กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกสำคัญในการรักษาสมดุลราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้ผันผวนจนกระทบกับค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนสินค้ามากจนเกินไป ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะรับภาระหนักในการควักเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อพยุงไม่ให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นไปมากนัก
ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบ้านเรายังต้องทำหน้าที่อุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซหุงต้ม (LPG) ด้วย ซึ่งไม่ได้ทำแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ทำมายาวติดต่อกันหลายปีแล้ว
สำหรับในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจนหลังเผชิญวิกฤตโควิด รวมไปถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก ประกอบกับปัญหาพายุในสหรัฐฯ ทำให้การผลิตน้ำมันบางส่วนต้องหยุดชะงักลง และที่สำคัญกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันจึงอยู่ในทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจน
โดย ณ วันที่ 17 กันยายน 2564 น้ำมันดิบดูไบแตะ 73.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เบรนท์ 75.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเวสต์เท็กซัส 71.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเอทานอลและไบโอดีเซลก็มีราคาสูงเหมือนกัน ในขณะที่ Goldman Sachs เองก็ออกมาคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปีนี้มีโอกาสพุ่งขึ้นแตะระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ LPG ตลาดโลกก็พุ่งตามๆ กัน เฉลี่ยทั้งปี 2564 ปรับสูงกว่า 600 ดอลลาร์ต่อตัน จากราคาเฉลี่ยปกติประมาณ 300-400 ดอลลาร์ต่อตัน เนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้หลายประเทศมีสภาพอากาศหนาวที่ยาวนานมากขึ้น ความต้องการใช้ LPG จึงพุ่งสูงตาม รวมถึงมีการใช้มากขึ้นในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีผลิตพลาสติก เป็นต้น
ที่ผ่านมาในส่วนของน้ำมันยังใช้วิธีเฉลี่ยราคาได้ตามจังหวะราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นลง แต่สำหรับ LPG แล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะปรับราคา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ล่าสุด กบง. มีมติขยายเวลาการตรึงราคาต่อไปอีกถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565
มากไปกว่านั้น หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังพุ่งต่อเนื่องไม่หยุด หนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะต้องเข้าตรึงราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (B10) เพราะหากปล่อยให้ราคาพุ่งทะลุระดับ 30 บาทต่อลิตรเมื่อไร มักจะมีประเด็นให้รัฐบาลถูกโจมตี ดังนั้น ตัวเลขราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร จึงถือเป็นเส้นอันตรายทางการเมืองไปแล้ว
การปล่อยให้ราคาพลังงานในบ้านเราปรับตัวเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลกจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากเย็น ดังนั้น ‘เงินกองทุนน้ำมัน’ จึงมีแต่จะไหลออก ซึ่งการอุดหนุนในเวลานี้ตัวเลขเฉลี่ยต่อเดือนขึ้นมาอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย
แบ่งเป็นการอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 2.28 บาท, E85 ลิตรละ 7.13 บาท, ดีเซล B10 ชดเชยอยู่ที่ลิตร 2.50 บาท และดีเซล B20 ชดเชยอยู่ที่ลิตรละ 4.16 บาทต่อลิตร และตรึง LPG ให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งจะทำต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565
ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สุทธิ ณ วันที่ 19 กันยายน 2564 อยู่ที่ 11,857 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของน้ำมัน 29,040 ล้านบาท และ LPG ซึ่งติดลบ 17,183 ล้านบาท
ล่าสุดกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่า ด้วยสถานะเงินกองทุนที่มีอยู่ เทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ดูแล้วคงไปไม่รอด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จึงอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางขอกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม วงเงินตามกรอบไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเวลานี้มีแต่จะหร่อยหรอลงเรื่อยๆ และระดับเงินกองทุนในปัจจุบันก็คงไม่สามารถชดเชยราคาไปได้จนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้น การเติมเงินเข้ากองทุนผ่านการกู้ยืมจึงน่าจะเป็นทางออกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP