×

บทบรรณาธิการ: ระยะห่างทางสังคมไม่ได้ทำให้เราต้องมีระยะห่างทางจิตใจ

23.03.2020
  • LOADING...
Covid-19 Social Distancing

จุดตัดทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยกำลังใกล้เข้ามา ในขณะที่จุดสูงสุดของกราฟไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน

 

แต่หากดูจุดเปลี่ยนของบางประเทศ บทเรียนจากชาติที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ ประกอบด้วย 2 ตัวแปรสำคัญ 

 

หนึ่งคือรัฐบาล

สองคือประชาชน

 

รัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์ วางมาตรการ และสื่อสารกับประชาชน

 

การประกาศปิดสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง (Partly Lockdown) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้มีการวางแผนที่รัดกุมมากพอ สะท้อนผ่านภาพคนแห่กลับบ้านตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่หมอชิต 2 ที่มีรายงานว่า มีผู้โดยสารประมาณ 80,000 คน

 

คนตัวเล็กเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์หรือมีเสียง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ สายป่านสั้น เมื่อรัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน หรือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาก็เหมือนถูกบีบบังคับให้กลับบ้าน 

 

แผนเลื่อนสงกรานต์ให้ไกลออกไปกลับกลายเป็นเหมือนเลื่อนมาให้ใกล้ขึ้น และนั่นทำให้โจทย์ในการควบคุมเชื้อโรคยากขึ้นอีกหลายเท่า 

 

บทเรียนจากหลายประเทศมีให้เห็นแล้ว ทั้งน่าเรียนรู้และห้ามเลียนแบบ คำถามคือ เคยนำมาศึกษาอย่างจริงจังหรือไม่ ได้ประชุมทุกภาคส่วนเพื่อตัดสินใจร่วมกันหรือไม่ และได้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนหรือไม่

 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่ารัฐบาลประเทศไหนจะใช้ยุทธศาสตร์หน่วงโรค (Mitigation) ยุทธศาสตร์ปิดเมือง (Suppression) หรือยุทธศาสตร์ใดก็ตาม บทเรียนทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า ยุทธศาสตร์ที่ได้ผลดีที่สุดคือ ยุทธศาสตร์ที่ประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

วินาทีนี้ไม่ใช่ใครอื่น มีแต่เราเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงมันได้

 

เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขจุดตั้งต้นได้ แต่เราอาจป้องกันให้จุดจบดีขึ้นได้

 

เราไม่อาจต้านทานความรุนแรงของไวรัสได้ แต่เราอาจดึงเวลา-ชะลอการแพร่ระบาดของมันได้ 

 

เราไม่อาจรู้ว่า เส้นกราฟจะลากไปจบลงที่ใด แต่เราอาจลดความชัน-บรรเทาความสูญเสียได้

 

ข้อแม้มีแค่ว่า เราต้องร่วมมือกัน เราต้องไม่ด่าทอกัน และเราต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเอง

 

ผู้นำทำหน้าที่ของผู้นำ

รัฐบาลทำหน้าที่ของรัฐบาล

แพทย์ทำหน้าที่ของแพทย์

นักธุรกิจทำหน้าที่ของนักธุรกิจ

สื่อมวลชนทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ทุกคนทำหน้าที่ของตนเอง

 

ใครอยู่บ้านได้ โปรดอยู่

ใครต้องเดินทาง โปรดป้องกันตัวเอง

ใครพอมีกิน โปรดแบ่งคนที่หิวโหย

ใครพอมีสตางค์ โปรดช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน

ใครมีความถนัดอะไร โปรดใช้ความสามารถนั้นเพื่อเยียวยากัน

 

เราอาจจะเข้มงวดกับ Social Distancing แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะมี Heart Gathering ไม่ได้ 

 

กายเราอาจจะอยู่ห่างกัน แต่ใจของเราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้

 

วินาทีนี้หากไม่ใช่ตัวแปรที่หนี่ง ก็อาจต้องเป็นตัวแปรที่สองอย่างประชาชน

 

ถึงเวลาแล้วที่เราจะแสดงให้เห็นว่า ระยะห่างทางสังคมไม่ได้ทำให้เราต้องมีระยะห่างทางจิตใจ

 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X