วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการอบรมสัมมนาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติ กฎหมาย กฎระเบียบที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามห้วงเวลา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกับสื่อมวลชน และเครือข่ายของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมี แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตอบข้อสงสัยของสื่อมวลชนที่น่าสนใจดังนี้
- สำหรับการรายงานผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบเรียลไทม์ (ECT Report) รูปแบบการรายงานยังเหมือนเดิม เพียงแค่เปลี่ยนผู้ใส่ข้อมูล เพราะงานของ กกต. ต้องยึดหลักความถูกต้องมาก่อน เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการ ผิดไปคะแนนเดียวก็ไม่ได้ นี่คือเป้าหมาย ฉะนั้นถ้าให้กรรมการประจำหน่วย (กปน.) ซึ่งเป็นประชาชนใส่ข้อมูลก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อตรวจสอบเอกสารรายงานผลคะแนนที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง (แบบ ส.ส. 5/18) ถูกต้องแล้วให้ติดหน้าหน่วย
- หลังปิดหีบเลือกตั้ง คะแนนจะเริ่มเข้าไปในระบบ จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จากนั้นจึงให้สื่อมาเชื่อมต่อกับทาง กกต. เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็จะมาตกลงกับสื่อมวลชนว่าจะนำเสนอข้อมูลอย่างไร
- ทั้งนี้ กกต. จะไม่นำเสนอผลเลือกตั้งกับประชาชนเอง จะเป็นการนำเสนอผ่านรูปแบบที่เชื่อมกับสื่อมวลชน ขณะที่ข้อมูลที่สื่อจะได้รับก็ได้ตั้งแต่คะแนนแรกที่ กกต.กลางได้รับข้อมูล
- กกต. ยอมรับว่าไม่สามารถระบุเวลารายงานผลคะแนนได้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ละหน่วยตรวจสอบความถูกต้องแล้วกรอกข้อมูลในเอกสาร ส.ส. 5/18 แล้วนำไปติดหน้าหน่วย และนำสำเนาของ ส.ส. 5/18 ลงในระบบเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่าตรงกันหรือไม่ คนที่บวกคะแนนไม่สำคัญเท่ากับเอกสาร ส.ส. 5/18 ที่ติดหน้าหน่วยกับในระบบตรงกัน ซึ่งในเอกสาร ส.ส. 5/18 มี กปน. ลงชื่อทั้งหมด 9 คนยืนยัน
- สำหรับการนับคะแนนเลือกตั้งที่มาจากต่างประเทศ ครั้งที่ผ่านมาเกิดข้อผิดพลาดนับคะแนนไม่ทัน ทาง กกต. ได้มีการเตรียมการแก้ไขไว้แล้ว เพราะมีบทเรียนและจะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งจะมีการติดตามถุงส่งบัตรลงคะแนนไม่ให้คลาดสายตา พร้อมยืนยันว่ามีแนวทางป้องกันคะแนนสูญเปล่าไว้แล้ว
- กกต. ระบุว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงการรายงานผลตามระบบ ECT Report ได้ โดยติดตามได้ที่หน่วยเลือกตั้ง และเข้าเว็บไซต์ของ กกต. แต่ละจังหวัด ขณะนี้ ECT Report กำลังพัฒนา ใกล้จะเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการรายงานผลคะแนนครั้งนี้น่าจะเป็นที่สนใจและเร็วที่สุด และภายในคืนวันเลือกตั้งก็น่าจะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการแล้ว
- กกต. ระบุว่า หากซักซ้อมให้ดี อำนวยความสะดวกทั้งเรื่องการนับคะแนน และการให้ประชาชนในการลงคะแนน ภายในคืนนั้นก็น่าจะทราบผลทั้ง 77 จังหวัด
- กกต. ตั้งเป้าหมายในการรายงานผล 100% คือถูกต้องทั้งคะแนน และทุกอย่างถูกต้อง โดยนำบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมาพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้มีเงื่อนไขให้น้อยที่สุด ในส่วนของ กกต. ยังไม่มีเงื่อนไขอะไร และอยากทำให้การเลือกตั้งเรียบร้อยและถูกต้องที่สุด
- กรณี กกต. ส่งคำร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการคำนวณสัดส่วนราษฎรต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งว่าได้เตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว ขอให้สบายใจได้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด
- ส่วนไทม์ไลน์การแบ่งเขตอาจจะขยับบ้าง แต่ไม่เกินตามที่วางไว้ ซึ่งพยายามเร่งเวลาการทำงาน เพราะ กกต. ต้องให้เวลากับพรรคการเมืองในการทำไพรมารี
- ส่วนจะใช้เวลากี่วันในการประกาศเขตเลือกตั้ง กกต. ระบุว่า ยึดตามอายุครบของสภา นี่คือเวลาที่นานที่สุดแล้ว แต่ต้องทำให้เสร็จก่อนที่พรรคการเมืองจะทำไพรมารี ซึ่ง กกต. ให้เวลาพรรคการเมืองทำไพรมารี 10 วัน
- กรณีการแบ่งเขต ที่ผ่านมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ กกต. ไม่ได้ยึดหลักว่าต้องทำให้ถูกใจใคร เพียงต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย การทำงานในภาพรวมยึดหลักสุจริตเที่ยงธรรม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ระบบต่างๆ ที่จัดทำต้องพร้อมตรวจสอบ ถ้าพบปัญหา กกต. ได้รับบทเรียนที่ผ่านมา และจัดทำเป็นแนวทางในครั้งต่อไป
- กกต. ระบุว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีสิทธิรับรู้กฎ กติกา รายละเอียดการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหากได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกอาจถูกพรรค หรือบุคคลชักนำไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ทุกประเด็นที่กล่าวมา กกต. มีการสอดแทรกตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้งถึงวันเลือกตั้ง
- ประเด็นการจัดให้ทำไพมารีโหวตของพรรคการเมือง กกต. ระบุว่าการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต้องเน้นย้ำให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามขั้นตอนซึ่งมีทั้งสิ้น 10 ขั้นตอน กกต. ในฐานะหัวหน้างานธุรการของ กกต. และพรรคการเมือง ก็มีความมั่นใจกับตัวทีมงาน และประชาชนที่มาร่วมงานกับเรา ถึงวันนี้เราก็ได้เตรียมความพร้อมตามเงื่อนไขเวลาที่เกิดขึ้น ทาง กกต. รับฟังทุกความเห็น และไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานทางการเมือง