×

‘โครงการจดหมายลาครู’ เครื่องมือ ‘ค้นหา’ เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาที่เกือบจะไม่มีใคร ‘มองเห็น’ ให้พวกเขาได้เห็นอนาคตตัวเองอีกครั้ง

โดย THE STANDARD TEAM
18.07.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • โครงการจดหมายลาครู หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนวาระทางสังคมของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่สนับสนุนให้ครูเข้าไปมองหาเด็กๆ ที่ไม่มีใครมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเขาและครอบครัว และกำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ได้มีโอกาสกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง 
  • ก่อนหน้าที่จะมี กสศ. กระทรวงศึกษาธิการมีเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนสำหรับเด็กประถมศึกษา 1,000 บาทต่อปี และมัธยมศึกษาตอนต้น 3,000 บาทต่อปี ซึ่งไม่เคยได้เพิ่มมามากกว่า 10 ปีแล้ว คิดเป็นต่อวันเรียนแล้วเพียง 5-15 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
  • เมื่อเกิด กสศ. เราจึงเข้ามาร่วมสนับสนุนการคัดกรองความยากจนให้สามารถทำได้เป็นรายบุคคลได้เป็นครั้งแรก และได้สนับสนุนเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษอีกปีละ 1,600 บาท เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา และได้เสนอรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรขอปรับเพิ่มให้นักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อปี ทั้งเด็กประถมศึกษาและเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น  
  • ในปีการศึกษา 2562 นี้ ครูกว่า 400,000 คนทั่วประเทศใช้ระบบ iSEE เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EdTech) ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนยากจนมากกว่า 2,000,000 คน จุดประกายเรื่องราวดีๆ มากมาย ทั้งของเด็กและครอบครัว พร้อมปล่อยพลังของคุณครูฮีโร่ในสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. จำนวนมาก ที่ช่วยออกค้นหาและคัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

“จำนวนเด็กยากจนพิเศษและเด็กยากจนทั่วไปตอนนี้ในประเทศไทยมีประมาณ 1.7 ล้านคน นี่เป็นตัวเลขจาก สพฐ. อย่างเดียว ถ้ารวมสังกัด ตชด. อปท. ตัวเลขอาจไปแตะที่ 2 ล้านคนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีเด็กยากจนพิเศษอยู่ประมาณ 30%” ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยข้อมูลให้ THE STANDARD ฟัง

แต่ตัวเลขข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ หากวันหนึ่งเสาหลักของครอบครัวล้มลง ไม่มีรายได้หลักจุนเจือครอบครัว นั่นหมายความว่าแม้แต่เด็กฐานะทางบ้านปกติก็อาจจะกลายไปเป็นเด็กยากจนได้ชั่วข้ามคืน ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบอะไรกับเรา?

เด็กจำนวนหนึ่งที่หลุดออกจากระบบการศึกษาคงไม่สร้างผลกระทบแก่เศรษฐกิจของประเทศเพียงชั่วข้ามคืน แต่ในระยะยาวปัญหานี้จะสะสมและส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างต่อกลุ่มประชากรวัยแรงงาน ที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของกำลังคน ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยใช้เวลามากขึ้นกว่าประเทศเพื่อนบ้านในการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นกองทุนที่มีภารกิจช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยทำงาน เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหานี้และความเชื่อมโยงต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เชื่อว่าระบบการศึกษาถ้าจะเป็นระบบที่เสมอภาคจริงๆ ต้องค้นหาเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือและสามารถช่วยเขาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็ก ครู โรงเรียน สู้กับอุปสรรค ดึงเด็กกลับมาเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ และได้รับโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาไปให้สุดทางตามศักยภาพของเขาได้อย่างเต็มที่ โดยกองทุนช่วยสนับสนุนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน



จาก ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ เดินหน้าสู่ ‘โครงการจดหมายลาครู’
ดร.ไกรยส บอกกับ THE STANDARD ว่า “โครงการจดหมายลาครูทำเพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะไม่มีจดหมายแบบนี้อีกแล้ว ถ้าเรื่องราวเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากสังคมอย่างเต็มที่

“ตอนจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขึ้นมา เรามีความหวังว่ากองทุนนี้จะสามารถทำงานไปจนถึงเด็กและเยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาสทั่วประเทศ จากการประเมินของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เมื่อปี 2560-2561 พบว่ามีกลุ่มเป้าหมายของกองทุนอยู่ประมาณ 4 ล้านคน เป็นเด็กยากจนในระบบการศึกษาอยู่ 2 ล้านคน ซึ่งเด็ก 2 ล้านคนนี้ ลำพังองค์กรที่เพิ่งตั้งใหม่กับคนทำงานเพียง 20-30 คน จะไปทำงานหาเด็ก 2 ล้านกว่าคนเจอได้อย่างไร ถ้าเราทำเองก็คงยากมาก จนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เราจึงหาวิธีที่จะทำงานกับเด็กเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เพียงครั้งแรกที่ไปเจอตัวเขา แต่ต้องมีความยั่งยืนที่จะทำงานกับเด็กเหล่านี้ไปได้ยาวๆ ในพื้นที่ ปรากฏว่าคำตอบก็อยู่ไม่ไกลจากเราก็คือ ‘ครู’ ที่สอนเด็กเหล่านี้อยู่แล้ว

“ครูประจำชั้นของเด็กเหล่านี้คือคนสำคัญของเรา ครูสามารถช่วยให้เราค้นหาเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสจริงๆ ได้ และครูยังช่วยดูแลเด็กๆ เหล่านี้ไปจนจบการศึกษา ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร ครูจึงเป็นภาคีหลักในช่วงเริ่มต้น

“เราเข้าไปปรึกษากับกระทรวงศึกษาธิการว่า มันมีปฏิทินการทำงานกับคุณครูอย่างไรในแต่ละปี ที่จะช่วยให้เราสามารถค้นหาเด็กยากจนเจอบ้าง ทางกระทรวงศึกษาธิการก็บอกว่า ทุกช่วงเปิดเทอมกรกฎาคมถึงสิงหาคม จะเป็นช่วงที่เด็กใหม่เข้ามาหรือเด็กย้ายออก ครูต้องไปเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อไปดูว่าสภาพบ้านเด็กเป็นอย่างไร ครอบครัวเป็นอย่างไร ตัวเด็กเป็นอย่างไร เราก็พบว่านี่เป็นจุดสำคัญที่เราจะฝากเครื่องมือในการคัดกรองความยากจนไปกับครูได้ 

  


 

“ตอนแรกคิดว่าการเยี่ยมบ้านเด็กไม่ได้ยุ่งยากอะไร โดยเฉพาะต่างจังหวัด โรงเรียนก็อยู่ใกล้บ้าน ที่ไหนได้ พอปฏิบัติงานจริง เราได้ฟีดแบ็กจากครูว่ามันไม่ง่ายเลย บางคนบ้านไกลมาก ครูผู้หญิงบางคนเพิ่งบรรจุใหม่ ต้องไปเยี่ยมเด็กในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็รู้สึกกังวลว่าจะไม่ปลอดภัย แม้แต่ครูบางคนต้องขับมอเตอร์ไซค์ขึ้นดอยในช่วงหน้าฝนที่ทางลำบากมาก เราเริ่มได้ยินเรื่องราวแบบนี้เข้ามาเรื่อยๆ จากการเยี่ยมบ้าน เราจึงเริ่มคิดที่จะลองใช้จุดนี้มาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ถึงความเสียสละจากการทำภารกิจนี้ของครูทั่วประเทศ” 

 



จากหนึ่งจดหมายลาครู สู่การตามหาเด็กนับล้านที่กำลังจะหันหลังให้กับ ‘ความฝัน’

“นอกจากเราต้องพึ่งพาครู เรายังอยากจะเชิดชูความตั้งใจทำงานของครูที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อให้เด็กของเขามีโอกาสที่เสมอภาคที่จะไปให้ถึงการศึกษาขั้นสูงสุดตามที่เราทุกคนฝากความหวังไว้ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มันก็เป็นที่มาที่ฝ่ายสื่อสารสาธารณะปะติดปะต่อเรื่องราวที่ได้ฟีดแบ็กมาจากครู จากฝ่ายวิชาการ รวบรวมออกมาเป็น ‘โครงการจดหมายลาครู’ มีครูบางคนที่ได้จดหมายลักษณะนี้จริงๆ สิ่งหนึ่งที่เด็กกังวลคือ ถ้าเขาขาดเรียนนานๆ จะหมดสิทธิ์สอบ จะหมดสิทธิ์เลื่อนชั้น ก็จะเขียนโน้ตบอกครู มันเป็นความสะเทือนใจจากการได้เห็นโน้ตที่เด็กเขียน

“พอเราเอาตรงนั้นมาเป็นจุดเริ่มต้น ก็พยายามค้นหาว่ามีเคสแบบนี้เยอะแค่ไหน จนพบว่ามีเยอะมาก และหลายๆ เคสเด็กบางคนไม่มีโอกาสเขียนจดหมายลาครู แต่ออกไปเลยก็มี เลยคิดว่านี่เป็นโครงการที่เราน่าจะสื่อสารออกไปให้สังคมเข้าใจว่า ยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังต้องตอบคำถามง่ายๆ ในแต่ละวันว่าจะยังไปโรงเรียนอยู่หรือเปล่า และเรียนได้ถึงชั้นไหน ถ้าเด็กถึงวัยที่เขาพร้อมจะทำงานหนักได้ พ่อแม่เขาไม่รู้จะอาศัยใครมาช่วยทำมาหากิน ก็ไม่พ้นให้ลูกออกมาช่วย บางเคสพ่อแม่ต้องไปรักษาตัว ลูกก็ต้องก้าวเข้ามาเป็นเสาหลักของครอบครัว บางคนอายุ 15 ต้องเป็นเสาหลักของครอบครัวแล้ว”

จุดประสงค์ของโครงการจดหมายลาครูคือต้องการให้สังคมเห็นว่า “มีเด็กจำนวนมากที่ต้องยอมทิ้งความฝันของเขาแล้วก้าวขึ้นมาทำภารกิจใช้แรงงานที่เกินอายุ เกินความรับผิดชอบในช่วงวัยที่ควรจะโฟกัสกับการเรียนเพื่ออนาคต เพื่อความฝันของเขาที่อยากจะเป็นหมอ อยากเป็นนักบิน หรืออยากเป็นครู

“ที่สำคัญเราอยากให้สังคมเห็นว่า จิตวิญญาณของความเป็นครูแสดงออกมาได้ผ่านการทำงานตรงนี้ ถ้าครูมีขวัญกำลังใจ สังคมให้การสนับสนุน เราก็เชื่อว่าครูจะช่วยทำภารกิจการเยี่ยมบ้านนี้ได้อย่างเต็มที่และมีกำลังใจ ไม่ได้ทำเหมือนเป็นอีกหนึ่งภาระงาน เป็นส่วนหนึ่งของการดูแล ผลต่อไปก็จะไปสู่เด็กและครอบครัว”

 


เด็กต้องรับความช่วยเหลืออย่าง ‘เสมอภาค’ ไม่ใช่ได้รับการช่วยเหลือ ‘เท่ากัน’
“จากข้อมูลเราพบว่า เด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบส่วนมากเป็นเด็กภาคเหนือและภาคอีสาน ถ้าดูตามแผนที่ของระบบ iSEE มันจะมีความกระจุกตัวของความยากจน จะมีจน 2 ระดับคือ จนระดับทั่วไป รายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน กับจนแบบพิเศษ คือต่ำกว่า 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน พอเราดูตัวเลขจะพบว่า ระดับความยากจนทั่วไปจะอยู่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ ปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง ที่ดินทำกิน หรือรายได้ที่ไม่พอเพียง การมีรายได้ที่ไม่ต่อเนื่อง คนที่การศึกษาไม่สูงนัก อาชีพค้าขายเป็นอาชีพเดียวที่เขาจะหวังพึ่งได้

“ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกจะพบระดับความยากจนพิเศษ เขาเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และจะต้องเข้าไปอยู่ในที่ลึกมาก เงินแทบจะซื้ออะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นเงินมันไม่มีเลย บางทีลงมาโรงพยาบาลเขาก็จ่ายเป็นข้าวสาร ประชาชนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนบนพื้นที่สูงจึงยากจนพิเศษ ระบบ iSEE เป็นเครื่องมือช่วยติดตาม ค้นหา และช่วยเหลือเด็กๆ พร้อมพลังของคุณครูฮีโร่ในสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. มากกว่า 400,000 คน ที่ออกค้นหาและคัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

“ดังนั้นการช่วยเหลือจึงต้องเป็นไปด้วยความ ‘เสมอภาค’ ไม่ใช่ให้การช่วยเหลือ ‘เท่ากัน’ นี่คือคอนเซปต์ที่ทางกองทุนพยายามสื่อสารกันอยู่ เด็กแต่ละคนต้นทุนไม่เท่ากัน เด็กเกิดที่แม่ฮ่องสอน เด็กเกิดที่กรุงเทพฯ เด็กเกิดที่ขอนแก่น ต้นทุนไม่เท่ากัน แต่ระบบจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันมันมีกรอบการจัดสรรที่ต้องเท่ากัน เลยเกิดคำถามว่ามันสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า แต่ประเด็นสภาพความเป็นจริงต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน ไม่ใช่ไม่เท่ากันอย่างเดียว แต่ห่างกันมาก พอห่างกันมากแต่เราเอาเงินที่เท่ากันไปให้ ความเหลื่อมล้ำไม่หายไป ก็ในเมื่อต้นทุนเดิมก่อนจะได้เงินมันห่างอยู่แล้ว แต่คุณให้เงินเท่ากัน มันก็ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ดังนั้นความเสมอภาคทางการศึกษาจึงต้องเข้าใจความแตกต่างและปิดช่องว่างให้ได้ เราจึงพยายามจะเปลี่ยนโจทย์ความคิด ไม่ใช่ให้เงินหรือทรัพยากรเท่ากันที่ต้นทาง (Inputs) แต่เราไปวัดกันที่ปลายทางคือ (Equitable Outcome) เด็กไม่ว่าเกิดที่ไหน ระบบการศึกษาสามารถคำนวณได้ว่าเด็กแต่ละคนต้องการทรัพยากรที่แตกต่างกันอย่างไร เพื่อสร้างความเสมอภาคให้เขาได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ได้ (Demand-side Financing) ถ้าเขามีศักยภาพ เขาได้รับการดูแล ป้องกันไม่ให้หลุดออกจากระบบ ขาดเหลือตรงไหนมีเพิ่มเติม และมีทุนการศึกษามาให้ยามที่เขาจำเป็นเพื่อไปเรียนในจุดสูงสุด เราก็หวังว่าอนาคตจะมีเครื่องมือที่ทำให้เกิดขึ้นได้”

 


เกณฑ์วัดยากจนทั่วไปกับยากจนพิเศษเพื่อจัดสรรทุนการศึกษาได้อย่าง ‘เสมอภาค’
“ทางกองทุนใช้การวิจัยด้วยเครื่องมือวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่ทั้งมีมาตรฐานระดับชาติ และนำเอาบริบทเฉพาะพื้นที่ถึงระดับจังหวัดและอำเภอมาประกอบการพิจารณา เกณฑ์วัดความยากจนมี 2 ส่วนคือ เกณฑ์รายได้และเกณฑ์สถานะครัวเรือน เกณฑ์รายได้เราวัดเกณฑ์ยากจนอยู่ที่ 3,000 บาท นอกจากนี้เราจะมีเกณฑ์สถานะครัวเรือนอีกชุดหนึ่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าข้อมูลเป็นจริง ได้แก่ คุณพ่อคุณแม่พิการและไม่มีรายได้หรือเปล่า ถ้ามีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนพิการก็เอามาให้ดู ต่อมาคือสภาพบ้านทรุดโทรมจริงไหม อันนี้ยืนยันได้จากรูปถ่าย ถ่ายในบ้านมีส้วมหรือเปล่าเราจะเห็น กับถ่ายนอกบ้านมีตัวเด็กกับผู้ปกครองยืนให้เห็นว่านี่คือบ้านของเด็ก และดึงพิกัด GIS ลงมาเลยว่านี่คือหลักฐานที่ถูกถ่ายที่ไหนของประเทศไทย และผู้ปกครองต้องเซ็นยืนยันว่ารูปนี้ถ่ายจากสถานที่จริง เงื่อนไขต่อมาคือ ไม่มีที่ดินทำกินเกิน 1 ไร่ และต้องไม่มีรถยนต์ ถ้ามีมอเตอร์ไซค์หรือรถไถยังได้อยู่ เมื่อผ่านเงื่อนไขเหล่านี้ พร้อมกับข้อมูลรายได้ ต้องให้ครูที่ไปสำรวจเซ็นลายเซ็นที่สอง รับรองว่าข้อมูลที่ไปสำรวจมาเป็นความจริง และลายเซ็นที่สามต้องเป็นของกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ถ้ามีอะไรผิดพลาด ทั้ง 3 คนที่เซ็นก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

“เมื่อผ่านการคัดกรองแล้วจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้กรรมการสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้นำชุมชน นายก อบต. มีพระและผู้นำศาสนาร่วมด้วยครับ เราต้องการให้กรรมการสถานศึกษากรองข้อมูลอีกชั้น เพราะโดยกฎหมายเขาต้องรับผิดชอบโรงเรียน ก่อนที่ข้อมูลจะเข้ามาหาเรา แล้วเราก็ใช้ด่านสุดท้ายเป็นข้อมูลทางวิชาการในการสุ่มเช็ก ทั้งหมดทำผ่านแอปฯ CCT ในสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ iOS และ Android ที่สามารถใช้เก็บข้อมูลได้ ลดการใช้เอกสาร สามารถทำเป็นออฟไลน์โหมดด้วย ถ้าไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ก็ยังบันทึกได้ ครูสามารถเรียกข้อมูลกลับมาใช้ได้ ตรวจสอบได้ และยังส่งต่อข้อมูลให้กับครูคนต่อไปดูแลต่อได้ทันที ข้อมูลที่เข้ามาเราก็จะเก็บไว้ในคลาวด์ จะมีระบบแบ็กอัพที่เรียกมาดูได้

“ถ้าเป็นยากจนทั่วไปจะได้ 1,000 บาทต่อปี สำหรับเด็กประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นได้ 3,000 บาทต่อปี เป็นงบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งไม่ได้ปรับเพิ่มงบนี้มานานเป็น 10 ปีแล้ว กสศ. จึงพยายามที่จะช่วย โดยช่วยเด็กยากจนพิเศษก่อน ปีที่แล้วเรา Top Up ไปได้ 1,600 บาท ซึ่งปีนี้เราขอปรับงบเพิ่ม ปีการศึกษานี้ถ้างบผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เด็กประถมก็จะได้เพิ่มอีก 3,000 บาท เป็น 4,000 บาทต่อปี และเด็กมัธยมต้นได้เพิ่มอีก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาทต่อปี เท่ากันทั้งสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด.”

 



ภายใต้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุน ‘โครงการจดหมายลาครู’ จะช่วยป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ
“สิ่งที่ กสศ. ทำตอนนี้ เป็นการป้องกันเด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาไม่ให้หลุดออกจากระบบ ซึ่งต้นทุนน้อยกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า ส่วนเด็กที่หลุดออกจากระบบไปแล้ว เราก็มีอีกโครงการหนึ่งคือ การทำงานเป็นเชิงพื้นที่ ในขณะที่เด็กในกลุ่มโครงการจดหมายลาครูเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง คือเด็กยากจนและยากจนพิเศษ มีความเสี่ยงได้ตลอดเวลาว่าเขาจะหลุดออกจากระบบการศึกษา คราวนี้เด็กที่เข้ามาในระบบแล้ว กสศ. ก็จะมีแอปฯ การคัดกรองที่เราสามารถรู้ได้ว่าเด็กคนนั้นมาเรียนกี่เปอร์เซ็นต์ ครูต้องรายงานว่าเทอมที่ผ่านมาเด็กมาเรียนกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาเรียน ถ้าต่ำกว่า 80% ถือว่าขาดจากเงื่อนไขของทุน ก็อาจจะตักเตือนหรือท้ายที่สุดคือจะไม่ได้รับทุนอีก

“นอกจากเรื่องเปอร์เซ็นต์การเข้าเรียน เรายังดูเรื่องน้ำหนัก ส่วนสูง ถ้าเด็กมี BMI ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ถือว่ามีน้ำหนักที่ต่ำ ส่วนสูงที่ต่ำ อาจจะมีโรคหรือเปล่า เกิดภาวะทุพโภชนาการหรือไม่ เราก็จะตามเก็บข้อมูล 2 เงื่อนไขนี้เป็นสำคัญ ซึ่งเงินทุนที่มอบให้เด็กแต่ละคนคือเงินที่ให้สำหรับค่าเดินทางมาโรงเรียน และเป็นค่าอาหาร จึงต้องวัดผลจาก 2 เงื่อนไขนี้ เด็กจำนวนมากที่เป็นเด็กยากจนไม่ได้กินข้าวเช้าและข้าวเย็นก็ไม่ได้มีโภชนาการที่ดีเท่าไร เราก็หวังว่าเขาจะมีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเขาในระยะยาว” 

