×

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่สีแดง จากมุมมองของครูผู้ตัดสินใจกลับมาสอนที่บ้านเกิด

โดย THE STANDARD TEAM
17.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ในฐานะคนที่เติบโตขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครูนี-สุนิดา อุมา มองว่าความยากจนและด้อยโอกาสของเด็กๆ ที่นี่คือสิ่งที่ ‘น่ากลัวยิ่งกว่า’ ปัญหาความไม่สงบ เพราะนั่นคืออุปสรรคของการพัฒนาชุมชนที่แท้จริง
  • โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค (ทุนเสมอภาคของ กสศ.) ช่วยบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียนของเด็กๆ ที่ยากจนและด้อยโอกาส ทำให้หลายคนสามารถมาโรงเรียนได้โดยไม่ต้องเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

“ดีใจมากทุกครั้งที่มีคนมาโรงเรียนของเรา ไม่มีใครลงมาหาพวกเรานานแล้ว เพราะเขาฝังใจว่าแถวนี้เป็นพื้นที่อันตราย สิบกว่าปีที่จากบ้านไป เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่เราพบว่าไม่เปลี่ยนไปเลยคืออุปสรรคทางการศึกษาของเด็กๆ ที่สมัยเราเรียนเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น”

 

คำพูดของ ครูนี-สุนิดา อุมา ครูจากโรงเรียนบ้านคอลอกาเว อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส คือคำพูดทักทายที่บ่งบอกถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของโรงเรียน การศึกษา และความเป็นไปภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และพื้นที่อันตรายที่ว่าคือที่ตั้งของโรงเรียนที่ห่างจากพื้นที่สีแดงไปแค่ไม่กี่กิโลเมตร และข่าวที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นำเสนอกันมาอย่างยาวนานกว่าสิบปีก็พอจะทำให้ภาพลักษณ์ของอำเภอศรีสาครดูน่ากลัวสำหรับคนภายนอก แต่ในฐานะครูคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นจากการเป็นนักเรียนที่นี่ ครูนียังมองลึกไปถึงปัญหาจริงๆ อีกว่าความยากจนและด้อยโอกาสของเด็กๆ ที่นี่คือสิ่งที่ ‘น่ากลัวยิ่งกว่า’ เพราะนั่นคืออุปสรรคของการพัฒนาชุมชนที่แท้จริง

 

‘ครูนี’ และ ‘ครูยู’ (ขวา) ผู้อุทิศตนเพื่อให้เด็กๆ ในพื้นที่ได้กลับมามีโอกาสที่ดีอีกครั้ง

 

“ทุกวันนี้เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ เงียบเสียงลงไปแล้ว แต่มันเหมือนเป็นภาพจำว่าชุมชนของเราไม่ปลอดภัย นานๆ ครั้งจึงจะมีคนจากพื้นที่อื่นๆ มาที่นี่ ครูส่วนหนึ่งที่บรรจุเข้ามาแล้วเขาก็อยู่กันไม่นาน จะมีก็แต่คนในพื้นที่เราเองที่พร้อมจะปักหลักทำงาน เพราะเรามองว่าชุมชนนี้คือบ้าน คือครอบครัวของพวกเรา” ครูนีเผยภาพปัญหาในท้องถิ่นจากมุมมองที่เธอเห็น

 

ครูนีเป็นคนอำเภอนี้ตั้งแต่เกิด เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านคอลอกาเว ที่ปัจจุบันเธอกลับมาอยู่ในฐานะคุณครูของเด็กๆ เมื่อจบ ป.6 จึงย้ายไปเรียนที่ยะลาจนเรียนจบเอกครูจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จากนั้นได้งานเป็นครูในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เป็นเวลา 3 ปี เมื่อถึงเวลาสอบบรรจุ เธอก็ตัดสินใจกลับมาสอนที่นี่

 

 

“สิบกว่าปีที่จากบ้านไป เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ตอนเราเรียนมีอาคารไม่กี่หลัง เด็กไม่ถึงร้อยคน มีต้นไม้ใหญ่รกครึ้มอยู่รอบโรงเรียน แต่พอกลับมาอีกครั้งมีตึกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาคารไม้เปลี่ยนเป็นปูน มีนักเรียนเพิ่มเป็นหลักพัน รอบโรงเรียนมีร้านค้า มีบ้านคนมากขึ้น แต่สิ่งที่เราพบว่าไม่เปลี่ยนไปเลยคืออุปสรรคทางการศึกษาของเด็กๆ ที่สมัยเราเรียนเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น”

 

อุปสรรคทางการศึกษาที่ครูนีพูดถึงก็คือเหล่านักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน พ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น จึงจำเป็นจะต้องทิ้งเด็กไว้ให้ตายายเลี้ยง ส่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่ก็ทำงานรับจ้างได้ค่าแรงไม่เพียงพอจะดูแลให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือ ฉะนั้นบางครอบครัวที่มีลูกหลายคน เด็กๆ ต้องผลัดกันเรียน ผลัดกันอยู่บ้าน หลายคนต้องหยุดเรียนไปทำงานเพื่อหาเงินช่วยพ่อแม่ พอขาดเรียนบ่อยเข้าก็เรียนไม่ทันเพื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเริ่มไม่อยากมาโรงเรียนหรือเลิกเรียนไปเลย ทำให้เรามองว่าสิ่งหนึ่งคือพวกเขาขาดแรงจูงใจในการมองเห็นความสำคัญของการเรียน

 

 

“ตอนเราเรียนที่นี่ ครูเขาทำให้เรามองเห็นเป้าหมายชีวิต ทำให้เรามีแรงพยายามเรียนจนสำเร็จ จากวันนั้นเราจึงรู้สึกว่าไม่มีอาชีพไหนที่เปลี่ยนแปลงผู้คนได้เท่ากับการเป็นครู เพราะที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีครูที่ดีมาก่อน”

 

ปัญหาที่พบเหมือนกระจกสะท้อนให้ครูนีย้อนมองที่ตัวเองว่าตอนที่ครูนีเป็นเด็กเคยผ่านมาได้อย่างไร และสิ่งนั้นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูนีกลับมาสอนที่โรงเรียนนี้ เพราะครูนีก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่บ้านไม่ได้มีฐานะอะไร แต่การที่ได้รับความเอาใจใส่ดูแลจากครูที่ดีทำให้ทัศนคติเปลี่ยน ครูนีรับมือกับช่วงวัยต่างๆ ได้ก็เพราะการปูพื้นฐานจากครูในช่วงนั้น 

 

“พอมาเป็นครู เราก็นำสิ่งที่เคยได้รับและซึมซับมาถ่ายทอดสู่เด็กๆ พยายามสร้างแรงจูงใจให้เขามีเป้าหมายในการเรียน รวมถึงเข้าไปจัดการปัญหาต่างๆ อีกทั้งเราเป็นคนท้องถิ่น จึงใช้เวลาปรับตัวไม่นาน เพราะรู้ว่าเด็กและผู้ปกครองเขามีพื้นฐานเป็นอย่างไร การแก้ปัญหาคือจะเข้าไปทำตั้งแต่ที่บ้านของเด็ก ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ส่วนผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ปกครองและคนในท้องถิ่นด้วย ความที่เราอยู่กันเป็นชุมชนใกล้ชิดมาตั้งแต่เมื่อก่อนก็ช่วยได้มาก และการเป็นคนในพื้นที่ทำให้ผู้ปกครองเขาเชื่อใจที่จะฝากลูกหลานกับเรา ส่วนใหญ่จะยอมรับฟังในสิ่งที่เราพูด เพราะเขารู้ว่าเราหวังดีกับเขาจริงๆ”

 

 

เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องความยากไร้ขาดแคลนที่ทำให้เด็กต้องหยุดเรียน ช่วงหลังทางครูนีและโรงเรียนบ้านคอลอกาเวแห่งนี้ก็ต้องบอกว่าดีขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะ ‘โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข’ หรือทุนเสมอภาค (ทุนเสมอภาคของ กสศ. สามารถบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และยังนำไปพัฒนาเสริมทักษะอาชีพ ซึ่งทำให้เด็กหลายคนสามารถมาโรงเรียนได้ ไม่ต้องเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา) ที่ช่วยให้นักเรียนไม่ต้องขาดเรียนไปทำงานบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน พอเด็กมาเรียนสม่ำเสมอ ผลการเรียนดีขึ้น ตั้งเป้าหมายกับการเรียนหนังสือได้มากขึ้น เงื่อนไขหนึ่งของการให้เงินอุดหนุนนี้คือ ‘เงื่อนไขการมาเรียน’ ซึ่งนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับเงินอุดหนุน (นักเรียนทุนเสมอภาค) จะต้องมีอัตราการเข้าชั้นเรียนไม่ต่ำกว่า 80% ของเวลาเรียนทั้งหมด และมีพัฒนาการทางร่างกายที่สมวัย

 

หลังจากที่ กสศ. มีการจ่ายเงินอุดหนุนฯ ไปแล้ว 2 ภาคการศึกษา (ภาค 2/2561 และภาค 1/2562) และเก็บข้อมูลของนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคนี้ ก่อนได้รับเงินทุนเสมอภาคเมื่อภาคการศึกษา 1/2561 เด็กกลุ่มนี้มีอัตราการมาเรียนเฉลี่ยประมาณ 69.4% แต่เมื่อเด็กกลุ่มนี้ได้รับเงินช่วยเหลือในภาคเรียนถัดมา (2/2561) พบว่าอัตราการมาเรียนเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 89.4% และเมื่อเด็กกลุ่มเดิมนี้ได้รับเงินอุดหนุนต่อเนื่องอีกหนึ่งภาคเรียน (1/2562) อัตราการมาเรียนเฉลี่ยของเด็กกลุ่มนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 91% แสดงให้เห็นว่าเงินทุนเสมอภาคที่จัดสรรให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษช่วยยกระดับอัตราการมาเรียนของเด็กยากจนพิเศษที่มีอัตราการมาเรียนเฉลี่ยต่ำกว่า 80% ของเวลาเรียน

 

และไม่ใช่เพียงครูนีเท่านั้นที่พยายามที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กๆ และการศึกษาในชุมชนแห่งนี้ ทางด้าน ครูยู-นุรนี อารง ที่แม้จะไม่ใช่คนอำเภอศรีสาครแต่กำเนิด แต่เธอก็เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านคอลอกาเวจนจบและไปเรียนมัธยมที่โรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม มีทั้งภาคสามัญและภาคศาสนา) จากนั้นย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจกลับมาที่บ้าน

 

“ทีแรกเราได้ไปบรรจุอยู่ที่อื่นก่อน แล้วจึงขอย้ายกลับมาเพื่อสอนที่โรงเรียนนี้ คือมันเป็นความตั้งใจของเราเลย เพราะมันมีความรู้สึกรักถิ่นฐานที่คอยบอกเราว่าต้องกลับมาพัฒนาโรงเรียนของเรา เพราะเราอยู่ที่นี่ตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือ มีความผูกพัน แล้วก็อยากเห็นที่นี่พัฒนา โดยเฉพาะจากข่าวคราวความเป็นไปของพื้นที่แถวนี้ มันก็ยากที่จะมีคนนอกยอมเข้ามาอยู่นานๆ เราก็คิดว่าถ้าไม่มีคนทำงานอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาก็ไม่เกิด แล้วเราเองเป็นคนพื้นที่แท้ๆ ถ้าเราไม่กลับมาทำงานที่บ้านของเรา แล้วจะหวังให้คนอื่นเข้ามาทำก็คงเป็นไปไม่ได้”

 

 

การทำงานจากที่อื่นมาก่อนของครูยูเองก็มีความน่าสนใจที่เธอเลือกจะนำหลายๆ ประเด็นมาปรับใช้ให้เข้ากับเด็กๆ ที่นี่ และทำให้ครูยูเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น ได้เห็นว่าเด็กๆ ในเมืองใหญ่เขามีโอกาสในชีวิตมากกว่า ได้เรียนรู้การจัดการศึกษาที่เป็นระบบมากกว่า เราก็นำสิ่งเหล่านั้นกลับมาปรับใช้กับโรงเรียนของเรา

 

สำหรับเด็กที่นี่ บางคนเขาอยากมาเรียนแต่ไม่มีเงิน แต่อีกส่วนหนึ่งคือเขาไม่มีต้นแบบ โลกของเขามีแค่ภาพชีวิตในชุมชน เราก็นำประสบการณ์ของเรามาถ่ายทอดให้เขารู้ว่าข้างนอกนั้นมีอะไรอีกมากที่ควรต้องออกไปเห็น ไปสัมผัส เขาจะต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ต้องออกไปใช้ชีวิต ต้องเชื่อมั่นว่าถ้าได้เรียนจบสูงๆ แล้วจะมีอาชีพที่ดี ซึ่งมันจะช่วยครอบครัวให้ดีขึ้นได้

 

“นักเรียนที่นี่คือเด็กในชุมชนของเรา นัยหนึ่งเขาก็คือญาติพี่น้องของเรา ดังนั้นเราจะต้องเป็นคนพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เพราะถ้าเป็นคนอื่น เขาก็ไม่ได้รู้จักที่นี่ดีเท่าเรา มันจึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งในฐานะครูและคนในพื้นที่ที่จะต้องสร้างพวกเขาให้มีความรู้ และต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเองที่ทัดเทียมกับเด็กๆ ในพื้นที่อื่นๆ” ครูยูกล่าวทิ้งท้ายอย่างตรงไปตรงมา

 

สำหรับครูนี การเป็นครูรักษ์ถิ่นนั้นมีความหมายมากกว่าแค่การกลับมาทำงานใกล้บ้าน แต่ยังหมายถึงการพัฒนาชุมชนให้เติบโตขึ้นไปด้วยกัน เป็นพลังดีๆ ที่ส่งต่อให้ครูคนอื่นๆ นำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X