×

เครือข่ายประชาชนฯ ให้อธิบดีกรมศิลป์ ถอนประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อายุ 3 พันปี

โดย THE STANDARD TEAM
05.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (5 มีนาคม) เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ออกแถลงการณ์ขอให้เพิกถอนประกาศกรมศิลปากร เรื่องการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา

 

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีที่กรมศิลปากรได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน โดยได้มีการแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ตำบลลิดล, ตำบลยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จากประกาศเดิมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ให้ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา 

 

โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากในพื้นที่จังหวัดยะลา และจังหวัดใกล้เคียงได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหิน อุตสาหกรรม จากสาเหตุที่แหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงทำให้จำเป็นต้องอาศัยแหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ดังนั้น เพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 จึงประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ให้มีพื้นที่ประมาณ 697 ไร่ 75 ตารางวานั้น

 

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เห็นว่าการเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อให้กับผู้ประกอบการเข้ามาทำประโยชน์ในกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นการออกประกาศที่ขัดต่อวิสัยทัศน์ พันธกิจ และบทบาทหน้าที่ของกรมศิลปากร ซึ่งควรต้องปกป้อง คุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สืบทอดศิลปะ และทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ต่อไปอย่างยั่งยืน 

 

ทั้งนี้ การที่อธิบดีกรมศิลปากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งตามมาตราดังกล่าวเมื่อตีความแล้วจะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาหรือควบคุมโบราณสถานในการปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการนำพื้นที่แหล่งโบราณสถานให้ผู้ประกอบการเข้าทำประโยชน์ในกิจกรรมอื่นใด ที่มีลักษณะทำลายหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งโบราณสถาน ศิลปะ และทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่การกำหนดให้เป็นเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมสำรองของจังหวัดด้วยก็ตาม

 

ไม่เพียงเท่านั้นผลกระทบจากการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่บางส่วนของภูเขายะลา เพียงส่วนเดียวก็ส่งผลกระทบในภาพรวมต่อภูเขาทั้งลูก และแหล่งโบราณสถานด้วย เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินและการทำงานของเครื่องจักรอุปกรณ์ในการทำเหมือง ซึ่งได้เกิดกรณีการที่ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดยาว 3 เมตร ได้พังถล่มลงมา และเกิดรอยร้าวบริเวณอื่นๆ ของแหล่งโบราณสถานด้วย 

 

โดยแหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าแก่มากถึงราว 3,000 ปี โดยได้มีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพำนักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และสัตว์ เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินและภาพเขียนสี อยู่ตามถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และอารยธรรมของมนุษย์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง และควรพัฒนาแหล่งโบราณสถานมรดกศิลปวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนจังหวัด และประเทศต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม การที่อธิบดีกรมศิลปากรออกประกาศเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าทำประโยชน์ในกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นความพยายามในการหลบเลี่ยงกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด 

 

ซึ่งตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตพระราชฐานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ซึ่งการปล่อยให้ผู้ประกอบการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นการกระทำผิดขัดต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ประกอบการต้องหยุดดำเนินกิจกรรมใดๆ ในการทำเหมืองทั้งหมด

 

แต่ทว่าอธิบดีกรมศิลปากรกลับไปเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถาน เพื่อเปิดทางให้เกิดการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่แหล่งโบราณสถานต่อไป โดยละเลย/เพิกเฉยต่อคุณค่า และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณสถาน ซึ่งเป็นมรดกศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนและของชาติ

 

ด้วยเหตุนี้ การที่อธิบดีกรมศิลปากรเพิกถอนขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการทำเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม และเข้าข่ายขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 

 

โดยขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และขอให้ยกเลิกเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมบนเขายะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ทั้งหมดโดยด่วน

 

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จะดำเนินการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้ รวมทั้งการฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X