×

EIC คาด โอมิครอนดันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มเป็น 89.5-90.5% ต่อ GDP ในครึ่งปีแรก ห่วงหนี้นอกระบบส่งสัญญาณเร่งตัว

19.01.2022
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนที่จะกระทบรายได้ครัวเรือน ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง ส่งผลให้กระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนมีอุปสรรค และสถานะทางการเงินภาคครัวเรือนจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงแนวโน้มการใช้จ่ายและคุณภาพสินเชื่อของภาคครัวเรือน 

 

ทั้งนี้ EIC คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยมีโอกาสกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 89.5-90.5% ต่อ GDP ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อการแพร่ระบาดของโอมิครอนเบาบางลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว 

 

นอกจากนี้ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงของการซ่อมแซมงบดุล (Deleverage) ยังถือว่าเป็นช่วงที่มีความเปราะบางสูง อาจต้องอาศัยมาตรการหลายด้านประกอบกัน เพื่อให้สถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างราบรื่น เช่น มาตรการเยียวยาด้านรายได้ โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนการจ้างงาน การปรับ-เพิ่มทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของภาคครัวเรือน การปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระการผ่อนชำระสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงและฟื้นช้า ไปจนถึงการเสริมสภาพคล่องแก่ภาคครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเพื่อลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ

 

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 89.3% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 

 

เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์พบว่า การเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่ออุปโภคบริโภคในไตรมาส 3 มีการชะลอลงในทุกประเภท แต่ยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวที่ 8.2% สูงกว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อประเภทอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 22.7% ต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภครวมในระบบธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจาก 22.5% ในไตรมาสก่อนหน้า 

 

การเติบโตที่ยังอยู่ในระดับสูงของสินเชื่อส่วนบุคคลสะท้อนถึงแนวโน้มการกู้ยืม เพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ลดลงของภาคครัวเรือน ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในช่วงนี้ และเป็นเทรนด์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้, เงินด่วน ซึ่งจากผลการค้นหาที่ปรากฏ สามารถเป็นได้ทั้งหนี้ในและนอกระบบ 

 

แม้ปัจจุบันดัชนีจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดถึงราว 30% สะท้อนถึงความต้องการที่ยังสูงของผู้บริโภคต่อสินเชื่อ เพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ซบเซาและฟื้นตัวช้า 

 

EIC ระบุว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ สะท้อนจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับเข้มงวดขึ้นมาโดยตลอดในช่วงวิกฤตโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่ยังมีสูงอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มได้อย่างครอบคลุมด้วยสินเชื่อในระบบ ส่งผลทำให้ในช่วงโควิดผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการสินเชื่อได้หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ 

 

โดยการสำรวจผู้บริโภคของ EIC (EIC Consumer Survey 2021) พบว่า มีถึง 26.1% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่กู้ยืมหนี้นอกระบบในช่วงโควิด แนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้ปริมาณหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเกิดวิกฤตโควิด 

 

ขณะเดียวกันการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือนพบว่า หนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 อยู่สูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงจากช่วงก่อนโควิดในปี 2019 ที่อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึง 78% ถือเป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่หนี้นอกระบบมีแนวโน้มลดลงในปี 2019 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X