×

EIC มองเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปครึ่งปีหลัง 2020

โดย THE STANDARD TEAM
16.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 พบว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2020 เศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะข้างหน้า ต้องจับตามองหนี้ภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐที่อาจปรับสูงขึ้นเร็ว โดยประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย
  • EIC ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ลงเหลือ -3.5% และประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึง (U-shaped and uneven recovery) ในระยะข้างหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังภาครัฐดำเนินนโยบายการเงินและการคลังขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 
  • ทั้งนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2021 เป็นต้นไปจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงอัตราการขยายตัวก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวแบบ U-shape ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า แต่ละประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ และจะไม่มีการระบาดระลอก 2 เป็นวงกว้าง 

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 พบว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2020 เศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการทางการคลังและการเงินคอยช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดเงิน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวดีขึ้น แต่ในระยะข้างหน้า ต้องจับตามองหนี้ภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐที่อาจปรับสูงขึ้นเร็ว โดยประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยดังนี้

 

  1. จากการปิดเมืองและการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สู่การทยอยเปิดเมืองและการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่ทั่วถึง 

 

มาตรการควบคุมโรคส่งผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ ทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต จากข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของหลายๆ ประเทศพบว่า มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้นทำให้ดัชนี PMI ในเดือนเมษายนชะลอลงรุนแรง โดยการเปลี่ยนแปลงของดัชนี PMI ภาคบริการลดลงมากกว่าภาคการผลิต ทำให้การปิดเมืองส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) มากกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) เนื่องจากกลุ่มประเทศ DM มีสัดส่วนภาคบริการในระบบเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มประเทศ EM 

 

นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2020 บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวมีความสัมพันธ์กับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค สะท้อนได้ว่ามาตรการภาครัฐที่เข้มงวดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและจะยิ่งเห็นความสัมพันธ์ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของไตรมาสที่ 2 ที่หลายประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการควบคุมโรคเต็มรูปแบบ

 

หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 อยู่ค่อนข้างมาก สะท้อนจากดัชนี Google Mobility ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการ

 

ขณะเดียวกันในตลาดแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ของโลกด้านการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้เครื่องชี้วัดในตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเริ่มชะลอลง ทั้งผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกและผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือ 13.3% จากเดือนเมษายนที่ 14.7% 

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายอุตสาหรกรรมพบว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นแบบไม่ทั่วถึงในแต่ละภาคส่วน (Uneven Recovery) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของโควิด-19 และการปิดเมืองที่แตกต่างกันดังที่กล่าวไว้แล้ว นอกจากนั้น การเปิดเมืองที่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยมีกิจกรรมทางเศรษกิจในบางอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ ในขณะที่ยังมีบางอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้างมีสัญญาณฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ (เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ จากเดือนเมษายนที่ลดกำลังการผลิตเหลือ 0% แต่หลังจากผ่อนคลายมาตรการกำลังการผลิตยานยนต์ในเดือนพฤษภาคมได้กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) 

 

ในขณะที่ภาคบริการ เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบันเทิง นอกจากได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคการผลิตแล้ว หลังทยอยเปิดเมืองผู้บริโภคบางส่วนยังคงกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด ทำให้การฟื้นตัวจำเป็นต้องใช้เวลาในการเข้าสู่ภาวะปกติจนกว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ เช่น สามารถหาวิธีรักษาโควิด-19 หรือมีวัคซีนป้องกัน เป็นต้น

 

 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ EIC ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ลงเหลือ -3.5% และประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึง (U-shaped and uneven recovery) ในระยะข้างหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหลังภาครัฐดำเนินนโยบายการเงินและการคลังขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบางภาคส่วนจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อาจฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้บริโภคจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายและลงทุน ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศจะเป็นไปอย่างช้าๆ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะถูกกดดันจากยอดที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่แม้จะฟื้นขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ EIC จึงประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะเป็นรูปตัว U (U-shaped recovery) กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 อาจไม่สูงพอที่จะชดเชยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงในปี 2020 ได้ จึงทำให้โดยรวมแล้วมูลค่าของเศรษฐกิจปี 2021 จะอยู่ต่ำกว่าระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Baseline) ปี 2021 ในกรณีที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 

 

ทั้งนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2021 เป็นต้นไปจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงอัตราการขยายตัวก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวแบบ U-shape นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า แต่ละประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ และจะไม่มีการระบาดระลอก 2 เป็นวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราลดลงเรื่อยๆ โดยหากมีการระบาดระลอก 2 ที่รุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่ารอบแรก ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกลายเป็นลักษณะ W หรือ L-shape กล่าวคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซายาวนาน และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปมีมากขึ้น

 

 

  1. ผลของมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่และมาตรการทางการเงินในรูปแบบที่ไม่ปกติ มีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดการเงิน 

 

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากและถึงขั้นหดตัวในหลายๆ ประเทศ รวมถึงภาวะขาดความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน ภาครัฐได้ออกมาตรการการเงินและการคลังในขนาดใหญ่และในรูปแบบที่ไม่ปกติ (Unconventional Measures) เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน สำหรับนโยบายทางการคลังนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย นโยบายที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs, นโยบายที่สนับสนุนภาคครัวเรือน และนโยบายเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐทั่วไป 

 

สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และออกมาตรการการเงินแบบไม่ปกติ (Unconventional Measures) ที่หลากหลายมากขึ้น โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง มีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน นอกจากนี้ผู้ร่วมตลาดยังคงมีมุมมองว่าธนาคารกลางจะยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายทางการเงินนี้ไปอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อยในระยะ 1 ปีข้างหน้า และสำหรับนโยบายการเงินที่นอกเหนือจากมาตรการปกติ (Unconventional Measures) สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Assets Purchase), มาตรการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน (Targeted Soft Loans), มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ (Liquidity Facility) และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ 

 

นอกจากนี้ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักยังส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ผ่านมาล่าสุดนั้น Fed สื่อสารว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กรอบ 0-0.25% ไปจนถึงสิ้นปี 2022 และยังคงปริมาณเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในระดับสูง ด้าน ECB จะเพิ่มวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) อีก 6 แสนล้านยูโร อีกทั้งยังขยายวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินผ่านโครงการ PEPP ทำให้วงเงินรวมตอนนี้อยู่ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ECB ยังได้ขยายระยะเวลาของมาตรการไปจนถึงมิถุนายน 2021 และจะต่ออายุสัญญาภายใต้โครงการไปจนถึงสิ้นปี 2022 เป็นอย่างน้อย

 

ในกรณีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าคาดและภาวะการเงินกลับมาตึงตัวขึ้น EIC มองว่าทั้ง Fed และ ECB จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้อีก

 

  1. จากภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (Dash for Cash) สู่การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงเกิดเป็น Global Risk-off Sentiment และเกิดภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (Dash for Cash)

 

โดยเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนหันมาถือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงอย่างเงินสด ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สำคัญของโลกปรับลดลงมากที่สุดราว 30-40% ทั่วโลก แม้ว่าลดลงในอัตราที่ต่ำกว่าในช่วงวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis: GFC) ในปี 2008-2009 ที่ส่วนใหญ่ปรับลดลงราว 50-60% (คิดอัตราการลดลงจากจุดสูงสุดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์มาถึงจุดต่ำสุดของดัชนี) 

 

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบด้วยระยะเวลาที่เท่ากัน โดยนับจากวันที่เริ่มเกิดวิกฤตนั้น พบว่าการปรับลดลงในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้เป็นการปรับลดลงในอัตราที่เร็วกว่าในช่วง GFC โดยดัชนีราคาหุ้นในภาคการธนาคาร พลังงาน และการขนส่งปรับลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์

 

สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนพบว่า สกุลเงินส่วนใหญ่ปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สุด ส่วนตลาดพันธบัตรพบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ในช่วงที่เกิด Global Risk-off รุนแรงที่สุดในช่วงต้นเดือนมีนาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นบ้างในระยะสั้นๆ เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือเงินสดในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีสภาพคล่องสูงกว่า (Dash For Cash) ด้านอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่อาจทำให้โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ปรับสูงขึ้นได้

 

อย่างไรก็ดี ภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีส่วนช่วยพยุงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาเพิ่มขึ้นได้บ้าง ทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นในบางสินทรัพย์ โดยตลาดหุ้นปรับสูงขึ้นหลังหดตัวรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคมที่การแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ปรับลดลงบ้างเช่นกัน 

 

ดังนั้นเมื่อดูในภาพรวมแล้วจึงกล่าวได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ในรอบนี้ทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้นมาก โดยดัชนีราคาปรับลดลงแรงและปรับเพิ่มกลับขึ้นมา (Rebound) เร็วกว่าเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก (GFC)

 

 

  1. หนี้ภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในระยะข้างหน้าโอกาสในการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risks) ปรับสูงขึ้น

 

ภาครัฐทั่วโลกดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ก่อให้เกิดการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ 

โดยรายจ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรายรับจากภาษีที่คาดว่าจะลดลงตามรายได้และอุปสงค์ภายในประเทศที่หดตัว ทำให้คาดว่าปี 2020 หลายประเทศจะมีการขาดดุลทางการคลังมากขึ้น นอกจากนี้ หนี้ภาครัฐ (Gross Government Debt) ในหลายประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดย IMF คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 122.4% ต่อ GDP ในปี 2020 จากเดิมที่ 105.2% ต่อ GDP ในปี 2019 และหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 62% ต่อ GDP ในปี 2020 จากเดิมที่ 53.2% ต่อ GDP ในปี 2019

 

ในระยะข้างหน้า หากการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทาง แม้ว่าการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้จะเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อชดเชยการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่หากมีการก่อหนี้สาธารณะในระดับสูงต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพิ่มข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายเงิน และส่งผลเสียต่อความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐในระยะยาวได้ กล่าวคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอาจลดลง, การดำเนินนโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดมากขึ้นจากนโยบายทางการคลัง (Fiscal Dominance) และเพิ่มความเสี่ยงต่อความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ (Debt Sustainability)

 

 

ในระยะต่อไป ต้องจับตามองความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของภาคเอกชน และความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่อาจกลับมาปะทุอีกครั้ง นอกจากความเสี่ยงของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (High Yields) ปรับสูงขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) 

 

โดย EIC พบว่า ธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองมาก เช่น ภาคธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก รวมถึงภาคธุรกิจพลังงานด้วย นอกจากนี้จำนวนบริษัททั่วโลกที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 นี้ และเข้าใกล้ระดับในช่วงวิกฤตการเงินโลก จึงเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่าผลของการหดตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น

 

 

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อนโยบายการค้าโลกที่ปรับสูงขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนลงนามข้อตกลงระยะที่ 1 เมื่อเดือนมกราคม 2020 หนึ่งในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันคือ การขยายการค้า โดยจีนจะต้องนำเข้าสินค้าและบริการต่างๆ ของสหรัฐฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้าในมูลค่ามากกว่ามูลค่าการนำเข้าในปี 2017 ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เกษตร พลังงาน และบริการต่างๆ ซึ่งจนถึงเดือนเมษายน 2020 จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเป้าหมายของระยะเวลาเดียวกันที่ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกล่าวคือ จีนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพียง 45% ของเป้าหมายมูลค่าการนำเข้าที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ กดดันจีนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการกดดันบริษัทจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หลังวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายให้แสดงหลักฐานว่าบริษัทไม่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลต่างชาติ โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัทจีน (คิดเป็น 3.3% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ) ซึ่งหากมีความผิดจริง บริษัทอาจถูกถอดถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการกดดันอื่นๆ ที่ล้วนพุ่งเป้าที่จีน ทำให้ความเสี่ยงต่อนโยบายการค้าการลงทุนในระยะต่อไปกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X