×

‘เข้าใจเศรษฐกิจจากทุกศาสตร์’ x ‘เข้าใจเศรษฐศาสตร์ในทุกกิจ’

25.07.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ในโลกเศรษฐกิจใหม่ควร ‘เข้าใจเศรษฐกิจจากทุกศาสตร์’ x ‘เข้าใจเศรษฐศาสตร์ในทุกกิจ’ ซึ่งข้อคิดที่นำเสนอนี้เป็นเพียงมุมมองของคนคนหนึ่งที่มีประสบการณ์เป็น ‘Practitioner’ หรือผู้นำเศรษฐศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการทำยุทธศาสตร์ จากประสบการณ์ส่วนตัวในหมวกผู้บริหารในบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ, ธนาคารระหว่างประเทศ, กรรมการอิสระในสถาบันการเงิน, ที่ปรึกษาองค์กรเพื่อสังคม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายต่างๆ ดังนั้น จึงไม่ใช่มุมมองของนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์นะครับ 

 

1. เข้าใจเศรษฐกิจจากหลายศาสตร์

บ่อยครั้งผมพบว่าผู้บริหารไม่ได้ต้องการ ‘นักเศรษฐศาสตร์’ แต่แค่อยากมีคนที่ ‘เข้าใจสภาวะเศรษฐกิจ การเงิน และนโยบายที่เกี่ยวข้อง’

 

หลายท่านอาจถามว่า “อ้าว แล้วคนคนนั้นไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือ?” แต่คำตอบที่ผมค้นพบก็คือ “คนคนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ก็อาจไม่ได้เป็นคนคนนั้น”

 

โดยขออธิบายแบ่งเป็น 3 ส่วน

 

  1. ตอนทำงานในภาคการเงินระหว่างประเทศผมได้พบกับนักลงทุนหลายท่านที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์มา แต่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจมหภาคดีมาก สามารถวิเคราะห์แนวโน้ม GDP ดอกเบี้ย ค่าเงิน ด้วยวิธีนอกตำราที่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่บางครั้งก็ให้มุมมองที่อาจแม่นยำกว่านักเศรษฐศาสตร์เสียอีก

 

  1. ในทางกลับกัน คนมักเข้าใจผิดว่าคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์จะต้องบอกได้ว่าทิศทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินจะไปทางไหน แต่จริงๆ แล้วนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่ได้มีหน้าที่วิเคราะห์สิ่งเหล่านี้เลย แต่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่หลากหลาย เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การค้าระหว่างประเทศ จิตวิทยาและพฤติกรรม ฯลฯ 

 

  1. นักเศรษฐศาสตร์ตามสถาบันการเงินที่มีหน้าที่วิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจก็ไม่ได้ใช้แต่วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา แต่ต้องใช้ ‘หลายศาสตร์’ ผสมผสานกัน เพื่อเข้าใจ ‘เศรษฐกิจ’ เช่น รัฐศาสตร์, กฎหมาย, สังคมศาสตร์, จิตวิทยา ฯลฯ 

 

สำหรับประสบการณ์ของผม มองย้อนกลับไปสมัยที่ได้รับรางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมของ Consensus Economics ทั้ง 3 ครั้ง ล้วนมาจากการศึกษาปัจจัยทางการเมืองและจิตวิทยาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่ว่ารู้เศรษฐศาสตร์มากกว่าคนอื่นๆ

 

ดังนั้น ผมจึงเชื่อตลอดมาว่า ความเข้าใจเศรษฐกิจไม่ได้เป็นสินค้าผูกขาดของเศรษฐศาสตร์ แต่จะเกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ้งขึ้นหากเราได้ถกเศรษฐกิจกับคนที่ทั้งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และคนที่ไม่ใช่ 

 

สุดท้าย ข้อเตือนใจผมก็คือ เวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจกับผู้บริหารท่านอื่นที่อาจจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ต้องอย่าลืมใช้ ‘ภาษาคนธรรมดา’ ลดการใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์ที่จะทำให้หลายคนปิดหูเลิกฟัง

 

2. เข้าใจเศรษฐศาสตร์ในทุกกิจ

แม้ความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจอาจมีส่วนช่วยให้ผมขึ้นสู่บทบาทผู้บริหาร แต่ทักษะที่ใช้มากที่สุดจริงๆ เมื่อเข้ามาในบทบาทนี้คือ ‘การมองโลกผ่านเลนส์นักเศรษฐศาสตร์’ เพราะบ่อยครั้งผมจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเดียวในห้องประชุมผู้บริหารหรือบอร์ด 

 

โดยจากประสบการณ์คิดว่ามี 4 ด้านที่การมองโลกผ่านเลนส์นักเศรษฐศาสตร์มีประโยชน์กับการทำยุทธศาสตร์ขององค์กร

 

1. เข้าใจความเสี่ยง 

นักธุรกิจทุกคนย่อมเข้าใจความเสี่ยงด้านธุรกิจดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จะช่วยเสริมให้ได้คือ ความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงที่มีจากเศรษฐกิจมหภาค การเงิน และนโยบาย (Macroeconomic, Financial and Policy Risks) เช่น เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยไหม, ค่าเงินจะผันผวนหรือไม่, รัฐบาลจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจไปทางไหน, ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์จะกระทบเราอย่างไร ฯลฯ 

 

ในโลกที่เปราะบางและความไม่แน่นอนสูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์สามารถช่วยคิด Scenario ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และคอยติดตามประเมินว่าโลกไหนที่วาดไว้จะกลายเป็นความจริง เพื่อให้องค์กรปรับยุทธศาสตร์ได้ทัน 

 

แต่ข้อเตือนใจหนึ่งสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานตรงนี้ก็คือ ต้องไม่ลืมวิเคราะห์ ‘โอกาส’ (Upside Risk) ด้วย อย่ามองแต่ด้านความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) เพราะผู้บริหารคนอื่นมักจะชอบบ่นว่านักเศรษฐศาสตร์ชอบมองโลกแต่ในแง่ร้าย

 

2. เข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)

นักเศรษฐศาสตร์เติบโตมากับการวิเคราะห์แรงจูงใจและพฤติกรรมของคนในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการอ่านทางว่าผู้วางนโยบาย (Policy Makers) จะขยับนโยบายไปทางไหน และมีผลกระทบกับเราอย่างไร

 

ความเข้าใจ Stakeholders ตรงนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่การช่วยให้ธุรกิจระวังความเสี่ยงด้านนโยบายได้ท่วงทันเท่านั้น แต่บางครั้งนักเศรษฐศาสตร์สามารถเป็นสะพานเชื่อม สร้างความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ระหว่างผู้วางนโยบาย ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ ที่นำไปสู่การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ 

 

แต่สิ่งที่ต้องระวังสำหรับนักเศรษฐศาสตร์เวลาวิเคราะห์ Stakeholders ก็คือ อย่าใช้แต่วิชาเศรษฐศาสตร์สายหลักจนเผลอตั้งข้อสมมติว่าผู้อื่นจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล (Rational) เสมอไป แต่ควรเอาปัจจัยด้านจิตวิทยา, อารมณ์, การเมือง, วัฒนธรรม, โครงสร้างองค์กร ฯลฯ มาพิจารณาด้วย

 

3. เข้าใจข้อมูล (Data)

นักเศรษฐศาสตร์มักได้เรียนรู้เทคนิคทางสถิติและการวิเคราะห์ Data มาสารพัดรูปแบบ ทั้งยังคุ้นเคยกับการทำกราฟต่างๆ (จนบางทีคนอื่นอาจบอกว่าใช้กราฟมากไป) 

 

แต่บ่อยครั้งผมพบว่านักเศรษฐศาสตร์อาจไม่ใช่คนที่รู้เรื่อง Data มากที่สุดในห้องเสมอไป (อย่างน้อยตัวผมไม่ใช่แน่นอน) แต่บทบาทที่สำคัญคือการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างทีมวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Data Scientist หรือ Data Analyst กับคนวางยุทธศาสตร์ขององค์กร ได้ด้วยการ ‘ตั้งคำถาม’ ให้แหลมคมและตรงเป้า

 

ซึ่งตรงกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ชื่อ ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ เคยตักเตือนผมไว้สมัยเป็นผู้ช่วยวิจัยของท่านว่า ไม่ว่าเทคนิคทางสถิติที่เราใช้ช่วยหา ‘คำตอบ’ จะพัฒนาไปไกลแค่ไหน ขออย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตั้ง ‘คำถาม’ ให้แหลมคม และตีโจทย์ให้แตกตั้งแต่ต้น 

 

4. การเข้าใจธุรกิจ…ในมุมใหม่ๆ

มุกตลกคลาสสิกระดับตำนานที่ใช้ล้อเลียนนักเศรษฐศาสตร์มาช้านานก็คือเรื่อง ‘สมมติที่เปิดกระป๋อง’

 

เรื่องก็มีอยู่ว่า นักฟิสิกส์ นักเคมี และนักเศรษฐศาสตร์ ต่างก็ติดเกาะอยู่ด้วยกันและมีแต่อาหารกระป๋องที่ใช้เลี้ยงชีวิตได้ แต่ดันไม่มีที่เปิดกระป๋อง ทั้งสามจึงช่วยกันคิดแก้ปัญหา ทั้งนักฟิสิกส์และนักเคมีต่างก็เสนอวิธีการเปิดกระป๋องอย่างชาญฉลาดตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ตนถนัด 

 

แต่พอถึงตานักเศรษฐศาสตร์พูด เขาบอกว่า “เรามาลองสมมติกันก่อนว่าเรามีที่เปิดกระป๋อง…” ซึ่งสะท้อนปัญหาที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบเริ่มต้นด้วยการตั้งสมมติฐานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

แต่ผมจะขอชวนจินตนาการต่อ 

 

หากเราเล่าเรื่องนี้ต่ออาจพบว่า นักเศรษฐศาสตร์กำลังจะบอกว่าหากเราเปิดกระป๋องได้แล้ว เราคิดหรือยังว่าจะแบ่งอาหารกระป๋องนี้กันอย่างไร เพราะหากเราไม่คิดตรงนี้ไว้ก่อน สุดท้ายอาจไม่ได้ตายเพราะอดอยาก แต่เป็นเพราะต่อสู้แย่งอาหารที่มีจำกัดก็ได้ 

 

เมื่อมองจากมุมนี้ การที่นักเศรษฐศาสตร์คิดประหลาดกว่าคนอื่นในห้องอาจไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เขากำลัง Add Value โดยการชวนคิดถึงมุมอื่นที่ต่างจากคนอื่นในห้อง จากประสบการณ์ของผม บางครั้งประโยชน์ที่คาดไม่ถึงของการมีนักเศรษฐศาสตร์ในห้องประชุมก็คือการมี ‘แกะดำ’ ที่มองธุรกิจในมุมที่ต่างจากคนอื่น ทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิดที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ทางยุทธศาสตร์ได้

 

โดยสรุป แม้วันนี้เองผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็น ‘นักเศรษฐศาสตร์’ หรือเปล่า แต่ที่บอกได้คือ ‘ความเข้าใจเศรษฐกิจจากหลายศาสตร์’ และ ‘ความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ในทุกๆ กิจ’ มีส่วนสำคัญอย่างมากในชีวิตการทำงาน และผมเชื่อว่าทักษะเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เป็นที่ต้องการจากองค์กรต่างๆ ในโลกเศรษฐกิจใหม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising