ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ที่มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 2 เสียงมีความเห็นว่าควรลดดอกเบี้ย พร้อมมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 1.9% เหลือ 0.7% และเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก 3.9% เหลือ 3.7% ได้สะท้อนภาพทางเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้นใน 3 ประเด็น
ประเด็นแรกคือ การแพร่ระบาดของโควิดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ กนง. เคยคาดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจอื่นๆ รวมถึง EIC ที่ประเมินว่าการบริโภคของภาคเอกชนในไตรมาส 3 จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์และเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องพึ่งพามาตรการการคลังของภาครัฐมากขึ้น
“ตอนนี้แต่ละเฮาส์มองตรงกันว่าการบริโภคเอกชนทรุดหนัก แต่จุดที่ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ GDP ยังต่างกันบ้างคือการประเมินเม็ดเงินของมาตรการทางการคลัง โดย EIC มองว่าภาครัฐน่าจะมีการอัดฉีดเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ผ่านมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือต่างๆ เพิ่มอีก 1.4 แสนล้านบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากที่ออกมาแล้ว 6 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ทำให้มองว่า GDP ปีนี้จะยังขยายตัวได้ 0.9% อยากไรก็ดี หากตัดวงเงินเยียวยาเพิ่มเติม 1.4 แสนล้านบาทที่คาดเอาไว้ออก GDP ปีนี้จะเติบโตที่ 0%” ยรรยง กล่าว
ประเด็นที่สองคือ กนง. ยังมองว่ามาตรการทางเงินที่ให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ทั้งในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ต้องมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดจะพบว่า สินเชื่อฟื้นฟูมีวงเงินการอนุมัติอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาทให้กับผู้ประกอบการ 27,219 ราย ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้มีการรับโอนทรัพย์ไปเพียง 1,060 ล้านบาทจากผู้ประกอบการ 18 ราย ซึ่งคิดเป็นจำนวนธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาพรวมของ SMEs ทั้งประเทศที่มีจำนวนถึง 3 ล้านรายและเป็นนิติบุคคล 7 แสนราย
โดยในประเด็นนี้ EIC มองว่า เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากมาตรการช่วยเหลือได้มากขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตให้กับธุรกิจ โดยอาจใช้วิธีเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันผ่าน บสย. ให้มากขึ้นกว่า 40% รวมถึงชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจ SMEs จำนวนมากยังมองว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นต้นทุนที่สูงอยู่
“ในบางประเทศภาครัฐจะมีการทำ Loan Guarantee ให้กับธุรกิจ SMEs คือ กรณีเกิดความเสียหายรัฐจะชดใช้ให้ 80-90% ซึ่งไทยอาจหยิบเอาแนวคิดนี้มาใช้ได้เพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงสภาพคล่องได้มากขึ้น เพราะธุรกิจ SMEs เวลานี้อยู่ในภาวะที่เปราะบางมาก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือที่มากพอและทันเวลาอาจทำให้เขาต้องปิดกิจการและเกิดปัญหาการว่างงานครั้งใหญ่” ยรรยง กล่าว
สำหรับประเด็นที่สาม ยรรยงระบุว่า ท่าทีของ กนง. ล่าสุดสะท้อนถึงโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีกรรมการสองท่านที่เห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี EIC ยังประเมินว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ไปจนถึงสิ้นปี 2022 เนื่องจากการลดดอกเบี้ยในจังหวะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ จะไม่ส่งผลบวกต่อการบริโภคได้มากเท่าที่ควร
“เรามองว่าอาจมีโอกาสราว 30% ที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปีนี้ แต่เป้าหมายการลดจะเป็นการลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้มากกว่าการเร่งอุปสงค์ในตลาด” ยรรยง กล่าว