×

การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย

16.08.2021
  • LOADING...
การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ

Government of the people, by the people, for the people, shall not perish from the earth – Abraham Lincoln


สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะเดียวกันก็มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนจัดสรรทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก่อนที่จะเป็นสหรัฐอเมริกาอย่างทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกาเคยเผชิญกับ ‘ทางแยก’ ประวัติศาสตร์มาก่อน สถานการณ์และทางเลือก ณ ทางแยกดังกล่าวกำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำกับรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลลัพธ์ที่ดีในปัจจุบัน


ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 1700 ณ เมืองเจมส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือรัฐเวอร์จิเนีย) มีชาวอังกฤษเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการเกษตร ในขณะนั้นมีบริษัทสัญชาติอังกฤษที่มีชื่อว่า The Virginia Company พยายามเข้ามาล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือ โดยใช้วิธีการล่าอาณานิคมที่เคยทำสำเร็จในการยึดเม็กซิโกและเปรู นั่นคือการยึดที่ดินมาเป็นของบริษัททั้งหมด และรวบรวมคนมาเป็นแรงงานภายใต้บริษัท คนไม่มีสิทธิ์ในที่ดินและได้รับค่าจ้างขูดรีด แต่เมืองเจมส์ทาวน์มีโครงสร้างประชากรและการถือครองที่ดินที่ไม่เอื้อให้การยึดได้ง่าย ประกอบกับการต่อต้านจากชาวอังกฤษที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม ทำให้บริษัท The Virginia Company ไม่สามารถผูกขาดที่ดินและทรัพยากรได้


บริษัท The Virginia Company เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยมอบที่ดินให้กับชาวอังกฤษในพื้นที่และจูงใจให้จ้างแรงงานเข้ามาเพิ่ม ทำให้ประชาชนมีสิทธิ์ในที่ดินและผลผลิตทางการเกษตร เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในเมืองเจมส์ทาวน์มีทุนทางเศรษฐกิจและมีอำนาจต่อรอง ซึ่งกำกับการร่างกฎหมายและการออกแบบสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นประชาชนสหรัฐฯ จึงมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ‘ด้วยตัวของเขาเอง…เพื่อตัวของเขาเอง’ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา การประกาศอิสรภาพ และวิวัฒน์มาเป็นระบบเศรษฐกิจ ‘เพื่อประชาชน’ ที่เราพบเห็นในปัจจุบัน


เรื่องราวของเมืองเจมส์ทาวน์บอกเราว่า ผลลัพธ์ของระบบเศรษฐกิจเป็นผลมาจากโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเกิดจากเงื่อนไขและ ‘ทางเลือก’ ในประวัติศาสตร์ของสังคม ประเทศไทยเองก็สามารถมีกลไกการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มี ‘ส่วนร่วม’ ได้ หากเรามองให้เห็นโครงสร้างที่ซ่อนอยู่และปฏิรูปโครงสร้างเหล่านั้นอย่างถูกต้อง การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมีประสิทธิภาพสูงและจะเห็นผลได้จริง หากเราสามารถผนวกมันเข้ากับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างกลมกลืน


ในบทความฉบับนี้เรามาพูดคุยกันถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทยกับการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะผ่านประวัติศาสตร์และข้อมูล… เรามาร่วมสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะสำหรับประเทศไทยกันครับ



การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะบนหน้าประวัติศาสตร์

 

ประวัติศาสตร์บอกเราว่ากลไกการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะมีวิธีการอยู่ 2 ลักษณะ คือ การใช้ระบบตลาดและการมอบหมายให้ ‘รัฐ’ เป็นตัวแทนจัดสรร (โดยในบทความนี้ รัฐ หมายถึง รัฐบาลและระบบราชการ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะ)


ระบบตลาดมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เกิดขึ้นตั้งแต่การแลกเปลี่ยนแบบของต่อของ (Barter System) ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่การกำหนด ‘พื้นที่’ แลกเปลี่ยนที่เป็นต้นกำเนิดของตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่เราเห็นในปัจจุบันเกิดขึ้นตั้งแต่อารยธรรมเปอร์เซีย 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากระบบตลาดเป็นพื้นฐานที่เอื้อให้หน่วยเศรษฐกิจได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการและทรัพยากรกัน ‘โดยตรง’ จึงมักจะมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร


เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ระบบตลาดสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ‘ความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร’ แต่ตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้ามักมีลักษณะทางกายภาพที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน และเมื่อพูดถึงทรัพยากรสาธารณะที่มีลักษณะพิเศษ ที่ไม่สามารถกีดกันไม่ให้คนอื่นมาร่วมกินร่วมใช้ได้ (Non-Excludability) และการกินการใช้ของเราก็ไม่กระทบของคนอื่นด้วย (Non-Rivalry) จึงทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะไม่แสดงความต้องการออกมาตามจริง ขณะเดียวกันสินค้าสาธารณะบางประเภทที่ใช้ร่วมกัน อาทิ เสาไฟฟ้าหรือฝายชุมชน เมื่อจะจัดหา คนในท้องถิ่นต้องตัดสินใจร่วมกัน (Collective Action) เนื่องจากตลาดไม่เอื้อต่อการจัดสรรสินค้าและบริการที่มีลักษณะพิเศษเหล่านี้ ตลาดจึงจัดสรรทรัพยากรสาธารณะได้อย่างจำกัด


ข้อจำกัดของระบบตลาดทำให้เกิดระบบการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ‘ผ่านตัวแทน’ ซึ่งวิวัฒน์มาเป็น ‘รัฐ’ โดยมีต้นกำเนิดที่เก่าแก่ไม่ต่างจากระบบตลาด โดยมีหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ว่าชุมชนที่มีการก่อตั้งรัฐตัวแทนเป็นแห่งแรกในโลกเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 5,000 ปีก่อนคริสตกาล [i] ในอดีต คนมอบหมายให้รัฐเป็นตัวแทนในการจัดการความขัดแย้งภายในกลุ่ม หรือเป็นตัวแทนของกลุ่มเพื่อจัดการความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของสินค้าสาธารณะ รัฐมีบทบาทมากขึ้นในยุคสมัยที่สังคมเริ่มพัฒนาไปเป็นเมืองและเกิดการรุกรานระหว่างเมือง เช่น อารยธรรมอียิปต์โบราณหรืออารยธรรมโรมัน ในยุคสมัยดังกล่าว สินค้าสาธารณะคือความมั่นคงในชีวิตจากการจัดสรรกำลังพลเพื่อทำสงคราม และเมื่อเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ความต้องการทรัพยากรสาธารณะจึงเปลี่ยนจากความมั่นคงในชีวิตไปเป็นความมั่นคงในทรัพย์สินหรือความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงผันตัวมาเป็นผู้จัดหาระบบสาธารณูปโภคและเป็นตัวแทนในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะผ่านรัฐก็มีข้อจำกัด กล่าวคือ การจัดสรรอาจจะไม่สัมฤทธิ์ผลดีที่สุด หาก ‘ชุดข้อมูลความต้องการ’ ของคนในสังคมถูกส่งผ่านไปยังตัวแทนอย่างไม่สมบูรณ์ (ซึ่งเกิดได้จากทั้งปัญหาของระบบของการส่งผ่านข้อมูลเอง หรืออาจถูกบิดเบือนด้วยความตั้งใจเพื่อประโยชน์อื่น) ปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นตามระดับความไม่สมมาตรทางข้อมูลระหว่างคนและตัวแทน เช่น คนอาจไม่มีกลไกหรือเครื่องมือที่จะติดตามการทำงานของรัฐ หรือไม่มีพื้นที่ให้คนกับรัฐสื่อสารกันแบบสองทาง เป็นต้น


เนื่องจากระบบตลาดและระบบตัวแทนผ่านรัฐต่างมีข้อจำกัดคนละแบบ สังคมจึงเลือกใช้ทั้งสองระบบ โดยจะใช้มากหรือน้อยขึ้นกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งเปลี่ยนไปตามพื้นที่และเวลา สำหรับประเทศไทย เราพบเห็นทั้งการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะผ่านรัฐ เช่น การก่อสร้างระบบน้ำ ไฟ และการคมนาคม ในขณะเดียวกันเราก็พบเห็นการจัดสรรแบบตลาดผ่านสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น เช่น ทำบุญให้วัด แล้ววัดนำเงินไปจัดหาการศึกษาให้กับเด็กในท้องถิ่น หรือการที่บุคคลต่างๆ ออกมาระดมเงินบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการระบาดของโคโรนาไวรัส เป็นต้น กลไกทางสังคมเหล่านี้แท้ที่จริงแล้วก็คือตลาด หรือ ‘แพลตฟอร์ม’ ในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะเช่นกัน


ถึงตรงนี้เราจะพบว่า 1. กลไกการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่ดีต้องอาศัยความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะผ่านระบบตลาด หรือผ่านระบบตัวแทน ‘รัฐ’ 2. กลไกการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลา 3. กลไกที่ดีที่สุดในแต่ละบริบทจะสะท้อนความต้องการทรัพยากรสาธารณะ เมื่อกลไกหนึ่งอ่อนแรง คนในระบบเศรษฐกิจจะร่วมกันผลักดันให้เกิดกลไกใหม่ขึ้นมาชดเชย และกลไกนั้นจะกลายเป็นการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ‘ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน’


การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่ดีมาจากระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคมที่มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม


ประวัติศาสตร์ข้างต้นบอกถึงกลไลการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงของการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะดังกล่าว?

บทความฉบับที่แล้วเราได้พูดคุยกันว่าการจัดทรัพยากรสาธารณะที่ดีคือการจัดสรรที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ นั่นคือสามารถจัดสรรได้จริง ณ ต้นทุนที่คุ้มค่าและ ‘เท่าเทียม’ นั่นคือคนในระบบเศรษฐกิจมีโอกาสได้รับทรัพยากรสาธารณะอย่างทั่วถึง แล้วโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจแบบใดที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่ดี? เศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันอธิบายว่า การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะขึ้นกับ ‘โครงสร้างทางเศรษฐกิจ’ และ ‘โครงสร้างทางสังคม’ ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงสถาบันที่กำหนดรูปแบบของการจัดสรรและแลกเปลี่ยนทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ในบทความนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ หมายถึง โครงสร้างเชิงสถาบันที่ ‘กำกับวิธีการและผลลัพธ์’ ของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น เราสามารถซื้อขายสินค้ากันอย่างมั่นใจภายใต้กฎหมายที่ปกป้องและบังคับใช้สัญญาทางธุรกิจ ขณะที่ท่านสามารถลงทุนอย่างมั่นใจหากมีกฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นต้น ในขณะที่โครงสร้างทางสังคมหมายถึงโครงสร้างเชิงสถาบันที่กำกับการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม เช่น สิทธิและหน้าที่พลเมือง และการกระจายอำนาจทางการสังคม เศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันอธิบายไว้ว่าโครงสร้างทั้งสองนี้ส่งเสริมกัน


โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีต่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะมีลักษณะสำคัญสองประการ ประการแรก คือ โครงสร้างที่เอื้อให้กลไกในการจัดสรรทรัพยากรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ โครงสร้างให้อำนาจในการคิดและตัดสินใจ และให้เครื่องมือกับกลไกอย่างเพียงพอ เพื่อให้กลไกบรรลุเป้าหมายในการจัดสรรอย่างตรงเป้าและคุ้มทุน ในประเทศส่วนใหญ่ที่รัฐเป็นกลไกตัวแทนในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ โครงสร้างที่ดีคือกฎหมาย กฎระเบียบ และบรรทัดฐานทางสังคมที่มอบอำนาจและความไว้วางใจให้กับรัฐ ตลอดจนระบบภาษี การเบิกจ่าย และระบบราชการที่คล่องตัว


ประการที่สอง คือ โครงสร้างที่สนับสนุนให้คนในระบบเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึง นั่นคือคนในระบบเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในการเลือกว่าจะจัดสรรทรัพยากรสาธารณะประเภทใด อย่างไร และด้วยวิธีใด เมื่อโครงสร้างเอื้อให้คนมีส่วนร่วม คนจะมีโอกาสแสดงความต้องการ และกลไกจะตอบสนองความต้องการอย่างทั่วถึง โครงสร้างที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมจึงเป็นกุญแจไปสู่การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่เท่าเทียม


Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันจาก Massachusetts Institute of Technology ใช้ลักษณะสำคัญสองประการข้างต้นเป็นเกณฑ์แบ่งสังคมในโลกออกเป็นสามประเภท (ตามรูปที่ 1)

การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ

รูปที่ 1 สังคมแบ่งตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งเสริมประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ

อ้างอิง: https://thedocs.worldbank.org/en/doc/991631459795243817-0050022016/original/DECLectureDaronAcemogluPresentation.pdf



สังคมประเภทที่หนึ่ง มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อให้เกิดกลไกการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม ตัวอย่างที่โดดเด่นของสังคมประเภทนี้ในหน้าประวัติศาสตร์ ได้แก่ อารยธรรมกรีกโบราณ เศรษฐกิจและสังคมกรีกเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะในด้านการจัดหาระบบสาธารณูปโภคและการศึกษาอย่างทั่วถึง นักสังคมศาสตร์ Ian Morris และ Josh Ober อธิบายว่า จุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองของกรีกคือการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคมในปี 594 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเพื่อกระจายที่ดินให้กับประชาชน การก่อตั้งสภาตัวแทนและคณะลูกขุนที่มาจากทุกชนเผ่าในเอเธนส์ ส่งผลให้การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองมีส่วนร่วมขึ้น (รูปที่ 2)

 

การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ
รูปที่ 2 ป้ายโลหะแสดงชื่อของลูกขุนและลูกบอลโลหะสำหรับสุ่มเลือกลูกขุนขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่
อ้างอิง: https://www.worldhistory.org/image/4521/bronze-pinakia/



สังคมประเภทที่สอง มีกลไกการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ แต่ขาดการมีส่วนร่วม มักปรากฏอยู่ในรูปแบบของประเทศที่มีการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งทำให้ผู้รวมอำนาจมีพลังและเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ไม่ได้มีแรงจูงใจในการกระจายผลประโยชน์จากการจัดสรรทรัพยากรให้กับคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ประเทศเติบโตได้ แต่มีการกระจุกตัวในรายได้ของคนในสังคม



สังคมประเภทที่สาม มีโครงสร้างทางสังคมที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างสูง แต่ขาดกลไกในการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่โด่งดังคือสังคม Tivland ประเทศไนจีเรียในปี 1939 โดย Tivland มีลัทธิความเชื่อที่ชื่อว่า Nyambua ซึ่งปลูกฝังให้สังคมไม่ยอมรับคนที่มีอำนาจ จึงต่อต้านใครก็ตามที่สะสมอำนาจคล้ายกับการล่าแม่มด ความเชื่อดังกล่าวทำให้สังคม Tivland มีความเท่าเทียมกันสูงทั้งในแง่ของฐานะทางเศรษฐกิจและฐานะทางสังคม แต่ไม่มีคนที่ได้รับความไว้วางใจเป็นตัวแทนในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างจำกัด


Acemoglu อธิบายว่า สังคมจะจัดสรรทรัพยากรสาธารณะได้ดี หากสามารถวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมให้เหมือนกับสังคมประเภทที่หนึ่ง การเติบโตนั้นจะยั่งยืนหากโครงสร้างดังกล่าวช่วยสร้าง ‘สมดุลระหว่างกลไกที่มีประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วม’ จากรูปที่ 1 สังคมที่สร้างสมดุลได้จะขยับตามลูกศรสีเขียวขึ้นไปทางขวาบนของรูป ส่งผลให้ทรัพยากรกระจายไปยังคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง



ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคมที่มีประสิทธิภาพ แต่ขาดการมีส่วนร่วม


แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหน? ประเทศที่มีประสิทธิภาพสะท้อนได้จากปริมาณและคุณภาพของสินค้าสาธารณะและความสามารถในการจัดการความขัดแย้งภายใน สิ่งดังกล่าววัดได้จากดัชนี State Fragility Index [ii] สำหรับการมีส่วนร่วมของคนในระบบเศรษฐกิจในการตัดสินใจเกี่ยวกับงานสาธารณะวัดได้จากดัชนี Participatory Democracy Index [iii][1] ผมทาบดัชนีทั้งสองลงบนแกนของแผนภาพในรูปที่ 1 เพื่อเปรียบเทียบแนวคิดกับข้อมูลจริง

การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ

รูปที่ 3 ประเทศแบ่งตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งเสริมประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ (2017)

อ้างอิง: Quality of Government Basic Dataset 2021, Center of Systemic Peace และ University of Gothenberg



จากรูปที่ 3 เราพบว่าประเทศที่จัดเป็นสังคมประเภทที่ 1 (บนขวา) คือประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และสเปน เป็นต้น ประเทศกลุ่มนี้มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสูงในการจัดสรรทรัพยากรนั้น สำหรับประเทศที่จัดเป็นสังคมประเทศที่ 2 ส่วนมากจะเป็นประเทศสังคมนิยม เช่น จีน หรือประเทศในแถบตะวันออกกลาง ขณะที่ไม่มีประเทศที่จัดเป็นสังคมประเภทที่ 3 อย่างเด่นชัด



สำหรับไทยแล้ว ผลปรากฏว่าเราเป็นประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อให้กลไกจัดสรรทรัพยากรสาธารณะได้ที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ (ค่อนไปทางด้านบนของแผนภาพ) แต่ระดับการมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย (ค่อนมาทางด้านซ้ายของแผนภาพ) ข้อสังเกตนี้เด่นชัดขึ้นเมื่อเราวัดการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจผ่านดัชนีที่สะท้อนความเท่าเทียมทางด้านโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ การศึกษาและการจ้างงาน จาก Bertelsmann Transformation Index ที่จัดทำโดยสถาบัน Bertelsmann Stiftung ประเทศเยอรมนี พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 95 จาก 136 ประเทศ ข้อเท็จจริงดังกล่าวบ่งชี้ว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบันสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้กระจายออกไปอย่างทั่วถึง



โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยแตกต่างจากประเทศในกลุ่มบนขวาอย่างไร? คำถามนี้มีหลายคำตอบ แต่คำตอบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นจากหน้าประวัติศาสตร์คือความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม แม้เราไม่มีดัชนีที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารโดยตรง แต่ก็สามารถอนุมานได้จากความเข้มข้นของการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการ ข้อมูลจาก Global Competitiveness Index ของ World Economic Forum ในปี 2019 ชี้ว่า ไทยมีระดับการแข่งขันในตลาดสินค้า (สะท้อนจากส่วนกลับของอำนาจตลาดของเจ้าตลาด) อยู่อันดับที่ 85 จาก 141 ประเทศตัวอย่าง ขณะที่ระดับการแข่งขันในตลาดบริการอยู่อันดับที่ 52 จาก 141 ประเทศตัวอย่าง สำหรับการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินกิจการของรัฐ ดัชนีระดับการเปิดเผยข้อมูล (Information Transparency) และดัชนีความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Accountability Transparency) ในปี 2010 ที่จัดทำโดยนักเศรษฐศาสตร์จาก University of Western Australia ระบุว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 50 และ 100 จาก 136 ประเทศตามลำดับ



ประวัติศาสตร์บอกเราว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและการกระจายการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะน่าจะมีความสัมพันธ์กับความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลเท็จจริงยังบ่งชี้ว่าการเพิ่มความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยอาจเป็นคำตอบในการปรับโครงสร้างเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่ดีขึ้น

…และแพลตฟอร์มดิจิทัลอาจเป็นเครื่องมือที่จะพาไทยไปสู่จุดนั้นได้



แพลตฟอร์มเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย


เราได้พูดคุยกันไปบ้างแล้วในบทความก่อนหน้า (ตอนที่ 1 และตอนที่ 2) ว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลสร้างพื้นที่เสมือนจริงขึ้นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย ‘ร่วมกัน’ บนพื้นที่นี้ได้อย่างเปิดกว้างและทั่วถึง อาทิ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (เช่น แพลตฟอร์ม E-Commerce) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางสังคมและวัฒนธรรม (เช่น Clubhouse) หรือแม้กระทั่งการตกลงเพื่อใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จาก Sharing Economy และ Gig Economy รูปแบบต่างๆ



ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการสาธารณะ จากแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการข้อมูลสำมะโนประชากรแบบเปิด (เช่น E-Government ของเอสโตเนีย) ไปจนถึงแพลตฟอร์มเพื่อเปิดรับความคิดเห็นของคนในระบบเศรษฐกิจต่อการจัดสรรงบประมาณท้องถิ่น (เช่น Decidim ของสเปน) ซึ่งเป็นปฏิรูปรูปแบบการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ‘จากบนลงล่าง’



มากไปกว่านั้น… แพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถทำหน้าที่เป็น ‘เครื่องขยายเสียง’ ที่มีพลัง มีประสิทธิภาพ และมีขอบเขตของการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่กว้างขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ โดยประชาชนสามารถกำหนดเป้าหมายและมรรควิธีของการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะด้วยตนเอง ในลักษณะ ‘จากล่างขึ้นบน’ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของ Mask Coronavirus Brussels ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและจัดส่งหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาลและบ้านเรือนที่ขาดแคลน



ประเทศไทยเองก็มีแพลตฟอร์มเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่สร้างจากล่างขึ้นบนอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เราพบเห็นแพลตฟอร์มที่ประสานความช่วยเหลือให้กับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ผมขอยกตัวอย่างของแพลตฟอร์ม ‘ปันอิ่ม’ (https://www.facebook.com/pannimm/)



ปันอิ่มเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประชาชนที่ขาดรายได้ และผู้ใจบุญที่อยากให้เงินทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ผู้ใจบุญสามารถซื้ออาหารกับร้านค้า และฝากให้ร้านค้าส่งต่ออาหารต่อให้ประชาชนที่ขาดรายได้ ดังที่ปันอิ่มอธิบายถึงตัวเองไว้ว่า ‘…เป็นโครงการช่วยเหลือสองต่อ คือช่วยร้านอาหารที่ยอดขายตก ให้พอขายได้และอยู่รอด กับช่วยคนที่ลำบากให้มีข้าวกิน…’



จากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ปันอิ่มคือแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อความต้องการ ‘ให้ความช่วยเหลือ’ ของคนในสังคม ส่งต่อไปยังความต้องการ ‘รับความช่วยเหลือ’ ของร้านอาหารและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ปันอิ่มเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้รับและผู้ให้ นำไปสู่การแลกเปลี่ยน ‘ความช่วยเหลือ’ ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะรูปแบบหนึ่ง



ในเบื้องหลัง ปันอิ่มเกิดขึ้นจากทีมงานที่เป็นประชาชนคนธรรมดาเพียงไม่กี่คน พวกเขามองเห็นความต้องการของผู้รับและผู้ให้ท่ามกลางวิกฤตโควิด จึงใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเป็น ‘ตัวกลาง’ เชื่อมต่อโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้ ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มปันอิ่มได้อย่างเท่าเทียมกัน



นอกจากนี้ปันอิ่มยังทำให้เราเห็นถึงพลังใน ‘การขยายเสียง’ ของแพลตฟอร์มดิจิทัล จากเดิมที่การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะโดยประชาชนเกิดขึ้นในระดับชุมชนหรือท้องถิ่นเล็กๆ แพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยขยายขอบเขตของการจัดสรร ดังจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เวลาใด ก็สามารถร่วมทำบุญกับปันอิ่มได้สะดวก ขณะที่ความช่วยเหลือกระจายออกไปได้กว้างขึ้นและเข้าถึงคนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นกว่าเดิม



จากตัวอย่างของ ‘ปันอิ่ม’ ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนสำคัญก็คือบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทย คนไทยมีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจและไม่ชอบความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันสถาบันศาสนาก็หล่อหลอมให้คนไทยเป็นผู้ให้ คนไทยจึงมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนที่มีสถานะด้อยกว่าหรือลำบากกว่าเสมอ บริบทนี้เอื้อให้เกิดกลไกการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะโดยประชาชนในไทย

แพลตฟอร์มเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะโดยประชาชนเป็นเครื่องมือที่ขยายผลของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไปสู่การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและมีขอบเขตกว้างขวางขึ้น ความโปร่งใสของแพลตฟอร์มดิจิทัลยังทำให้คนมองเห็นผลลัพธ์ของการช่วยเหลือได้ชัดเจนขึ้น สอดรับกับองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่คนไทยชอบทำบุญที่เห็นผลทันที ดังนั้นการมองเห็นว่าความช่วยเหลือมีคุณค่าและเห็นผลจะจูงใจให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น



ดังนั้น ภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย เราสามารถออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินนโยบายสาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของไทย



แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะสำหรับประเทศไทย


แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะเป็นส่วนผสมที่สอดรับกันระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย บทความตลอดสามฉบับที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกันถึงศักยภาพของแพลตฟอร์ม ระบบนิเวศของแพลตฟอร์ม และจบท้ายด้วยบริบทของไทย



…และนี่คือ ‘ทางแยก’ ของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่เราจะต้องเลือกเขียนขึ้นเพื่อกำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม เรามาช่วยกันออกแบบและลงมือสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะสำหรับประเทศไทย เพื่อให้แพลตฟอร์มนั้นเป็น ‘แพลตฟอร์มของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน’

 

[1] ข้อมูล Participatory Democracy Index จัดทำโดย University of Gothenburg ประเทศสวีเดน

 

[i] จากหนังสือ Maps of Time แต่งโดย David Christian (2004)

[ii] ข้อมูล State Fragility Index จัดทำโดย Center of Systemic Peace ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยดัชนีประสิทธิภาพคำนวณจากส่วนกลับของค่าดัชนี State Fragility Index

[iii] ข้อมูล Participatory Democracy Index จัดทำโดย University of Gothenburg ประเทศสวีเดน

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X