×

เลือกตั้ง 2566 : กกต. พร้อมส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทั้ง 400 เขต ส่วนบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทยอยถึงไทย 12 พ.ค. เตือนโซเชียลหยุดสร้างข่าวเท็จให้การเลือกตั้งสกปรก

โดย THE STANDARD TEAM
11.05.2023
  • LOADING...

วันนี้ (11 พฤษภาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สำนักงาน กกต. ได้ส่งบัตรที่จะใช้เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ไปถึงทั้ง 400 เขตเรียบร้อยแล้ว และวันนี้ได้ส่งบัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย กกต. และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ตรวจสอบความถูกต้องของทุกซอง แล้วจะส่งไปยังทุกหน่วยเลือกตั้งทุกเขต รวมถึงส่งบัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ส่งกลับมาแล้วทั้งหมด 91 สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 96 เหลือเพียง 3 สถานทูต คือ 1. สถานทูตกรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ 2. สถานทูตกรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก และ 3. สถานทูตกรุงเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก โดย 2 สถานทูตแรกจะมาถึงในวันนี้ ส่วนของเม็กซิโกจะถึงวันที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งจะดำเนินการคัดแยกและส่งไปยัง 400 เขตในวันที่ 12 พฤษภาคมต่อไป 

 

แสวงกล่าวต่อไปว่า ช่วงนี้มีการทำข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือน ซึ่ง กกต. ตรวจสอบพบกว่า 100 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น มีการแชร์คลิปวิดีโอขณะเจ้าหน้าที่กำลังเซ็นชื่อในเล่มบัตรเลือกตั้ง แต่โซเชียลมีเดียกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่กำลังกาบัตร ซึ่งในข้อเท็จจริงบัตรเลือกตั้งที่ปรากฏเป็นบัตรที่ กกต. จัดส่งไปยัง 400 เขต และประธานอนุกรรมการเขตกำลังรับมอบบัตร โดยเซ็นหน้าปกบัตรตามระเบียบ กกต. เพื่อส่งมอบให้กับกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ซึ่งจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้พลิกเอกสารหรือกาในบัตรลงคะแนนแต่อย่างใด การที่เราได้เห็นภาพนี้เพราะสำนักงาน กกต. ได้สั่งให้ถ่ายวิดีโอเพื่อไม่ให้ใครนำบัตรไปทำอะไร แต่กลับมีการนำภาพดังกล่าวไปบิดเบือนว่าสำนักงาน กกต. กำลังกาบัตร เป็นต้น ขณะนี้สำนักงาน กกต. กำลังดำเนินการกับผู้ที่ปล่อยข่าวเท็จเหล่านี้แล้ว 

 

“อยากขอว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรก็สามารถแสดงความเห็นได้ แต่อย่าบิดเบือนทำให้การเลือกตั้งให้สกปรก เพราะการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเราอยู่กันด้วยความจริงและใช้เหตุผล ไม่ใช่อยู่บนความรู้สึกนึกคิดที่ขาดหลักการ เราควรรักษาการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นทางออกของประเทศ ก็ขอให้รักษาการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” แสวงกล่าว 

 

ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แสวงกล่าวว่า ตนยังไม่เห็นคำร้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติ มีขั้นตอนตามกฎหมาย มีอยู่ 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง โดยก่อนการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาตรา 61 ถ้า กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติ ให้ยื่นต่อศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 วัน แต่หากดำเนินการไม่ทัน หลังการเลือกตั้ง ก่อนการประกาศผล ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง กกต. ก็จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติในการสมัครแต่ก็ยังลงสมัคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้นก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส. ไปก่อน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการหลังการประกาศผลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งได้กำหนดช่องทางในการดำเนินการไว้ ทั้งให้ ส.ส. หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าชื่อ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไม กกต. ไม่ยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง เพราะถ้ายื่นหลังการเลือกตั้งจะมีผลกระทบมากกว่า แสวงกล่าวว่า ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน สำนักงาน กกต. ก็จะรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหาก่อนนำเสนอให้ กกต. พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา อย่างเช่นวันนี้หน่วยงานที่ กกต. ได้ขอความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเพิ่งส่งข้อมูลล่าสุดมาให้ พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อคนหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ กกต. เห็นว่าจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมและได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน จึงให้สำนักงาน กกต. ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าคำสั่งล้มละลายยังมีผลอยู่หรือไม่ และผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการในเรื่องของการต่อสู้อย่างไรหรือไม่ จากนั้นกรรมการค่อยมาพิจารณาเรื่องการยื่นต่อศาล ดังนั้นจึงต้องแยกเรื่องกระบวนการให้ความเป็นธรรมกับผลกระทบออกจากกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising