×

EIC หั่นคาดการณ์ GDP จีนปีนี้เหลือ 8% มองปีหน้าขยายตัว 5.3-5.5% หลังวิกฤตหนี้ Evergrande และปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าฉุดการเติบโต

12.10.2021
  • LOADING...
China GDP

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดตัวเลขประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้เหลือ 8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 8.4% ตามตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากกรณีปัญหา China Evergrande และการขาดแคลนพลังงานซึ่งส่งผลให้โรงงานในบางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตลง พร้อมคาดการณ์ว่า GDP จีนในปีหน้าจะเติบโตลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.3-5.5%

 

EIC ประเมินว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนที่มีแนวโน้มหดตัวจากกรณีปัญหาวิกฤตหนี้และสภาพคล่องของ Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่และหนี้สินสูงถึง 2 ล้านล้านหยวน (3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็น 2% ของ GDP ของจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวชะลอลงในระยะสั้น (คาดว่าผลกระทบต่อ GDP ในปี 2022 ราว 1.4 ppt) โดยช่องทางผลกระทบประกอบด้วย 1. กิจกรรมการก่อสร้างที่ลดลง จากความสามารถในการก่อหนี้ และจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ (Housing Starts) ที่ลดลง 2. ยอดขายที่ดินที่ลดลง ส่งผลต่อรายได้ การใช้จ่าย และความสามารถในการกู้ยืมของรัฐบาลท้องถิ่น และ 3. Wealth Effect จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง กระทบต่อระดับการบริโภคของภาคเอกชน

 

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปคาดว่าสถานการณ์น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ และจะไม่ลุกลามจนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เนื่องจาก 1. มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีความเข้มงวดอยู่แล้ว 2. การกู้ยืมของ Evergrande ผ่านธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนเพียง 0.22% ของเงินกู้ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์จีน 3. สถาบันการเงินจีนแข็งแกร่ง จากกระบวนการลดภาระหนี้สินในระบบ (Deleverage) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ EIC ยังคาดว่ารัฐบาลจีนมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง แม้ว่าจะไม่ได้เข้าช่วยเหลือบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยตรง โดยรัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญกับผู้ซื้อบ้านและระบบสถาบันการเงินมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ซื้อบ้าน และหลีกเลี่ยง ‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ ในตลาดการเงิน

 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกเชื่อว่าจะมีจำกัด เนื่องจาก Evergrande มีหนี้คงค้างในตลาด Offshore ไม่มากนัก ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยก็จำกัดเช่นกัน จากการลงทุนใน China HY Property ที่มีสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งหมดของแต่ละกองทุน

 

นอกจากนี้ ภาคก่อสร้างจีนที่ได้รับผลกระทบจากกรณี Evergrande อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยบางอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าประเภทไม้ (Wood) ที่พบว่าพึ่งพาภาคก่อสร้างจีนมาก และมีตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมแร่อโลหะ (Non-metallic Mineral) ที่พึ่งพาภาคก่อสร้างจีนมาก แต่ไม่ได้มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก จะได้รับผลกระทบรองลงมา

 

โดยนอกเหนือจากแรงกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีนแล้ว มาตรการภาครัฐที่ควบคุมการใช้พลังงานอย่างเข้มงวด ก็เพิ่มแรงกดดันต่อการใช้พลังงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และส่งผลให้บางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยกดดันการเติบโตของจีนในครึ่งปีหลัง โดยการลดระดับการใช้พลังงานเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1. การบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในการควบคุมการใช้พลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนของประเทศภายในปี 2030 และ 2. ความพยายามที่จะลดการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหิน ส่งผลให้อุปทานของถ่านหินไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้าสูงขึ้น บริษัทจึงต้องลดการบริโภคพลังงานลง

 

สำหรับผลกระทบระยะสั้นของมาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปีหน้า โดยคาดว่าอุตสาหกรรมจีนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตสูง เช่น โลหะเหล็ก โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และแร่อโลหะ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X