×

เดินหน้าหาทางออกหลังวิกฤตโควิด-19 กับความเสมอภาคทางการศึกษาในการประชุมระดับโลก [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายองค์กรต่างยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและกำลังหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ปัญหานี้เริ่มขยายตัวและทวีความรุนแรงขึ้น
  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เล็งเห็นถึงปัญหานี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน #EducationforAll จึงร่วมมือกับหน่วยงานภาคีมากกว่า 8 องค์กร จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา #AllforEducation ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ วันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 พบกับนักปฏิรูป ผู้นำด้านการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกกว่า 60 คน จาก 14 ประเทศ 
  • ครั้งแรกของเวทีการศึกษาเพื่อความเสมอภาคที่ใหญ่ที่สุดด้วยรูปแบบออนไลน์ กับไฮไลต์หัวข้อสัมมนาที่ไม่ควรพลาด ‘Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID-19 Pandemic?’ นำโดย

    – อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลด้านการพัฒนาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
    – ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) Equitable Education Fund (EEF) องค์กรนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นต้นแบบความเสมอภาคทางการศึกษา 
    – อลิส ออร์ไบร์ท ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก Global Partnership for Education (GPE) องค์กรแนวหน้าของโลกที่มุ่งสนับสนุนการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกว่า 68 ประเทศทั่วโลก 
    – ยาสมิน เชอรีฟ ผู้อำนวยการกองทุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนในพื้นที่วิกฤตทั่วโลก Education Cannot Wait (ECW) กองทุนเพื่อการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉินและวิกฤตยืดเยื้อระดับโลกแห่งแรก ดึงความร่วมมือจากสหประชาชาติ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กและเยาวชนในภาวะความขัดแย้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการถูกทำให้พลัดถิ่นฐาน
  • ขณะเดียวกัน ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ ยังมีหัวข้อไฮไลต์สำคัญที่ผู้ร่วมสัมมนาไม่ควรพลาดอีก 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ พลังท้องถิ่นจะพลิกโฉมการศึกษาให้เสมอภาคได้อย่างไร, เจาะลึกนวัตกรรมการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, นโยบายและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาส

พิษโควิด-19 นั้นนอกจากส่งผลกระทบหลักในด้านเศรษฐกิจระดับมหภาคแล้ว เหล่านักวิชาการยังประเมินว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากวิกฤตโควิด-19 เพราะจะมีเด็กหลายล้านคนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา

ข้อมูลอ้างอิงจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ระบุว่า “มีเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่นอกระบบการศึกษา ในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน” ซึ่งกลุ่มที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนคือเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งมีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษามากกว่าเด็กที่ครอบครัวร่ำรวยถึง 5 เท่า และในประเทศไทยพบตัวเลขผู้ด้อยโอกาสมากถึง 4 ล้านคน โดยในนั้นครึ่งหนึ่งคือเด็กที่ยากจน และพวกเขากำลังจะไม่ได้ไปต่อในด้านการศึกษา ทำให้พวกเขาอาจเป็นประชากรที่ด้อยคุณภาพทั้งในด้านของการใช้ชีวิตและการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจในอนาคต

 

 

ถ้าไม่มีความเสมอภาค เป้าหมายด้านการศึกษาที่ยั่งยืนอาจไปไม่ถึง
ช่วงวิกฤตโควิด-19 เด็กบางคนอาจได้รับประสบการณ์การเรียนรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ยังมีเด็กอีกนับแสนคนที่ขาดโอกาสและไม่สามารถเข้าถึงประสบการณ์แปลกใหม่นี้ เป็นเพราะ ‘ความยากจน’


ไม่ใช่แค่การเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์เท่านั้น แต่ความเหลื่อมล้ำนี้ยังเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กที่มีฐานะยากจนอีกด้วย


แม้จะมีการคาดการณ์ถึงแนวทางการศึกษาในอนาคตที่จะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2030 ที่ทุกองค์ความรู้สามารถเข้าถึงได้ในโลกออนไลน์จากทุกมุมโลก ทุกที่ ทุกเวลา แต่เมื่อมองลึกถึงแก่นของโครงสร้างแล้วจะพบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำและไม่เสมอภาคซึ่งเป็นปมที่มัดแน่นอยู่ หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหานี้จะยิ่ง ‘ลึก’ และ ‘กว้าง’ ออกไปมากขึ้น


“สร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน” นี่คือเป้าหมายที่ 4 (SDG4) หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กำหนดขึ้น และเป็นเป้าหมายที่นักการศึกษาทั่วโลกพยายามผลักดันและสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของความ ‘เสมอภาค’ และ ‘ทั่วถึง’ ในการศึกษา แต่เป้าหมายนี้จะสำเร็จหรือไม่ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันคลายปมของปัญหานี้


ยุติความเหลื่อมล้ำการศึกษาด้วยความ ‘เสมอภาค’
ในข้อตกลง ‘ปฏิญญาจอมเทียน’ ว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ที่เหล่านานาประเทศได้ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2533 ที่ต้องการยกระดับและปฏิรูประบบการศึกษาทั่วโลกให้มีความเสมอภาค เท่าเทียม ทั่วถึงทุกคน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ในปัจจุบันแนวคิดทางการศึกษาในข้อตกลงดังกล่าวอาจไม่ตอบรับกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อนอีกต่อไป

 

ชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกประจำกรุงเทพมหานคร

 

ชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความเชื่อมโยงและสามารถส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของคนทั่วโลก เราจึงต้องหาแนวทางร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิดในการแก้ปัญหาให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกในปัจจุบันให้มากที่สุด”


และนี่จึงเป็นที่มาของการประชุมของเหล่านักวิชาการทั่วโลกที่จะร่วมเปลี่ยนผ่านกรอบความคิดจาก Education for All ไปสู่ All for Education หรือปวงชนเพื่อการศึกษา โดยคำว่า ‘All’ ใน Education for All (EFA) หมายถึงคนทุกคน ขณะที่ ‘All’ ใน All for Education (AFE) หมายรวมถึงทรัพยากรทั้งหมดที่มี นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมมาระดมกำลังเพื่อนำทรัพยากรที่มีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการศึกษา


ปวงชนเพื่อการศึกษา ทางออกของความเสมอภาค
เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน #EducationforAll กสศ. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีมากกว่า 8 องค์กร จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education) ครั้งแรกของเวทีการศึกษาเพื่อความเสมอภาคที่ใหญ่ที่สุดด้วยรูปแบบออนไลน์ ในวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและองค์กรด้านการศึกษาทั่วโลก ทั้งยังมีนักปฏิรูป ผู้นำด้านการศึกษากว่า 60 คน จาก 14 ประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมสมองหาทางออกในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในวิกฤตโควิด-19


ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดและพระราชทานปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘สี่ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส’ ในวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563 

 

 

การระดมสมองรวมพลังหาทางแก้ปัญหาในครั้งนี้มีนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการการศึกษาในแต่ละแขนงตบเท้าเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ที่จะขึ้นเสวนาในหัวข้อซึ่งเป็นไฮไลต์ของงาน Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID-19 Pandemic? ร่วมกับ อลิส ออร์ไบร์ท ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก หรือ Global Partnership for Education (GPE) องค์กรที่มุ่งสนับสนุนการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามาแล้วกว่า 68 ประเทศ และยาสมิน เชอรีฟ ผู้อำนวยการกองทุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนในพื้นที่วิกฤตทั่วโลก Education Cannot Wait (ECW)


นอกจากนี้ยังมีประเด็นพูดคุยบนเวทีโดยเหล่านักคิดจากหลายสาขา นักปฏิรูป ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่ชวนติดตามหลากหลายหัวข้อ เช่น

  • ความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19
  • การทำให้การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นได้?
  • นวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • บทบาทภาครัฐและเอกชน และความร่วมมือของประชาชน  

 



ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนและทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน จังหวัด ไปถึงระดับประเทศ ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ร่วมเดินหน้าหาทางออกในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อเยาวชนของประเทศได้ ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประชุมออนไลน์ฟรี! ได้ที่ http://afe2020.eef.or.th/thai/

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X