×

ถอดวิธีสเกลอัพธุรกิจให้เหนือกว่าคู่แข่งในโลกดิจิทัล ยกระดับธุรกิจส่งออกด้วยเทคโนโลยีของ ‘เอกา โกลบอล’ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2022
  • LOADING...
เอกา โกลบอล5

ประตูบานใหม่ที่ธุรกิจส่งออกไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทไหนอยากเปิดเข้าไปคงหนีไม่พ้นประตูที่จะพาไปสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมสร้างการเติบโตให้กับองค์กรอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

 

ทั้งความรู้และเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตหรือจัดการระบบภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมีให้เลือกใช้มากมาย กลายเป็นข้อสงสัยของคนทำธุรกิจว่าจะเริ่มต้นจากอะไร เลือกเครื่องมือไหน และควรให้ความสำคัญกับสิ่งใดก่อน ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด จะถอดบทเรียนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็น Longevity Packaging ในฐานะธุรกิจรายแรกๆ ของเมืองไทยที่สามารถผลิต Product Innovation ออกสู่ตลาด จนวันนี้สามารถส่งออกไปไกลหลายประเทศ ด้วยยอดการผลิต 2,000 ล้านชิ้นต่อปี และติดอันดับ Top 5 ของโลก

 

 

ใครจะเชื่อว่า 5 ปีแรกของธุรกิจแทบไม่มียอดขายเลย ในปี 2003 บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด ถือเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตพลาสติกแพ็กเกจจิ้งสำหรับวงการอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็น Longevity Packaging หรือแพ็กเกจจิ้งที่สามารถยืดอายุการจัดเก็บอาหารได้นานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาผลิตในรูปแบบพลาสติก น้ำหนักเบา สะดวกใช้ รูปลักษณ์สวย และมีอายุการจัดเก็บยาวนาน สามารถเข้าไมโครเวฟได้ เพื่อมาทดแทนบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องและขวดแก้วที่ถูกใช้ในรูปแบบเดิมมาเป็นร้อยปี

 

ปัจจุบันเอกา โกลบอล มีฐานการผลิตในหลายประเทศ นอกจากประเทศไทยแล้วยังมีโรงงานอยู่ที่ประเทศจีน 2 แห่ง และปีหน้าจะมีโรงงานที่อินเดีย มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านชิ้นต่อปี ถือว่าเป็นผู้ผลิตรายต้นๆ ของโลกที่ทำ Longevity Packaging ในลักษณะแบบนี้

 

“เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องต้องเคลือบแล็กเกอร์ อาจมีปัญหาเรื่องของความปลอดภัยทางอาหาร  (Food Safety) เมื่อเจ้าของแบรนด์ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์สินค้าหรือต้องการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ก็ต้องหาแพ็กเกจจิ้งที่สวยกว่าเดิมและเบากว่ากระป๋องและขวดแก้ว Longevity Packaging จึงเข้ามาตอบโจทย์” 

 

 

ชัยวัฒน์บอกว่า ข้อดีของการเป็นเจ้าแรกในธุรกิจคือยังไม่มีคู่แข่ง “แต่ความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่จึงต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจกับตลาด ผู้บริโภค และเจ้าของแบรนด์ การจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกค้าเพื่อให้ได้รับการยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ด้วย อย่างที่บอกว่า Longevity Packaging ยืดอายุการจัดเก็บได้ 2 ปี โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น ดังนั้นการที่เจ้าของแบรนด์จะตัดสินใจเปลี่ยน เขาก็ต้องทดสอบอย่างเข้มงวดว่ากระทบต่อสินค้าที่บรรจุอยู่ข้างในหรือเปล่า”

 

โอกาสเป็นของคนที่มองเห็น

หากถามว่าอะไรคือเหตุผลที่กล้าลงทุนในเทคโนโลยี ชัยวัฒน์บอกว่า เขาเห็นนวัตกรรมและเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของแพ็กเกจจิ้งโลก โดยเฉพาะในวงการอาหารและเครื่องดื่ม มานาน 

 

“ผมเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ก็จะเห็นนวัตกรรมแบบนี้มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เวลาไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นจะเห็นข้าวพร้อมรับประทานที่คนญี่ปุ่นฮิตมากๆ ในรูปแบบของพลาสติกแพ็กเกจจิ้ง สามารถอุ่นในไมโครเวฟแล้วรับประทานได้เลย เก็บได้นาน 1 ปี หรือที่อเมริกา พวกผลไม้กระป๋องเขาเปลี่ยนจากใส่กระป๋องมาใส่ถ้วยพลาสติกกันตั้งนานแล้ว พอเห็นก็ยิ่งมั่นใจว่านวัตกรรมนี้อย่างไรก็มา แต่อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนา” 

 

อย่างที่บอก เอกา โกลบอล ใช้เวลาในตอนเริ่มแรกด้วยการพัฒนา ทดลอง ล้มเหลว และเริ่มใหม่ ตลอด 5 ปีที่ไม่มีรายได้ กว่าจะกลายมาเป็นแพ็กเกจจิ้งที่ได้รับการยอมรับอย่างทุกวันนี้ไม่ง่าย

 

ปี 2019 เอกา โกลบอล เทกโอเวอร์บริษัท Printpack ที่อเมริกา จนมีไซซ์การผลิตเยอะขึ้น กลายเป็นผู้เล่นรายต้นๆ ของโลก จึงต้องปรับกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยมากขึ้น จากที่เคยผลิตสินค้า 500 ล้านใบต่อปี ตอนนี้ขยับมาเป็น 2,500 ล้านใบต่อปี

 

“เราจึงต้องลงทุนกับเทคโนโลยี นำเครื่องจักรที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตถ้วย ตรวจสอบคุณภาพ แล้วแพ็กลงกล่อง เพื่อผลิตให้ทันตามเวลาที่กำหนด และอาจช่วยให้ต้นทุนโดยรวมลดลง แม้ว่าการลงทุนเครื่องจักรชิ้นใหญ่นั้นมีมูลค่าสูง แต่ถ้าเรามีคำสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ บางทีอาจคืนทุนได้ภายใน 5-10 ปี แต่กับค่าแรงมันไม่มีทางลด มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

 

ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างการผลิต 500 ล้านชิ้น โดยใช้แรงงานการผลิตประมาณ 10% ของต้นทุนทั้งหมด หากจะผลิตเพิ่มเป็น 2,500 ล้านชิ้น ก็ต้องจ้างแรงงานมากขึ้นทั้งไลน์การผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ อาจส่งผลกระทบให้ความสามารถในการแข่งขันของเราลดลง อีกทั้งกำไรก็อาจลดลงไปด้วย

 

“คนที่ทำอุตสาหกรรมการผลิตต้องเข้าใจว่าต้นทุนค่าแรงจะสูงขึ้นแน่นอน ไม่มีทางลด ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องคอยสังเกตสเกลของตัวเองว่าพอทำไปถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนมันจะเริ่มผันแปรไปตามไซซ์การผลิต การตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาใช้จึงอาจเป็นคำตอบที่ดี” 

 

 

หลักคิด ‘เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้พลาดน้อยที่สุด’

สิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกคือความคิดเห็นของคนในองค์กร “บางทีไอเดียในการพัฒนาก็มาจากผู้ผลิตหรือพนักงานของเราที่เขาทำงานอยู่ทุกวัน จึงควรให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการผลิต จัดซื้อ หรือไอที เช่น เรื่องการผลิต ฝ่ายจัดซื้ออาจเป็นคนคิดวิธีตรวจสอบสินค้าก็ได้ เพราะการพัฒนานวัตกรรมไม่ควรจำกัดอยู่แค่แผนกใดแผนกหนึ่ง หรือความคิดใดความคิดหนึ่ง”

 

ซึ่งโดยปกติแล้วการทำนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นแค่การทดลองสร้างโมเดลใหม่ แล้วมีซัพพลายเออร์มาดูแลให้ ถ้าทดลองแล้วโอเค ค่อยวางแผนสเกลอัพให้ใหญ่ขึ้นภายหลัง

 

“สมมติมี 10 ไลน์การผลิต ก็ทำแค่ 1 ไลน์การผลิตก่อน ถ้าสำเร็จค่อยขยายต่อไปเรื่อยๆ ทำแบบนี้โอกาสพลาดจะมีน้อย หรือถ้าพลาดก็พลาดในสเกลเล็กๆ” ชัยวัฒน์กล่าว 


เคสตัวอย่างการพัฒนานวัตกรรมของเอกา โกลบอล ตลอด 20 ปี

ชัยวัฒน์ยกเคสที่ประสบความสำเร็จ เช่น เทคโนโลยีเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ จากเดิมที่ใช้แรงงานคนตรวจใบต่อใบ แต่พอสเกลใหญ่ขึ้นก็ต้องนำนวัตกรรมกล้องมาใช้ตรวจคุณภาพสินค้า พบว่าได้ผลตอบรับดี ข้อบกพร่องน้อย ใช้แรงงานน้อยลง

 

“การตรวจสอบคุณภาพสินค้าในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ หากขาดแรงงานตรวจสอบ คุณภาพสินค้าก็ลด พอนำเทคโนโลยีมาใช้ก็แก้ปัญหาจุดนี้ได้”

 

เคสที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี ชัยวัฒน์บอกว่า เคยทดลองผลิต Longevity Packaging ที่มีจำนวนชั้นหนาถึง 30 ชั้น

 

“เราลองเทสต์สเกลเล็กๆ พอใช้ได้ แต่พอทำสเกลใหญ่เห็นเลยว่าควบคุมคุณภาพยาก หรือถ้าได้คุณภาพ กำลังการผลิตอาจช้าลง เช่น จากเดิมผลิตได้ 2,500 ล้านชิ้นต่อปี ถ้าใช้เทคโนโลยีนี้อาจเหลือแค่ 1,000 ล้านชิ้นต่อปี เพราะเร่งการผลิตไม่ได้ คุณภาพจะเสีย สุดท้ายก็ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน” 


จัดลำดับความสำคัญอย่างไร หากต้องการปรับทัพธุรกิจเพื่อแข่งขันตลาดโลก

3 สิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ

 

  • คุณภาพสินค้าต้องเหนือกว่าคู่แข่งต่างประเทศ หากคุณภาพสินค้าไม่สม่ำเสมอ การเติบโตระยะยาวเป็นไปได้ยาก หากต้องลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้นหรือมีมาตรฐาน ควรเลือกลงทุนที่จุดนี้ก่อนจะดูเรื่องการลดต้นทุน 
  • มีความยืดหยุ่นมากกว่า ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่สเกลไม่ใหญ่มาก ต้องหาจำนวนลูกค้าทั้งรายย่อยและรายใหญ่ 
  • มอบเซอร์วิสที่ดีกว่า ชื่อเสียงด้านบริการจะเป็นอีกเครื่องมือที่ทำให้สามารถก้าวสู่มาตรฐานระดับโลกได้

 

“การทำธุรกิจเราไม่สามารถดูอัตราการทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่การจะทำให้องค์กรเติบโตในระยะยาว คุณภาพสินค้าต้องดีก่อน จึงจะสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้”

  

สำหรับเอกา โกลบอล ในวันที่ปรับทิศทางธุรกิจเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลก ชัยวัฒน์เล่าว่า ต้องปรับตัวไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร “การเป็นผู้เล่นระดับประเทศกับระดับโลกต่างกันเยอะ ไม่ว่าจะเรื่องตลาดในต่างประเทศหรือความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน พอเป็นโกลบอล เรามีโรงงานต่างประเทศ ก็ต้องใช้แรงงานในประเทศนั้นๆ เพราะเขารู้ตลาดดีกว่า วัฒนธรรมองค์กรก็ต้องเปลี่ยน การยอมรับความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมมีมากขึ้น สิ่งชี้วัดสำคัญว่าจะสำเร็จระดับโลกได้หรือไม่คือ ต้องยอมรับการเปลี่ยนของวัฒนธรรมองค์กรแต่ละประเทศให้ได้”   

 

 

เช็ก! ธุรกิจเราพร้อมจะก้าวสู่ตลาดโลกหรือยัง?

ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจเราพร้อมก้าวสู่ตลาดโลกหรือยัง ชัยวัฒน์บอกว่า เรื่อง ‘แบรนดิ้ง’ ก็สำคัญ เพราะถ้าเป้าหมายขององค์กรคือการเติบโตระดับโกลบอล เราก็ควรต้องขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับเขาให้ได้ เพราะบางธุรกิจที่ต้องการคู่ค้าระดับโกลบอล ก็จะมองหาคู่ค้าที่เป็นระดับโกลบอลเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าธุรกิจของคุณยังเป็นระดับภูมิภาค ถึงแม้จะมีประวัติที่ดี ลูกค้าก็อาจยังไม่มั่นใจเต็มร้อยว่าเราจะสามารถตอบสนองความต้องการในสเกลระดับโลกได้ 

 

“ถ้าเรามีโอกาสเป็นโกลบอลได้ก็ควรจะทำ ถ้าเห็นโอกาสว่าไปได้ก็ควรจะไป เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ระดับโลกได้มากขึ้น” 

 

ข้อควรระวังในการลงทุนเทคโนโลยี

ได้หลักคิดและจัดลำดับความสำคัญในการก้าวสู่ระดับโลกแล้ว จุดเล็กๆ ที่มองข้ามไม่ได้หากต้องลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสเกลอัพธุรกิจคือ ต้องให้ความสำคัญกับการเทรนนิงและเซอร์วิสจากซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตเทคโนโลยี บริการหลังการขายเป็นอย่างไร มีการมาช่วยเทรนพนักงานให้ด้วยหรือไม่ เพราะระบบออโตเมชันเป็นการใช้งานระยะยาว ฉะนั้นการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต้องมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดี และอย่างน้อยที่สุดพนักงานของเราก็ต้องมีความสามารถในการดูแลระบบเบื้องต้น

 

คำแนะนำทิ้งท้ายสำหรับ SMEs ที่กำลังให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

อย่าลืมดูขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองว่ายังขาดอะไร ต้องเพิ่มส่วนไหน จุดไหนต้องปรับปรุงและพัฒนาการผลิตหรือคุณภาพสินค้า ถึงจะรู้ว่าต้องใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาเสริม ตั้งงบประมาณไว้แล้วพิจารณาว่าเหมาะสมกับแผนธุรกิจหรือไม่ ถ้าพอจ่ายได้ก็ทำ หรือจะลองติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอความช่วยเหลือด้านเงินลงทุนก็ได้

 

“สำคัญที่สุดคือต้องดูมายด์เซ็ตตัวเองเป็นที่ตั้งก่อนว่าเราอยากจะพัฒนาจุดไหน หากเป็นเรื่องคุณภาพสินค้า ต่อให้ลงทุน 10-15% ของยอดขาย ก็จำเป็นต้องทำ เพราะจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว” ชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X