 

ระบบการศึกษาเสมอภาค เครื่องมือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนที่สุด ด้วยการ ‘ยุติความจนข้ามชั่วคน’
“ผมมองว่านี่เป็นปัญหาเศรษฐกิจพอๆ กับปัญหาทางการศึกษา เพราะความยากจนเกิดขึ้นนอกรั้วโรงเรียน ไม่ใช่ครูสอนไปแล้วเด็กจนลง แต่ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ มันไม่ใช่เรื่องของความยากจนอย่างเดียว ต่อไปเราต้องมองไปที่เด็กพิการ เด็กที่มีปัญหาถูกใช้แรงงาน หรือเด็กติดยาเสพติด ถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่าปัญหาความด้อยโอกาสและความยากจนจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว แต่การที่เด็กต้องมาโรงเรียนทุกวัน ปัญหาเหล่านี้จึงขยายผลกระทบมาที่ระบบการศึกษาด้วย ระบบการศึกษาจึงต้องมิได้มีแต่เพียงบทบาทที่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว เพราะการสอนหนังสือกับเด็กที่ไม่รู้ว่าเย็นนี้จะมีข้าวกินไหม พรุ่งนี้ต้องไปช่วยแม่หรือเปล่า มันทำให้สมาธิของเด็กไม่เหลือเลย นี่คือสิ่งที่ กสศ. อยากสื่อสารออกไป ถ้าเราไม่ได้แก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่ระบบการศึกษา พอเด็กออกมาจากระบบการศึกษาแล้วเขาก็จะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ และเขาก็จะไม่มีวันมีรายได้เกินพ่อแม่ของเขา รุ่นลูกของพวกเขาก็มีแนวโน้มจะติดอยู่ในกับดักความยากจนเช่นเดิม มีครอบครัวจำนวนมากในประเทศไทยที่ความจนส่งต่อข้ามชั่วคน เป็นปัญหาที่ค้างอยู่ในสังคมไทยมานาน ถ้าเราปิดความเหลื่อมล้ำได้ผ่านระบบการศึกษาที่เสมอภาค ให้เด็กเยาวชนในวันนี้มีการศึกษาที่ดีกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ มันจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนที่สุด เท่ากับเขาได้เบ็ดตกปลา ไม่ได้ยื่นปลาให้กิน งานที่ กสศ. ทำจะช่วยลดช่องว่างก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษา ในขณะเดียวกันระหว่างที่เขาอยู่ในระบบการศึกษาก็หวังว่าจะส่งให้เขาไปได้ไกลกว่าจุดเดิม กว่าครอบครัวของเขาเพื่อให้ความจนไม่ข้ามชั่วคน

“ดังนั้น กสศ. จึงต้องบูรณาการหลายฝ่าย ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข เช่น เด็กป่วยเป็นไข้เลือดออก เป็นมาลาเรีย คือบ้านไม่มีผนังกั้น ยุงก็ยังกัดอยู่ดี พอป่วยก็ลาเรียนบ่อย กระทรวงสาธารณสุขก็ควรเข้ามาดูแล ฉีดยุงลายหรือตรวจสุขภาพเด็ก หรือบ้านที่ทรุดโทรม กระทรวง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ก็อาจจะมีงบประมาณในการซ่อมแซมบ้าน เด็กผู้หญิงบางคนอายุ 14-15 ยังต้องไปเข้าห้องน้ำในป่าหลังบ้าน ไม่มีอะไรรองรับความปลอดภัยเขาเลย มันก็ต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลในเรื่องสวัสดิภาพของเด็ก

“ต้องยอมรับว่ากระทรวงศึกษาธิการแก้ปัญหาที่เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำไม่ได้เองทุกเรื่อง และครู 1 คนก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้เองเช่นกัน เวลาคุณครูลงพื้นที่และเห็นสภาพบ้านสภาพความเป็นอยู่ หรือในเคสเด็กที่ติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่มีโรงเรียนให้เด็กเหล่านี้เรียน ครูต้องสามารถที่จะส่งต่อเรื่องเหล่านี้ไปให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ เช่น เทศบาล อบต. สาธารณสุขจังหวัด อนามัย ฯลฯ ต้องมาร่วมสนับสนุนให้ครูเป็นผู้ชี้เป้า เป็นผู้นำส่งปัญหาทาง กสศ. เองจะพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการดึงข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันบูรณาการแก้ไขปัญหา ตอนนี้เราได้ไปคุยกับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน เพื่อจะร่วมกันพัฒนาระบบข้อมูลกลางที่ส่งต่อเคสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย”  

 


 

หรือนี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่เราทุกคนควรตระหนัก
“ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนมีหัวใจที่อยากจะช่วยเด็ก เพียงแต่เขายังไม่รู้ข้อมูลนี้ และเขายังไม่รู้ว่าเขาจะช่วยได้อย่างไร ฉะนั้นข้อมูลและเทคโนโลยีน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนให้คนได้หันมาช่วยเหลือเด็ก และเด็กเหล่านี้เสียงเขาเบามาก อยู่ในที่ห่างไกล จะตะโกนลงมาให้คนในเมืองอย่างเราได้ยินคงยาก แต่ครูที่เข้าไปเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ และมีสื่อที่คอยเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมได้เห็น เสียงที่เบาที่สุด ก็จะทำให้คนจำนวนมากได้ยินและให้ความช่วยเหลือได้

“กรมสรรพากรเอาตัวเลขให้เราดูว่า ปัจจุบันบริษัทเอกชนและบุคคลธรรมดายังมีกำไรสุทธิและเงินได้จำนวนมากที่ยังมิได้นำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าจากการบริจาคเพื่อการศึกษา ยังมีโอกาสอีกเยอะที่ภาคเอกชนและบุคคลธรรมดาจะบริจาคเงินเพื่อการศึกษาได้อีก เราจึงพัฒนาแคมเปญสนับสนุนการระดมเงินตรงนี้มาให้คนในสังคมช่วยสนับสนุนเด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

“ผู้ที่อยากช่วยเหลือ สามารถบริจาคได้ทั้งเงินและสิ่งของ มีสิ่งของหลายอย่างที่เป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่นั้นๆ และขาดแคลนอย่างมาก ของบางอย่างเราไม่เคยคิดว่าต้องบริจาค เช่น ยาเหา แชมพู แปรงสีฟัน ผ้าอนามัย หรือเครื่องกรองน้ำ เพราะทุกคนก็บริจาคแต่สมุด ดินสอ ปากกา ดังนั้นทาง กสศ. จะทำลิสต์สิ่งของที่จำเป็น และอะไรที่เด็กต้องการ และถ้าเป็นการบริจาคเงินกำลังจะทำระบบ e-Donation ไปตั้งตามจุดต่างๆ นิดเดียวก็บริจาคได้ เป็นเรื่องที่ง่าย หรือเข้ามาหน้าเว็บไซต์ กสศ. ก็สแกนและบริจาคได้เช่นกัน เราพยายามจะอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด”

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แท้จริงแล้วทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยล้วนส่งผลกระทบต่อคนในประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง THE STANDARD จึงขอเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเชื่อมต่อคนไทยใจดีให้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กใน ‘โครงการจดหมายลาครู’ ให้ได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI

iSEE เป็นเครื่องมือชี้เป้าหมายนักเรียนที่ยากจนที่สุดในพื้นที่ทั่วประเทศ ตอบโจทย์การทำ CSR ของภาคธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา เบื้องต้นมี 2 แนวทางคือ

1. ชี้เป้าโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดในรัศมีชุมชนโดยรอบกิจการของภาคเอกชน เพื่อร่วมบริจาคเติมความช่วยเหลือ

2. ชี้เป้านักเรียนยากจนพิเศษจาก 100 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร (พื้นที่เกาะ พื้นที่สูง และโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกลชุมชน) การสนับสนุนสามารถเลือกได้เป็นค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพหรือสมทบทุนการศึกษา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising