×

บุกสำนักงานใหญ่ Facebook ฟังคำแถลงต่อสื่อไทยครั้งแรกกับข้อกล่าวหา ‘อาชญากรข่าวปลอม’

17.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • THE STANDARD เยือนสำนักงานใหญ่เฟซบุ๊กที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อสอบถามถึงการต่อสู้กับข่าวปลอมของแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของโลก
  • ตัวแทนเฟซบุ๊กกล่าวถึงวิธีการที่จะสู้กับเนื้อหาที่บิดเบือน 3 ขั้นตอน ได้แก่ Remove, Reduce และ Inform
  • เฟซบุ๊กเตรียมตัวมาอย่างดี พูดในสิ่งที่เขาต้องการจะพูด และไม่ให้คำตอบอย่างชัดเจนหากไม่จำเป็น แม้จะเห็นเจตนาที่ดี แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าหากพวกเขายังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จนลุกลามใหญ่โตขึ้นก็คงต้องถูกกดดันจากสังคมไปเรื่อยๆ

“เฟซบุ๊กคือองค์กรอาชญากรรม (Criminal Enterprise)”

 

คำกล่าวนี้ทำเอาผมสะดุ้งไม่น้อย นี่คือการกล่าวถึงเฟซบุ๊กที่แรงที่สุดตั้งแต่ผมมาที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ในโครงการ International Visitor Leadership Program (IVLP) ซึ่งได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้มาเรียนรู้เรื่องการจัดการความจริงในยุคดิจิทัล

 

ผู้กล่าวประโยคนี้คือ เอ็ดเวิร์ด วัสเซอร์แมน คณบดีของ UC Berkeley Graduate School of Journalism สถาบันการศึกษาด้านข่าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เขายังขยายความอย่างเผ็ดร้อนด้วยว่า “เฟซบุ๊กสร้างกระดานดำให้ใครมาเขียนก็ได้ แต่พอมีคนไม่ประสงค์ดีมาเขียนคำด่าทอ โป้ปด ปั่นให้สังคมแตกแยก พวกเขากลับปัดรับความผิดชอบว่าเป็นแค่แพลตฟอร์ม ทั้งที่ได้รับเงินจากข้อความเหล่านั้น ผมคิดว่าเฟซบุ๊กต้องรับผิดชอบมากกว่านี้”

 

แม้เอ็ดเวิร์ดจะพูดแรง แต่เขาไม่ใช่คนแรกที่ต้องการให้เฟซบุ๊กแสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤตข่าวปลอม (Fake News) หรือการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ จากรัสเซีย บรรดานักวิชาการหรือนักข่าวรุ่นเก๋าก็ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน พวกเขามักบอกผมว่า “ฝากประเด็นนี้ไปถึงเฟซบุ๊กด้วยนะ” เมื่อรู้ว่าผมจะได้ไปเยือนสำนักงานใหญ่เฟซบุ๊กที่เมนโลพาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย

 

ในห้องประชุมสุดทันสมัยของสำนักงานใหญ่เฟซบุ๊กที่เต็มไปด้วยขนม กาแฟ และเครื่องดื่มฟรี ตัวแทนจากเฟซบุ๊กได้เปิดปากต่อประเด็นนี้อย่างชัดเจนที่สุดเป็นครั้งแรกกับสื่อจากประเทศไทยในบ้านของพวกเขาเอง

 

 

เจสัน รูดิน และแอนโทเนีย วูดฟอร์ด ซึ่งเป็น Product Manager ของ News Feed ทักทายเราอย่างเป็นกันเองด้วยรอยยิ้ม และเริ่มเล่าถึงการต่อสู้กับข่าวเท็จด้วยหัวข้อ Fighting False News on Facebook

 

 

ทั้งคู่ปูพื้นด้วยการเล่ากลไกในการจัดอันดับว่าโพสต์ใดจะแสดงผลให้เราเห็นมากที่สุด (News Feed Ranking) โดยประกอบด้วย 4 ส่วนคือ

 

 

1. Inventory คลังข้อมูลทั้งหมดที่โพสต์โดยเพื่อนของคุณ (Friends) หรือเพจที่คุณกดไลก์ (Publishers)

 

2. Signals ต้นทางที่โพสต์คือใคร เขาโพสต์เมื่อเวลาไหน

 

3. Predictions เฟซบุ๊กจะคำนวณความเป็นไปได้ที่คุณจะชอบโพสต์นั้นๆ โดยคำนวณจากใครเป็นคนโพสต์ โพสต์เวลาไหน เป็นเรื่องราวประเภทใด ให้ข้อมูลมากแค่ไหน เป็นคลิกเบตหรือไม่ มีปฏิสัมพันธ์ (Engagement) อย่างไร คุณจะใช้เวลากับมันนานเท่าไร

 

4. Score คำนวณออกมาเป็นคะแนน เช่น 1.4 ซึ่งคะแนนเหล่านี้ของแต่ละคนจะไม่เท่ากันและไม่มีคะแนนเต็ม ระดับคะแนนไม่มีกำหนดตายตัว ยิ่งคะแนนสูง คุณก็จะเห็นโพสต์นั้นก่อน

 

 

การคิดคะแนนทั้งหมดนี้ เฟซบุ๊กเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยจะให้ความสำคัญกับ ‘ครอบครัวและเพื่อน’ มากที่สุด เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีคุณค่า (Meaningful Social Interaction) ส่วนโพสต์ของเพจข่าวหรือแบรนด์จะเห็นเป็นลำดับรองลงไป

 

 

ทีนี้ก็มาถึงส่วนที่เป็นหัวใจในการบรรยายครั้งนี้มากที่สุด นั่นคือเฟซบุ๊กจะสู้กับเนื้อหาที่บิดเบือนอย่างไร โดยพวกเขาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน

 

 

1. Remove

  • ลบแอ็กเคานต์ปลอม (Fake Account) ที่สร้างความเกลียดชัง ข่าวปลอม บิดเบือน หรือก่อการร้ายในทันทีที่พบ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน ปี 2018 เขาอ้างว่ากำจัดไปแล้ว 1.5 พันล้านแอ็กเคานต์
  • ลบข้อความหรือโพสต์ที่เป็นสแปม หลอกลวง ความรุนแรง อนาจาร ข่าวปลอมต่างๆ โดยในไตรมาสที่ผ่านมา (กรกฎาคม-กันยายน) ลบไปถึง 1 พันล้านโพสต์

 

2. Reduce

หากเป็นคอนเทนต์สีเทาจะแยกแยะได้ยากว่าควรลบหรือไม่ (เช่น ความเห็นทางการเมืองหรือคำด่าที่ไม่ผิดกฎหมาย) เฟซบุ๊กจะใช้วิธีจัดอันดับลด Reach ให้เห็นน้อยลง (Down Ranking) ซึ่งพวกเขาเองก็ยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะบางครั้งโพสต์เหล่านั้นก็ไม่ใช่ข่าวปลอม แต่เป็นข้อความที่ยุยงปลุกปั่นให้แตกแยก ซึ่งระบบอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กเองยังไม่สามารถตรวจสอบได้

 

 

3. Inform

เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่งใช้ไม่นาน โดยในแต่ละโพสต์จะมีปุ่มกดไปย้ง Related Articles เพื่อช่วยในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checker) หรือปุ่มกด Context Button ที่สามารถดูได้ว่าแหล่งข่าวนั้นเป็นใคร มีแบ็กกราวด์อย่างไร คอนเทนต์นั้นมีคนแชร์จากมุมไหนของโลกบ้าง

 

เฟซบุ๊กยังริเริ่มไปเป็นพาร์ตเนอร์กับองค์กรระหว่างประเทศในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (โดยเฉพาะคอนเทนต์จำพวกที่ต้อง Reduce) ทำไปแล้ว 4 ประเทศ และจะขยายเป็น 23 ประเทศในเร็วๆ นี้ (ยังไม่มีประเทศไทย) รวมทั้งจะเพิ่มการตรวจสอบจากตัวอักษรไปสู่รูปภาพและวิดีโอ

 

เท่าที่ฟัง ทีมงานเฟซบุ๊กเล็งเห็นความสำคัญและพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่พูดนั้นยังไม่เห็น ‘ปลายทาง’ ที่ชัดเจนว่าจะหาทางออกกับปัญหานี้ได้อย่างไร คณะสื่อไทยจึงเฝ้ารอช่วง Q&A ที่จะได้ถามคำถามคาใจ

 

มีคำถามน่าสนใจจากสื่อไทยท่านหนี่งว่า เฟซบุ๊กตรวจสอบพบบอตจากรัสเซียที่ปลุกปั่นข่าวปลอมช่วงเลือกตั้ง 2016 ได้หรือไม่ พวกเขาตอบเพียงว่ากำลังสืบสวนอยู่

 

ผมถามเขาว่าจะแก้ไขปัญหา Filter Bubble หรือการเลือกเสพแต่ข้อมูลที่ตัวเองเชื่อได้อย่างไร พวกเขาตอบว่าจะพยายามสร้างความเข้าใจ เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ให้หลากหลายมากขึ้น และกำลังพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น  

 

ยังมีอีก 2-3 คำถามจากสื่อไทยที่จี้ประเด็นเรื่องการจัดการข่าวคลิกเบตและข่าวบิดเบือน แต่คำตอบที่ได้ก็จะเป็นไปในทางเดียวกันคือ ‘กำลังดำเนินการอยู่’ และคงได้ทำงานร่วมกันกับสื่อไทยอย่างเข้มข้นในปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 7 ปี

 

จะเห็นได้ว่าเฟซบุ๊ก บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ยักษ์ของโลกนั้นเตรียมตัวมาอย่างดี พูดในสิ่งที่เขาต้องการจะพูด และไม่ให้คำตอบอย่างชัดเจนหากไม่จำเป็น แม้จะเห็นเจตนาที่ดี แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าหากพวกเขายังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จนลุกลามใหญ่โตขึ้นก็คงต้องถูกกดดันจากสังคมไปเรื่อยๆ อย่าลืมว่าพวกเขายังมีประเด็นข้อมูลรั่วไหลที่เกิดขึ้นหลายครั้งในปี 2018

 

คล้อยหลังในเย็นวันนั้นที่เราได้ไปเยี่ยมชมออฟฟิศเฟซบุ๊กตอนเช้า พวกเขาก็ถูกขู่วางระเบิดจนต้องอพยพพนักงานออกจากตึก นี่อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก หากปัญหานี้ยังคงคาราคาซังและคาใจสังคมอยู่

 

ในความเห็นของผม จริงอยู่ที่เฟซบุ๊กต้องรับผิดชอบกับการสร้างแพลตฟอร์ม ‘กระดานดำสาธารณะ’ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

ผมคิดว่าเฟซบุ๊กไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นเป็น ‘อาชญากร’ เพราะปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าใครคนหนึ่งจะแก้ไขได้ และเราทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเอง ตั้งคำถามในทุกข่าวที่เสพ อย่าเชื่อหากยังไม่ชัวร์ อย่าแชร์หากยังไม่ใช่ และอย่าโชว์หากยังไม่เชี่ยวชาญ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • การเดินทางในครั้งนี้ ผู้เขียนและสื่อไทยจำนวนหนึ่งได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในโครงการ International Visitor Leadership Program เพื่อมาเรียนรู้การจัดการความจริงของสื่อในยุคดิจิทัลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา THE STANDARD ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising