×

จากประเทศสงบสุข สู่ประเทศอันตราย เอกวาดอร์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

โดย THE STANDARD TEAM
14.01.2024
  • LOADING...
เอกวาดอร์

“มันวุ่นวายมากอย่างที่คุณคงนึกภาพออก มองไปทางไหนก็มีแต่ความสิ้นหวัง ตั้งแต่อันธพาลคนนี้หายตัวไป ทุกคนก็หวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา” แคโรไลนา วาเลนเซีย ซึ่งเดินทางจากนิวยอร์กมาเยี่ยมครอบครัวที่เมืองกวายากิล เล่าด้วยความสิ้นหวัง

 

เอกวาดอร์ ประเทศเล็กๆ ในทวีปอเมริกาใต้ กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเกิดเหตุหัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดแหกคุก กลุ่มติดอาวุธสวมหน้ากากคลุมหน้าบุกยึดสถานีโทรทัศน์ พร้อมจับผู้ประกาศข่าวและเจ้าหน้าที่สถานีเป็นตัวประกันขณะกำลังออกอากาศสด นักโทษลุกฮือจับเจ้าหน้าที่เรือนจำมากกว่า 100 คนเป็นตัวประกัน 

 

นอกจากนั้นยังมีรายงานการระเบิด การเผายานพาหนะ การปล้นสะดม และมีเสียงปืนดังในหลายเมืองทั่วประเทศ ร้านค้า โรงเรียน สถานที่ทางการ และอาคารต่างๆ ต้องปิดทำการ เหล่าคนทำงานต้องเร่งรีบเดินทางกลับบ้าน ทำให้การจราจรบนถนนในกรุงกีโต เมืองหลวง และในกวายากิล เมืองใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์นั้นติดขัดอย่างมาก

 

ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี เอกวาดอร์ยังเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้สูงอายุในสหรัฐฯ หวังที่จะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและใช้เงินบำนาญหลังเกษียณอย่างสุขสบาย เนื่องด้วยสภาพอากาศที่อบอุ่นและค่าครองชีพที่ถูกกว่า แต่ภาพฝันดังกล่าวมีอันต้องสลาย เกิดอะไรขึ้นกับเอกวาดอร์ อะไรเป็นเหตุให้ประเทศที่สงบสุขที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกลายเป็นประเทศที่วุ่นวาย เต็มไปด้วยการจลาจลและเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นนองเลือด เราจะพาคุณผู้อ่านไปหาคำตอบ

 

แก๊งอาชญากรครองเมือง

ความรุนแรงส่วนใหญ่ในเอกวาดอร์มีสาเหตุมาจากการแข่งขันระหว่างกลุ่มแก๊งอาชญากรในท้องถิ่นที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับการหนุนหลังจาก 2 แก๊งค้ายารายใหญ่ในเม็กซิโกที่เป็นคู่แข่งกันอย่าง ซินาโลอา (Sinaloa) และฮาลิสโก นิว เจเนอเรชัน (Jalisco New Generation) อีกทั้งแก๊งอาชญากรเหล่านี้ยังเรียนรู้ยุทธวิธีการซุ่มโจมตีแบบกองโจรในเมืองจากกลุ่มอาชญากรในโคลอมเบียที่ได้แตกขยายสาขาธุรกิจค้ายาเสพติดและอาชญากรรมออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

 

เรนาโต ริเวรา จาก Ecuadorian Observatory on Organised Crime วิเคราะห์ว่า การที่เอกวาดอร์เปิดเศรษฐกิจขยายการเข้าถึงตลาดในเอเชียและยุโรป แต่กลับมีการควบคุมความปลอดภัยท่าเรือที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เอกวาดอร์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าโคเคนทั่วโลก 

 

ขณะที่ พล.ต.อ. ปาโบล รามิเรซ อดีตผู้อำนวยการปราบปรามยาเสพติดและการค้ายาเสพติด กล่าวว่า เอกวาดอร์ส่งออกสินค้าผ่านคอนเทนเนอร์ประมาณ 1 ล้านตู้ต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกล้วย 75% แต่ขณะเดียวกันตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ก็กลายเป็นช่องทางในการลักลอบขนยาเสพติดได้เป็นอย่างดี 

 

สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่หัวหน้าแก๊งและเจ้าพ่อค้ายาเสพติดที่โด่งดังที่สุดในประเทศ อดอฟโฟ มาเซียส หรือฉายา ‘ฟิโต’ หัวหน้าแก๊งอาชญากร ลอส โชเนรอส (Los Choneros) หลบหนีออกจากคุกเมื่อวันอาทิตย์ (7 มกราคม) 

 

เป็นที่โจษจันว่า มาเซียส เป็นหัวหน้าแก๊งค้ายาหลังลูกกรงที่โด่งดังที่สุด และเชื่อกันว่ากลุ่มของมาเซียสเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ในเอกวาดอร์ที่สร้างความสัมพันธ์กับแก๊งค้ายาเม็กซิกันที่ทรงอิทธิพล

 

มาเซียส ซึ่งต้องโทษจำคุก 34 ปี เคยก่อเหตุหลบหนีออกจากเรือนจำมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2013 ก่อนที่เขาจะขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มลอส โชเนรอส เมื่อประมาณปี 2020 และบงการการค้ายา รวมทั้งเป็นประธานการจัดกิจกรรมต่างๆ ของแก๊งจากห้องขังของเขาในเรือนจำกวายากิล ซึ่งกลายเป็นสำนักงานใหญ่ของแก๊ง ที่มีนักโทษถูกคุมขังอย่างแออัดยัดเยียดถึง 12,000 คน

 

หลังจากเกิดเหตุผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีถูกลอบสังหารเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว มาเซียสถูกย้ายไปคุมขังในที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงสุดเป็นเวลาสั้นๆ แต่ทนายความของเขายื่นอุทธรณ์ และผู้พิพากษาสั่งให้ย้ายมาเซียสกลับไปยังห้องขังที่เขาต้องการ 

 

มาเซียสเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนั้นด้วยการปล่อยมิวสิกวิดีโอในสไตล์ ‘Narcocorrido’ ซึ่งเป็นแนวเพลงที่มีต้นกำเนิดในเม็กซิโกเพื่อสรรเสริญการก่อเหตุรุนแรงของผู้ค้ายาเสพติด

 

นอกจากมาเซียสที่หลบหนีออกจากคุกแล้ว ไม่นานก็มีรายงานว่า ฟาบริซิโอ โคโลน หัวหน้าของอีกแก๊งอย่างลอส โลบอส (Los Lobos) ก็ก่อเหตุแหกคุกเช่นกัน โดยฉวยโอกาสในระหว่างที่กำลังเกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่เรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศในคืนวันจันทร์ สำนักงานอัยการระบุว่า โคโลนมีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์ลอบสังหารผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเฟอร์นันโด วิลลาวิเซนซิโอ เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงการขู่ฆ่าอัยการสูงสุด ไดอานา ซาลาซาร์ 

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ขณะนี้หลายแก๊งกำลังกบฏต่อต้านแนวทางอันเข้มงวดของ ดานิเอล โนโบอา ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งพยายามจะกวาดล้างแก๊งเหล่านี้ที่เข้าไปแผ่ขยายอิทธิพลในเรือนจำ โดยประธานาธิบดีประกาศว่าจะเพิ่มคุกทหาร เพิ่มโทษจำคุก และแยกขังหัวหน้าแก๊งหรือตัวการใหญ่

 

หนึ่งในมือปืนที่บุกยึดสถานีโทรทัศน์ในเมืองกวายากิล ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์ ประกาศต่อหน้ากล้องถ่ายทอดสดถึงสาเหตุที่ก่อเหตุอุกอาจว่าเป็นเพราะตั้งใจจะเตือนรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีดานิเอล โนโบอา ว่า “อย่ามายุ่งกับมาเฟีย” มิฉะนั้นจะเผชิญกับผลที่ตามมา นอกจากนี้ ตัวประกันยังถูกบังคับให้ส่งข้อความถึงประธานาธิบดีต่อหน้ากล้องว่าอย่ายื่นมือเข้ามายุ่ง

 

ประกาศทำสงครามกับแก๊งอาชญากร

แม้ตำรวจประกาศผ่านโซเชียลมีเดียในเวลาต่อมา ว่าสามารถจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุบุกสถานีโทรทัศน์ได้ 13 คน พร้อมยึดอาวุธ วัตถุระเบิด และหลักฐานอื่นๆ ได้ และช่วยเหลือตัวประกันไปยังที่ปลอดภัยแล้ว แต่สถานการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้โนโบอาที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ต้องประกาศสถานการณ์ ‘ความขัดแย้งด้วยอาวุธภายในประเทศ’ (Internal Armed Conflict) พร้อมเปิดฉากทำสงครามปราบปรามอาชญากรภายในประเทศอย่างจริงจัง โดยการขึ้นบัญชีแก๊งอาชญากรกว่า 20 แก๊งเป็นกลุ่มก่อการร้าย และอนุญาตให้กองทัพเอกวาดอร์กวาดล้างกลุ่มก้อนเหล่านี้ “ภายในขอบเขตของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ”

 

นอกจากนี้ โนโบอาซึ่งชนะเลือกตั้งมาได้ด้วยการชูนโยบายหาเสียงว่าจะฟื้นฟูความมั่นคงให้กับประเทศที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของกลุ่มอาชญากร ซึ่งเกิดจากการค้ายาเสพติดที่เฟื่องฟู ได้ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 60 วัน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมากกว่า 3,000 นายออกตามจับตัว อดอลโฟ มาเซียส หัวหน้าแก๊งค้ายาที่แหกคุกหลบหนีออกมา พร้อมสั่งการให้ทหารลาดตระเวนตามท้องถนนและเข้าควบคุมเรือนจำ 

 

“หมดเวลาที่นักโทษค้ายาเสพติด คนร้าย และกลุ่มอาชญากรจะมาบงการรัฐบาลว่าต้องทำอย่างไรแล้ว” ประธานาธิบดีโนโบอากล่าวในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (8 มกราคม)

 

จากประเทศสงบสุข กลับกลายเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในลาตินอเมริกา

สถานการณ์ความมั่นคงในเอกวาดอร์เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ประเทศตกอยู่ในความสับสนอลหม่านและการนองเลือด หลังการฆาตกรรมและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น จนทำประเทศเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในลาตินอเมริกา ทั้งที่เพิ่งไม่กี่ปีก่อน เอกวาดอร์ยังเคยเป็นมุมเล็กๆ ที่ค่อนข้างเงียบสงบ คั่นกลางระหว่างแหล่งผู้ผลิตโคเคนรายใหญ่ที่สุดสองแห่งของโลกอย่างโคลอมเบียและเปรู

 

เมื่อไม่นานมานี้ เอกวาดอร์ยังเป็นที่รู้จักในเรื่องของภูมิประเทศที่เป็นแหล่งภูเขาไฟ ความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และแม้กระทั่งเป็นสถานที่พักผ่อนหลังเกษียณสำหรับผู้สูงอายุในสหรัฐฯ แต่เวลานี้ภาพจำดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว

 

“เราไม่เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน” เฟอร์นันโด การ์ริออน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากสถาบันสังคมศาสตร์ลาตินอเมริกาในกรุงกีโต กล่าว “เรานิยามตนเองว่าเป็นเกาะแห่งความสงบสุขและสันติภาพมาโดยตลอด” เขากล่าวเสริม

 

ในปี 2017 อัตราการเสียชีวิตจากความรุนแรงในเอกวาดอร์อยู่ที่ 5 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่ปัจจุบันเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นมาเป็น 46 คน ซึ่ง “ทำให้ปี 2023 เป็นปีที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอกวาดอร์” การ์ริออนกล่าว ขณะที่ตามสถิติของตำรวจพบว่าในปี 2023 มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงอย่างน้อย 7,592 คน เทียบกับ 4,426 คนในปีก่อนหน้า 

 

เนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า การรีดไถ ขู่กรรโชกทรัพย์ และความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมรุนแรงในประเทศ ชาวเอกวาดอร์จำนวนมากจึงเลือกที่จะหลบหนีออกนอกประเทศไปตายเอาดาบหน้า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของปานามาระบุว่า ชาวเอกวาดอร์นับหมื่นยอมเสี่ยงทุกอย่าง โดยมุ่งหน้าไปทางเหนือผ่านช่องแคบดาเรียน (Darién Gap) ที่เต็มไปด้วยอันตรายระหว่างโคลอมเบียและปานามา และผู้อพยพชาวเอกวาดอร์ที่เดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าวมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากชาวเวเนซุเอลา

 

ย้ายสถานที่คุมขัง ชนวนเหตุนักโทษแหกคุก-ลุกฮือก่อจลาจล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำเอกวาดอร์ประกาศว่าเขาจะจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการพิพากษาลงโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับนักโทษที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง อย่างเช่น ฆาตกรรมและการค้าอาวุธ และการขยายบทบาทของกองทัพ

 

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโนโบอายังประกาศว่าจะสร้างเรือนจำที่มีความปลอดภัยสูงสุดขึ้นใหม่อีก 2 แห่ง พร้อมโปรโมตแผนการของเขาในการจัดการกับเรือนจำของประเทศ โดยเริ่มต้นด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ตัดการเข้าถึงปลั๊กไฟและเราเตอร์ของมาเซียส “คุณจะเห็นได้จาก YouTube ว่า ห้องขังของฟิโต (ฉายาของมาเซียส) มีรางปลั๊กไฟถึง 4 จุด ซึ่งมากกว่าในโรงแรมเสียอีก” 

 

ทั้งนี้ การกวาดล้างเรือนจำไม่เพียงเผยให้เห็นคลังอาวุธและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย แต่ยังรวมถึงหมู ไก่ และเวทีชนไก่ด้วย

 

มาเซียสถูกพบว่าหายไปจากห้องขังระหว่างการตรวจค้นของเถื่อน การหายตัวไปของเขาเกิดขึ้นในขณะที่เขาและอาชญากรชื่อดังคนอื่นๆ ถูกกำหนดให้ส่งตัวไปยังเรือนจำที่มีความปลอดภัยสูงสุด 

 

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเชื่อว่า มาเซียสอาจระแคะระคายเกี่ยวกับการย้ายสถานที่คุมขังจากการข่าวที่รั่วไหลของรัฐบาล “ถ้าเป็นจริงก็นับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก” เอสเตบัน ตอร์เรส เจ้าหน้าที่กล่าว เพราะ “นั่นอาจหมายความว่ามีการคอร์รัปชันในระดับสูงสุดของรัฐบาล”

 

วิลล์ ฟรีแมน นักวิจัยด้านลาตินอเมริกาศึกษาจาก Council on Foreign Relations กล่าวว่า การที่รัฐบาลเอกวาดอร์เข้าควบคุมเรือนจำนั้นมีความสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าความพยายามในการขจัดการทุจริตนั้นมีประสิทธิผล และการประกาศภาวะฉุกเฉินสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพในเรือนจำได้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาในระยะยาว เนื่องจากผู้นำเอกวาดอร์คนก่อนๆ ก็เคยใช้วิธีนี้มาแล้ว

 

ความเห็นของฟรีแมนสอดคล้องกับ นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาระบบเรือนจำเอกวาดอร์มาหลายปี เขากล่าวว่าประธานาธิบดีโนโบอาไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ฮอร์เก นูเญซ

 

“มันเป็นการผสมผสานระหว่างการคิดใหม่และการทำแบบเดิม” นูเญซกล่าว โดยเขาเคยวิจารณ์รัฐบาลชุดก่อนที่มอบอำนาจในการควบคุมเรือนจำให้กับตำรวจ แต่ตำรวจกลับมองไม่เห็นการเติบโตและการแผ่ขยายอิทธิพลที่มากเกินไปของแก๊งนักโทษ

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่ามากถึง 1 ใน 4 ของเรือนจำ 36 แห่งของประเทศถูกควบคุมโดยกลุ่มอาชญากร ขณะที่ประธานาธิบดีโนโบอาให้คำมั่นว่าจะยึดเรือนจำกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอีกครั้ง

 

นอกจากการตัดสินใจย้ายสถานที่คุมขังจะนำไปสู่การหลบหนีของมาเซียสแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดการลุกฮือของกลุ่มนักโทษในเรือนจำ โดยมีรายงานว่า เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นภายในเรือนจำอีก 6 แห่งในเอกวาดอร์ บางแห่งจับเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นตัวประกัน บางแห่งมีนักโทษจำนวนไม่น้อยหลบหนีออกจากเรือนจำ รวมถึงมีการรับแจ้งว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นในหลายจุดของเอกวาดอร์ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายถูกลักพาตัว

 

ปีใหม่ที่มืดมน

ในคืนวันจันทร์เข้าสู่วันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่คำสั่งเคอร์ฟิวมีผลบังคับใช้ ถนนหนทางในกรุงกีโตว่างโล่ง เงียบสงัด ไร้รถรา มีเพียงรถตำรวจและรถพยาบาลเท่านั้นที่พอจะมองเห็น ชวนให้ย้อนนึกไปถึงการล็อกดาวน์ในช่วงโควิดระบาด

 

“เคอร์ฟิวส่งผลต่อเราโดยตรง” จูเนียร์ กอร์โดวา เจ้าของร้านอาหารในเมืองหลวงของเอกวาดอร์กล่าว “เรามีการเริ่มต้นปีที่ดี แต่ตอนนี้ดูไม่ดีนัก เพราะผู้คนเริ่มรู้สึกกลัว”

 

คงต้องรอดูต่อไปว่า ความพยายามในการปราบปรามแก๊งอาชญากรของประธานาธิบดี ดานิเอล โนโบอา จะประสบความสำเร็จและสามารถนำความสงบสุขกลับคืนสู่เอกวาดอร์ได้หรือไม่ หรือชาวเอกวาดอร์จะยังคงต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อไปอีกนานเท่าใด

 

ภาพ: Franklin Jacome / Agencia Press South/Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X