×

กกต. นัดหารือพรรคการเมือง เตรียมพร้อมเปิดสนามเลือกตั้ง ทบทวนงบประมาณ-ป้ายหาเสียง ตอบข้อสงสัยจำนวนราษฎรต่อการแบ่งเขต

โดย THE STANDARD TEAM
08.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมหารือกับพรรคการเมือง ในการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมี อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานการประชุม

 

อิทธิพรกล่าวภายหลังการประชุมว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กกต. ได้กำหนดรูปแบบไว้ รวม 3 รูปแบบ แบบแรก กกต. คิดเอง โดยคำนวณกับปัจจัย 7 ประการ ได้แก่ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ, ดัชนีราคาผู้บริโภค, น้ำมันดีเซล, ราคาไม้อัดขนาด 4X8 ฟุต หนา 4 มิลลิเมตร, กระดาษโปสเตอร์ขนาด 15.5X21.5 (บาทต่อแผ่น), ค่าไวนิลขนาด 1X3 เมตร (บาทต่อผืน) และฟิวเจอร์บอร์ด 130 เซนติเมตร X 3 มิลลิเมตร (บาทต่อแผ่น) 

 

ซึ่งหากสภาอยู่จนครบวาระ ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 6.5 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 152 ล้านบาท ส่วนกรณีมีการยุบสภา ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 1.74 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40.6 ล้านบาท  

 

รูปแบบที่ 2 เป็นการนำปัจจัย 7 ประการไปหารือกับ 3 หน่วยงานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จำนวนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครเพิ่มขึ้นกว่าที่ กกต. ตั้งตุ๊กตาไว้ 

 

ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นข้อเสนอของ 3 หน่วยงาน ที่เห็นว่าควรคำนวณอัตราเงินเฟ้อรวมเข้าไปด้วย การเสนอทั้ง 3 รูปแบบได้มีการเสนอให้ผู้แทนพรรคการเมืองพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย มีทั้งที่เห็นว่าเหมาะสมแล้ว มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดย กกต. มีแบบสอบถามความเห็นให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่าพึงพอใจรูปแบบใด จากนั้นสำนักงาน กกต. ก็จะนำความเห็นมาประมวล และส่งให้ที่ประชุม กกต. พิจารณาว่าเท่าใดจึงจะเหมาะสมก่อนที่จะออกประกาศ

 

อิทธิพรกล่าวต่อไปว่า เรื่องป้าย ขนาด สถานที่ติดตั้ง จะทำอย่างไร เปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่ วันนี้มีความเห็นหลากหลายเช่นกัน โดย กกต. จะพิจารณาต่อไป

 

สำหรับข้อสงสัยเรื่องการนับรวมบุคคลที่ไม่ถือสัญชาติไทยเป็นประชากรในเขตเลือกตั้งด้วยหรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ สำหรับตนเองไม่ได้มองว่าเป็นความขัดแย้ง เป็นเพียงข้อเห็นต่าง ที่ผ่านมา กกต. เคยออกเอกสารชี้แจงมาแล้ว 2 ฉบับ 

 

ในความเห็นว่า กกต. ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ว่าการกำหนดจำนวน ส.ส. และเขตเลือกตั้งให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ เป็นไปตามหลักฐานการขึ้นทะเบียนราษฎรที่ประกาศโดยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง (กระทรวงมหาดไทย) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ซึ่งรวมทั้งผู้มี และไม่มีสัญชาติไทย ที่ผ่านมา กกต. ยึดตามถ้อยคำดังกล่าวมาโดยตลอด ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่ระบุไว้

 

อิทธิพรกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ กกต. พิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมาย ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า จำเป็นต้องยื่นประเด็นกรอบความหมาย ‘ราษฎร’ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความหรือไม่ อิทธิพรตอบเพียงว่า ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอย่างนั้น

 

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมหารือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมาย เป็นการซักซ้อมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้ง และกระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการชี้แจงเกี่ยวกับการได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, หัวหน้าพรรคการเมือง, กรรมการบริหารพรรคการเมือง และบุคคลที่พรรคการเมืองมอบหมาย

 

สำหรับเนื้อหาการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ, การปิดประกาศและการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง, การเตรียมความพร้อมในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, การสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง และการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมืองประจำปี 2566 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising