×

EIC ชี้ ภาคครัวเรือนไทยเสี่ยงเผชิญภาวะ Debt Overhang หลังหนี้ครัวเรือนพุ่งแตะระดับ 90.5% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

09.07.2021
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจาก 2 ผู้ให้กู้หลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI) ที่เติบโตที่ 4.9% และ 5.5% ตามลำดับ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตจาก SFI ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนจากสหกรณ์ออมทรัพย์หรือบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล มีการเติบโตแบบชะลอตัวลง ส่วนหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมจากโรงรับจำนำยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

 

บทวิเคราะห์ของ EIC ระบุว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

 

– ปัจจัยที่หนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อย ทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยลดภาระการชำระหนี้ในระยะสั้น และช่วยป้องกันการเกิดหนี้เสียในวงกว้าง อย่างไรก็ดี การชำระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ

 

– ปัจจัยที่สอง วิกฤตโควิดส่งผลทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ นำไปสู่การลดลงของสภาพคล่องของคนจำนวนมาก จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปของภาคครัวเรือน ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2020 และมีอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 5.9% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.8% แม้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับการเติบโตที่เกิดขึ้นของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนว่าครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสินเชื่ออาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาวังวนของกับดักหนี้ได้ในอนาคต

 

– ปัจจัยที่สาม ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคา ออกโปรโมชันจูงใจเป็นจำนวนมาก เพื่อลดอุปทานคงค้าง ประกอบกับมาตรการ LTV มีการผ่อนคลายลง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในหมวดที่อยู่อาศัยที่เติบโตได้ค่อนข้างดีที่ 5.9% ณ สิ้นปี 2020 และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 6.8%

 

EIC ยังระบุด้วยว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในเวลานี้อยู่ในระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยข้อมูลจาก Bank of International Settlement (BIS) พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 12.0% ต่อ GDP ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงเป็นอันดับ 7 จากทั้งหมด 43 ประเทศ ทั้งนี้ เป็นผลมาจาก GDP ที่ลดลงมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยยังคงสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของการพึ่งพาสินเชื่อในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยในช่วงที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2021 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ในช่วง 88-90% ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจากในไตรมาสที่ 1 ตามการทยอยฟื้นตัวของ GDP อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภายในปี 2021 อาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากผลของการแพร่ระบาดของโควิดมีความรุนแรงและต่อเนื่อง จนทำให้ GDP ลดต่ำลงกว่าที่คาด ขณะที่หนี้ยังสามารถขยายตัวได้ด้วยอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปัจจุบัน

 

EIC ประเมินว่า การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ Debt Overhang คือภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในด้านต่างๆ ของภาคครัวเรือน เช่น การลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือการลงทุนในด้านการศึกษา นอกจากนี้ภาวะ Debt Overhang จะยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้อีกด้วย ทั้งนี้ จากการศึกษาของ BIS พบว่า หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงกว่าระดับ 80% จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

นอกจากนี้ EIC ยังประเมินด้วยว่า สถานการณ์หนี้ของภาคครัวเรือนไทยที่เกิดขึ้นจริงอาจแย่กว่าที่สัดส่วนหนี้ต่อ GDP บ่งชี้ จากการที่รายได้ภาคครัวเรือนโตช้ากว่า GDP โดยเฉลี่ย และในช่วงโควิดแนวโน้มดังกล่าวนี้ก็น่าจะยังมีต่อเนื่อง จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรง สะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ลดลงถึง -8.8% ขณะที่ Nominal GDP ลดลงเพียง -2.1% ในช่วงเดียวกัน 

 

นอกจากนี้แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม มีการใช้แรงงานไม่มากนักเมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคบริการ อีกทั้งรายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก ด้วยเหตุนี้การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ภาคครัวเรือน ทั้งในรูปแบบของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้โดยการปรับและเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจภาคครัวเรือนยังคงมีความเปราะบางสูง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising