×

กฟผ.-ปตท. แบกหนี้ ‘ค่าไฟ’ 1.1 แสนล้านบาท หลังรัฐบาลตรึงต่อที่ 4.18 บาท/หน่วย

01.08.2024
  • LOADING...

เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนที่คนไทยจับตา เพราะส่งผลโดยตรงต่อค่าครองชีพ เมื่อ กกพ. วาง 3 ทางเลือกปรับค่า Ft งวดสุดท้ายของปี 2567 ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงถึง 6.01 บาทต่อหน่วย 

 

ล่าสุด รัฐบาลสั่งเบรกทันที โดยมีมติไฟเขียวตรึงค่าไฟต่อในราคาเดิมที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ภายใต้ภาระหนี้ที่คงค้างของ กฟผ. และ ปตท. รวมกว่าแสนล้านบาท ขณะที่ กกพ. ประเมินว่าปีหน้า 2568 ค่าไฟฟ้าไทยจะถูกลงเพราะราคาก๊าซโลก ‘มีแนวโน้มลดลง’ รวมถึงจะปรับนโยบายรับซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้เป็นรูปแบบระยะยาวมากขึ้น 

 

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภายหลังที่มีการหารือกับกระทรวงพลังงาน โดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วยนั้น พีระพันธุ์ระบุในที่ประชุมว่า “ต้องการให้ฟอร์มทีมฝ่ายนโยบายขึ้นมา ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานร่วมด้วยเพื่อช่วยกันหาแนวทางในการกำกับดูแลราคาพลังงานให้ดีที่สุด”

 

พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยตั้งเป้าว่าภายใน 4 เดือนนี้จะมีความชัดเจนและมีทางเลือกที่ดีที่สุด โดยต้องคำนึงถึงตัวดอกเบี้ยที่ทั้ง กฟผ. และ ปตท. แบกรับ ไม่ใช่เพียงเงินต้นเท่านั้น รวมถึงแนวทางการปรับนโยบายรับซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้เป็นรูปแบบระยะยาวมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวน จากปัจจุบันเป็นราคาจากตลาดจร (LNG Spot) 

 

พูลพัฒน์ระบุอีกว่า ในส่วนของค่าไฟฟ้างวดถัดไปเดือนมกราคม-เมษายน 2568 จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลก ซึ่งหวังว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศแล้ว ความต้องการใช้ก๊าซก็น่าจะมีแนวโน้มลดลง ทำให้สถานการณ์ราคาก๊าซตลาดโลกที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีโอกาสอ่อนตัวลง จากปลายปีนี้ที่ราคาก๊าซจะอยู่ที่ประมาณ 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งทาง กกพ. ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดและคาดว่าจะอยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ แต่ก็ต้องติดตามปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิด 

 

ขณะที่เหตุการณ์ อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส ถูกสังหารในกรุงเตหะรานของอิหร่าน ระหว่างเดินทางไปเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่นั้น คาดว่าจะไม่กระทบต่อราคาก๊าซในระยะยาว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด จึงไม่อยากให้ประชาชนต้องตกใจ 

 

ส่วนคำถามที่ว่า จะยืนอัตราค่าไฟอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยได้ตลอดทั้งปี 2568 หรือไม่ พูลพัฒน์กล่าวว่า “ก็ถือเป็นตัวเลขที่ดี เพราะส่วนตัวอยากให้เป็นแบบนั้น และหากราคาก๊าซถูกลงก็อาจจะเห็นแนวโน้มค่าไฟที่สามารถยืนระดับค่าไฟอยู่ในระดับ 4.18 บาทต่อหน่วยหรือลดลงได้ แต่การพิจารณาต้องดูปัจจัยต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะความเหมาะสมในการชำระหนี้คืนให้ กฟผ. และ ปตท.​ ซึ่งยอมรับว่า กฟผ. ช่วยแบกรับภาระส่วนนี้ให้กับประชาชนไว้ระดับหนึ่งแล้ว”

 

ค่าไฟงวดสุดท้ายปีนี้ตรึงต่อที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.-ปตท. รับภาระหนี้คงค้างรวม 1.1 แสนล้านบาท

 

แต่ถ้าจะคงตัวเลขนี้ไว้ อัตราการใช้หนี้ก็จะช้าลง และย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ด้วย ซึ่งต้องอย่าลืมว่าเราห้ามละเลยผู้ที่เคยช่วยเหลือเราไว้ 

 

ขณะที่สถานะก๊าซในแหล่งอ่าวไทยช่วงปลายปีนี้จะมีกำลังผลิตตามฐานปกติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และต้องติดตามว่าจะมีการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งถ่านหินและไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ได้มีมติจากที่ประชุม กกพ. ให้ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั่วประเทศที่เรียกเก็บกับประชาชน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงเรียกเก็บในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วยตามเดิม 

 

เบื้องต้นมีกำหนดชำระคืนหนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนหนึ่งประมาณ 3.2 พันล้านบาท ยังเหลือหนี้คงค้างที่ต้องทยอยชำระต่อไปอีกประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาท และหนี้คงค้างส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) ที่ยังไม่ได้ชำระคืนให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

 

ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้รวมหนี้คงค้างจาก กฟผ. และ ปตท. สะสมอยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising