EIC ประเมิน กนง. ยังมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจาก กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563
- กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัวถึง 5.3%YOY จากการที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย การหดตัวรุนแรงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายได้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นวงกว้างมากขึ้น
- กนง. ประเมินว่าเสถียรภาพของตลาดการเงินไทยปรับตัวดีขึ้น หลังธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง
- อย่างไรก็ดี ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL และเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องประสานความร่วมมือกับนโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด
- EIC ประเมินว่า กนง. ยังมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 0.25% ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ จากเศรษฐกิจไทยที่จะหดตัวรุนแรงมากในช่วงไตรมาสที่ 2 รวมถึงภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัวค่อนข้างมากจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ปรับสูงขึ้น Corporate Spread ที่เพิ่มขึ้น และสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลง
Key points
กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัวถึง 5.3% เทียบกับปีก่อน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มีนาคม 2563 กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง (สมาชิกลาประชุม 1 คน) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ต่อปี โดย กนง. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดังนี้
- เศรษฐกิจไทยปี 2563 ‘หดตัวแรง’ ที่ -5.3% (จากประมาณการเดิมที่ 2.8%) โดยประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า
- เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
- การระบาดในไทยควบคุมได้ในไตรมาส 2 แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องใช้เวลา
- ไม่รวมมาตรการการเงินการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติม
ด้วยเหตุนี้ กนง. จึงประเมินว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ 8.8% (จากเดิมขยายตัวที่ 0.5%) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 15 ล้านคน (จากเดิม 41.7 ล้านคน) สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวที่ 4.3% (จากเดิมขยายตัวที่ 3.4%) และการบริโภคภาคเอกชนหดตัวที่ 1.5% (จากเดิมขยายตัวที่ 3.0%)
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวลง 1% (จากประมาณการเดิมที่ขยายตัว 0.8%) ตามราคาพลังงานที่ลดลงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว โดยคาดการณ์ค่าเฉลี่ยราคาน้ํามันดิบดูไบในปี 2563 ถูกปรับลดลงจาก 62.5 มาอยู่ที่ 35.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถูกปรับลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ -0.1% (จากเดิม 0.7%)
- เศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ โดยเศรษฐกิจไทยและค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 3.0% และ 0.3% ตามลำดับ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้า การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มฟื้นตัว และการลงทุนของภาครัฐจะขยายตัวสูง
กนง. ประเมินว่าเสถียรภาพของตลาดการเงินไทยปรับดีขึ้น หลังธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง เสถียรภาพของตลาดการเงินไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ที่ปรับตัวดีขึ้นหลังธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก และมีแนวโน้มผันผวน เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง สะท้อนจากสัดส่วนเงินสดสำรองระหว่างประเทศในปี 2562 ที่อยู่สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3.8 เท่า และดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2562 ที่สูงถึง 6.8% ต่อ GDP
อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่าระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด จึงมีความจำเป็นที่ต้องประสานกับมาตรการช่วยเหลืออื่นเพิ่มเติม แม้ว่า กนง. จะประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ จากที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด
โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจด้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรง กนง. จึงประเมินว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติม หลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL หลายช่องทางด้วยกัน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1) โดย วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีได้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับช่วยเหลือด้านสินเชื่อของลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL ให้มีภาระลดลง
กนง. ส่งสัญญาณ (Forward Guidance) ถึงแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการสื่อสารว่าพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการทางการเงินอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์
Implication
EIC ประเมิน กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยมีเหตุผลดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงและมากกว่าที่คาด โดยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ -5.3% ได้เน้นย้ำถึงแนวโน้มการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทย ซึ่ง EIC มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมยังมีความจำเป็นเพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศต่อไป
2. และเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินไทยที่ตึงตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
- อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น: ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ด้วยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะติดลบถึง 1% ในปี 2563 (ตามประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย) ทั้งจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากและแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลงมากเช่นกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยนโยบายหักลบด้วยคาดการณ์เงินเฟ้อ) จะปรับสูงขึ้น เพราะอัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยในปัจจุบันคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะอยู่ที่ 1.75%
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและ Corporate Spread ปรับสูงขึ้น: โดย EIC ประเมินว่าแม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและ Corporate Spread จะเริ่มลดลงหลังจากมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1%) พบว่าทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและ Corporate Spread ปรับสูงขึ้น (โดยเฉพาะกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB) ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อน Risk Premium ของสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านหุ้นกู้มีต้นทุนในการระดมทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้มีความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ในภาวะที่ตลาดมีสภาพคล่องลดลง
- ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลง: แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ล่าสุดจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่หากเทียบกับในช่วงสิ้นปี 2019 พบว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังปรับลดลงถึง 32% ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและครัวเรือน รวมถึงทำให้ความมั่งคั่งลดลง (Wealth Effect) ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในระยะต่อไป นอกจากนี้จากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวยังทำให้การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ (Iinitial Public Offering – IPO) ของหลายบริษัทได้ถูกเลื่อนออกไป ซึ่งสะท้อนถึงความล่าช้าเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงแหล่งทุนนั่นเอง
- สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลงมาก: โดยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 ขยายตัวที่ 2% ชะลอลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวถึง 6% (รูปที่ 1) ทั้งนี้ EIC ประเมินว่าสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงอีกค่อนข้างมากในภาวะที่อุปสงค์ในประเทศหดตัวลงและความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
- ความไม่แน่นอนจากต่างประเทศสูงขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากไทย: ด้วยความเชื่อมั่นที่ลดลงทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้น สภาพคล่องในตลาดเงินโลกลดลง และราคาสินทรัพย์ทางการเงินปรับลดลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยทั้งสิ้น 9.9 หมื่นล้านบาท นับจากต้นปี 2563 และไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ถึง 1.1 แสนล้านบาท นับจากต้นปี 2563
- มติการคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ไม่เป็นเอกฉันท์ (4 ต่อ 2 เสียง, กรรมการ 1 คนลาประชุม) โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ย 25 bps สะท้อนว่าในสมาชิก กนง. ยังมีมุมมองที่ประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถทำได้
โดย EIC ประเมินว่าความเสี่ยงจากทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัวดังกล่าวจะมีสูงในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยรุนแรงมากที่สุด ซึ่งน่าจะทำให้ กนง. ยังมีโอกาสพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 25 bps
ในระยะต่อไป EIC มองว่ามาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐจะยังมีความจำเป็น EIC ประเมินว่ามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาล่าสุดนั้นเป็นการลดภาระด้านรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อทั้งรายจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผู้ประกอบการและครัวเรือนยังต้องเผชิญอยู่คือการขาดหายไปของรายได้ (Income Shock) และอุปทานของสินค้า/บริการที่ชะงักไป (Supply Disruption) ซึ่ง EIC ประเมินว่าเพื่อประคับประคองอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ภาครัฐยังมีความจำเป็นต้องออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งอาจพิจารณาขยายระยะเวลาของมาตรการที่ออกไป เพิ่มวงเงินมาตรการเดิม หรือการขยายขอบเขตผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ เป็นต้น
ผู้เขียนบทวิเคราะห์: ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ([email protected])
รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC)
ดร.กําพล อดิเรกสมบัติ ([email protected])
ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน
วชิรวัฒน์ บานชื่น ([email protected])
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
พงศกร ศรีสกาวกุล ([email protected])
นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
เรียบเรียง: อรนุช ภัทรกุล
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com