กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยแม้จะประเมินเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่เคยประเมินไว้ สะท้อนจากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เป็นขยายตัวที่ 0.7% และ 3.7% ในปีหน้า (จากเดิม 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ)
แต่กรรมการส่วนใหญ่ยังมองว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น
โดย กนง. ประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงาน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2564 และปี 2565 โดยหากเศรษฐกิจเป็นไปตามกรณีฐานตามการประเมินล่าสุดของ กนง. ที่มีสมมติฐานว่า การระบาดจะถูกควบคุมได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ กนง. ก็จะเลือกคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย(Policy Space) ไว้ และเน้นการปรับมาตรการการเงินเพื่อกระจายสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี โอกาสของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งภายในปีนี้มีมากขึ้น (ความน่าจะเป็น 30%) จากความเสี่ยงด้านต่ำของการระบาดจากสายพันธุ์เดลตา ภายใต้การฉีดวัคซีนอย่างช้าๆ ก็ทำให้มีโอกาสที่การระบาดและมาตรการการควบคุมจะยาวนานกว่าคาด กระทบต่อการฟื้นตัวและแผลเป็นทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุผลให้ กนง. อาจตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ภายในปีนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้เช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การควบคุมการระบาด พัฒนาการการฉีดวัคซีน และความเพียงพอของมาตรการทางการคลัง
ในภาพรวม EIC มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจช่วยลดภาระการชำระหนี้ได้บ้าง แต่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัดในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว และเศรษฐกิจถูกกระทบจากรายได้ที่ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ และความกังวลของการระบาดเป็นหลัก ซึ่งทำให้การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาด มาตรการการคลังที่อัดฉีดเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และการปรับมาตรการการเงินเพื่อกระจายสภาพคล่องให้ทั่วถึงขึ้นจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
EIC ประเมินว่า ภาครัฐจะพิจารณาปรับมาตรการการเงินที่มีอยู่ และอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งจัดสรรสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มผู้ถูกกระทบจากการระบาดให้มีประสิทธิผลมากขึ้นตามการสื่อสารของ กนง. โดยในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ อาจเห็นการปรับเงื่อนไขและลดข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะการปรับรูปแบบของการลดความเสี่ยงด้านเครดิตและลดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่แม้จะดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายตัวและทั่วถึงอย่างเพียงพอ
ด้านตลาดการเงิน ภาวะการเงินไทยยังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่เงินบาทปรับอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่อง