ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2565 กรณีฐานลงมาเหลือ 3.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.4% เนื่องจากมองว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นในช่วงต้นปี ทำให้ภาพรวมของภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ GDP ไทยยังจะเป็นการฟื้นตัวได้ช้า โดยคาดว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 5.9 ล้านคน
ขณะที่ในกรณีเลวร้าย (Worse Case) คือ เกิดการระบาดรุนแรงขึ้นอีกรอบจากสายพันธุ์โอไมครอน จนทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยอาจลดลงไปอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ตามการจำกัดการเดินทางของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนที่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศออกไป ซึ่งในกรณีนี้ GDP ไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.3%
อย่างไรก็ดี กรณีที่ดีกว่าคาด (Better Case) คือ การพัฒนาการฉีดวัคซีนของโลกและไทยดีกว่าคาด และการระบาดของโอไมครอนไม่รุนแรง รวมถึงภาครัฐมีการอัดฉีดเม็ดเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม GDP ไทยก็มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4.1%
“ด้วยข้อมูลในปัจจุบัน เรายังมองว่าผลกระทบจากโอไมครอนจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดรอบเดลตา เนื่องจากการฉีดวัคซีนในไทยและประเทศหลักส่วนใหญ่อยู่ในอัตราสูงกว่าเดิม ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากเหมือนเดิม อีกทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความพร้อมในการปรับตัวต่อสถานการณ์เพิ่มมากขึ้นผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและออนไลน์ต่างๆ ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง” ยรรยงกล่าว
สำหรับการใช้จ่ายในประเทศ คาดว่าแม้ในระยะสั้นจะมีการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up Demand) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวในภาพรวมจะยังเป็นไปอย่างช้าๆ จากผลของร่องรอยแผลเป็นเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ในส่วนของภาครัฐ คาดว่าจะยังคงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้เม็ดเงินในส่วนที่เหลือประมาณ 2.6 แสนล้านจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ แต่แรงส่งจากภาครัฐในภาพรวมมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงจากปีก่อน
ด้านนโยบายการเงิน EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปีหน้า เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางภายใต้เงินเฟ้อที่แม้จะเร่งตัวแต่ยังอยู่ในกรอบนโยบาย
สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2565 EIC คาดว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ โดยนับตั้งแต่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล จนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลง 1.4% จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับแย่ลง ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะในตลาดหุ้น สำหรับแนวโน้มเงินบาท ณ สิ้นปี 2565 EIC คาดว่าอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ยรรยงระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Output Loss) ในระดับสูง และอาจกระทบต่อศักยภาพการขยายตัว
ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ผ่านการลงทุนและการจ้างงานที่น้อยลง โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 (ก่อนโควิด) จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566
นอกจากนี้ ความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังการระบาดของโอไมครอนเริ่มแพร่กระจายในหลายประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าที่คาดได้ ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาการใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเน้นการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการปรับทักษะแรงงาน การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจ SMEs และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็น New S-Curve ของไทย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ เช่น
- การระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น
- การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น และปัญหาคอขวดอุปทานโลก ส่งผลกระทบทางตรงผ่านกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง และทางอ้อมผ่านภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นเร็ว โดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าคาด
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากกว่าคาดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
- ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง