมในช่วงเวลานี้คือสิ่งที่จะกำหนดทิศทางได้เลย ไม่ใช่เฉพาะแค่กับทีม แต่รวมถึงนักฟุตบอลด้วย
นักเตะที่ได้ซ้อมครบเต็มที่ย่อมอยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมกว่า ซึ่งในฤดูกาลที่แล้วตัวของบุ๊คเองก็ย้ายมากลางทาง ไม่ได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่
ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่ข้อสรุปย่อมๆ ได้ว่า หากเอกนิษฐ์เลือกทีมชาติไทยก่อน นั่นหมายถึงการที่เขาจะเสียเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ในช่วงพรีซีซันไปที่จะไม่ได้อยู่ ‘ในหูในตา’ ของโค้ชใหม่อย่างสกอร์ซา ซึ่งนั่นอาจหมายถึงเขาจะเสีย ‘โอกาส’ กับอุราวะไป
ถึงแม้มันอาจไม่ได้แปลว่าการเลือกไปพรีซีซันจะหมายถึงการที่เขาได้โอกาสที่แน่นอนในการเซ็นสัญญาย้ายทีมอย่างถาวร แต่อย่างน้อยก็เป็นการพยายามรักษาโอกาสที่มีน้อยนิดที่เหลืออยู่
นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเลือกความฝันมาก่อนเกียรติยศ
ขอลองก่อน ขอลุยก่อน ได้หรือไม่ได้ให้เป็นเรื่องของความพยายามและโชคชะตา
ถ้ามองแบบนี้ โดยส่วนตัวผมว่ามันก็พอเข้าใจได้ในการตัดสินใจ เพียงแต่ผลของการกระทำ ราคาที่ต้องจ่าย และอะไรจะเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันในวันข้างหน้า
จะชั่วหรือดีเอกนิษฐ์ก็ต้องทำใจและยอมรับให้ได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี มันมีสิ่งที่ชวนให้ขบคิดไปอีกนิดสำหรับเรื่องนี้
พูดแบบอ้อมๆ ก่อน ในภาพใหญ่แล้วเรื่อง ‘สโมสร vs. ทีมชาติ’ ของไทยเริ่มน่าเป็นห่วงมากขึ้น ความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของการเล่นทีมชาติถูกทำให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ถูกทำให้ดูอ่อนแออย่างมากในเรื่องของการต่อรองดึงตัวนักเตะมาเล่นทีมชาติ ซึ่งไม่ใช่กรณีของเอกนิษฐ์เท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นปัญหาของการเรียกตัวติดทีมชาติสม่ำเสมอ
ส่วนหนึ่งคือการทำงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริง ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ถูกต้องหรือเข้าท่าสักอย่าง
อีกส่วนคือเรื่องของ ‘อำนาจ’ ของสโมสรฟุตบอลที่เหนือกว่า เพราะไม่ว่าจะชอบหรือชัง สโมสรทั้งหลายก็คือฝ่ายที่แบกรับวงการฟุตบอลไทยอยู่ในเวลานี้
เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้น หากวงการฟุตบอลไทยอยากจะพัฒนาไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนเราต้องจัดระเบียบกันใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การวางก้อนอิฐก้อนแรก ค่อยๆ ช่วยกันประกอบร่างวงการฟุตบอลไทยขึ้นมาใหม่ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องกลับมาเจอกับเรื่องราว ‘อีหยังวะ’ แบบนี้อีก
ความยากคือ มองไม่ออกว่าจะมีใครคิดหรือยอมที่จะทำแบบนั้นไหม
ทีนี้มาถึงจุดที่เชื่อว่าแฟนบอลไทยจำนวนไม่น้อยที่ติดตามเรื่องนี้น่าจะได้อ่านเบื้องลึกเบื้องหลัง ซึ่งมีผู้รู้ในวงการฟุตบอลไทยออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการตัดสินใจอันอื้อฉาวของเอกนิษฐ์
ในรายละเอียดแล้วมีจุดที่ชวนสงสัยกันคือ ‘พฤติกรรม’ ที่ดูแปลกของเจ้าตัว ที่จากดูคึกคักดีในการเข้าร่วมทีมชาติไทย แต่เมื่อถึงคืนก่อนจะรายงานและเก็บตัวเข้าแคมป์กลับหายตัวไปอย่างเป็นปริศนา
ตามที่มีการเปิดเผยกันคือ ผู้ประสานงานทีมชาติได้พยายามติดต่อแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อเจ้าตัวได้เป็นเวลานาน ก่อนที่จะยอมรับสายโทรศัพท์
เพียงแต่คนที่รับสายก็ไม่ใช่เจ้าตัวและไม่ใช่แม้แต่เอเจนต์ แต่ยืนยันการตัดสินใจที่จะไม่รายงานตัวกับทีมชาติพร้อมให้เหตุผลที่ต่อมาทางสมาคมฟุตบอลฯ จำเป็นจะต้องชี้แจงกับสาธารณชนตามที่ได้รับการแจ้งมา
สิ่งที่หลายคนอยากรู้และผมเองก็อยากรู้เหมือนกันคือ ‘ใคร’ ที่รับสายโทรศัพท์แทนและตัดสินใจอนาคตแทนคนอื่นได้
เพียงแต่จากข้อมูลเล็กๆ ที่ได้จากมิตรสหายท่านหนึ่งที่บอกใบ้คือ การตั้งคำถามกลับมาว่า “ใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้”
ใครที่เอกนิษฐ์เกรงใจและยังไม่กล้าที่จะปริปากอะไรออกมาแม้แต่คำง่ายๆ คำเดียวที่อาจสยบกระแสความโกรธาของมหาชนแฟนบอลชาวสยามลงได้บ้างอย่างคำว่า “ผมขอโทษ” หรือ “ผมเสียใจ”
มันชวนให้คิดย้อนกลับมาว่า สำหรับชีวิตลูกผู้ชายสักคน บางครั้งมันอาจมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเกียรติยศหรือความฝัน
สิ่งสำคัญที่ยอมถึงขั้นที่จะให้ตัวเองกลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ในสายตาคนทั้งประเทศ และเดิมพันอนาคตในการเป็นนักฟุตบอลของตัวเอง
ซับซ้อนยิ่งนักชีวิต
ปล. ปญฺญาว ธเนน เสยฺโย แปลว่า ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์