วันนี้ (19 พฤษภาคม) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) เปิดเผยว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ไตรมาส 1/63 ติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และขณะเดียวกันยังติดลบ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว (Recession) เพราะ GDP ติดลบต่อเนื่องจากไตรมาส 4/62 ที่ติดลบ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
ทั้งนี้ GDP ไทยไตรมาส 1/63 ที่ติดลบ 1.8% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/57 และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/54
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ผ่านภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าเป็นหลัก เห็นได้จากภาคการผลิตด้านโรงแรมและภัตตาคารที่หดตัวกว่า 24.1%YOY ขณะที่ด้านการส่งออก แม้ในภาพรวมจะสามารถขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรก แต่การขยายตัวส่วนใหญ่มาจากการส่งออกทองคำที่จะไม่ถูกนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยหากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัว ซึ่งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมลดลง 2.7%YOY
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกได้รับผลบวกจากการบริโภคสินค้าจำเป็น (Non-discretionary Items) ส่วนหนึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้าก่อนที่จะมีการปิดเมือง นอกจากนี้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในบ้านและ Work from Home ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เฟอร์นิเจอร์ และการสื่อสาร (ค่าอินเทอร์เน็ต)
อย่างไรก็ตาม EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2/63 จากผลกระทบมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ทั่วโลก โดยการปิดเมืองจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลก (Sudden Stop) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของไทยผ่านเศรษฐกิจโลกที่หดตัว และปัญหาด้าน Supply Chain Disruption และเครื่องชี้การส่งออกของโลก (Global PMI: Export Orders) ในเดือนเมษายนลดลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 จะหดตัวในระดับสูง
นอกจากนี้ภาคท่องเที่ยวของไทยจะหดตัวในระดับสูงจากการปิดการเดินทางเข้าออกประเทศของไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% ในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน และการปิดเมืองที่ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัดยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ภาคขนส่ง และการค้าขายหลายประเภทที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวมากที่สุดในปีนี้
ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี บนสมมติฐานสำคัญว่าจะต้องไม่มีการระบาดอีกรอบของโควิด-19 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่หากคำนวณเทียบกับปีก่อนหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวทั้งปี 2563 นี้
อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐจะเข้าประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้แก่ พ.ร.ก. กู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือ
- วงเงินสำหรับช่วยเหลือรายได้ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและเกษตรกร วงเงินกว่า 5.55 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายเงินบางส่วนไป เช่น เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มเกษตรกรเดือนละ 5,000 บาทต่อคน (3 เดือน)
- วงเงินสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 4 แสนล้านบาท โดยเม็ดเงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท จะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้ระดับหนึ่ง และจะทยอยเข้าพยุงเศรษฐกิจในช่วงปัจจุบันจนถึงเดือนกันยายน ปี 2564 ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง EIC จะติดตามการดำเนินการของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้านดอกเบี้ยนโยบาย EIC คงมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ในไตรมาสที่ 2/63 และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยจากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum