ไม่ว่าแบงก์ชาติหรือหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงการคลัง ก็มองว่าปี 2564 ที่จะถึงเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีให้ฟื้นตัวใกล้กับช่วงก่อนโควิด-19 ยิ่งทำให้ภาพข้างหน้าทั้งแรงงาน รายย่อย กำลังซื้อในประเทศดูซบเซา
แต่มีธุรกิจที่มองว่าปีหน้าคือโอกาสในการเติบโตคือ ‘Wealth’ หรือการสะสมความมั่งคั่ง ที่นอกจากจะมีผู้เล่นใหม่เข้ามา ผู้เล่นในตลาดก็หาทางเพิ่มเงินลงทุนจาก ‘คนรวย’ ที่รวยอยู่แล้ว แต่ทำไมในวิกฤตแบบนี้ธุรกิจ Wealth ยังขยายตัวได้?
คนรวยทั่วโลกมีอยู่เท่าไร
นิยามคำว่า Wealth หรือคนรวย โดยเฉพาะผู้ที่มีสินทรัพย์สูง (High Net Worth) ตามมาตรฐานโลกการเงิน คือมีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30 ล้านบาทขึ้นไป จากข้อมูล World Wealth Report พบว่า 12 ปีที่ผ่านมา (2551-2562) จำนวนคนรวยทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2562 อยู่ที่ 19.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีอยู่ราว 8.5 ล้านคนเท่านั้น
ขณะที่มูลค่า Wealth ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยปี 2562 อยู่ที่ 73.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่อยู่ 32.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนึ่งในภูมิภาคที่ความมั่งคั่งเติบโตรวดเร็วคือเอเชียแปซิฟิก ในปี 2562 มีมูลค่า Wealth 22.17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจากปี 2551 เรียกว่าคนรวยในเอเชียเพิ่มขึ้นเร็วไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆ
และเมื่อเจาะดูคำว่า Wealth ในไทยมีหลากหลายนิยาม เช่น ฝั่งธนาคาร และ บล. จะนิยามลูกค้า Weatlh ที่มีสินทรัพ์ภายใต้การบริหาร (AUM) เช่น เงินฝาก กองทุนรวม สินเชื่อ ฯลฯ เริ่มต้นราวหลักล้านบาท ซึ่งจะมีการแตกเซกเมนต์ย่อย เช่น ลูกค้าที่มี AUM 10 ล้านบาท 50 ล้านบาท ไปจนถึงกลุ่มที่มีมากกว่าร้อยล้านบาท การบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะแตกต่างกันไป ยิ่งในวิกฤตแบบนี้ธนาคารต้องมองหาธุรกิจที่ความเสี่ยงน้อยกว่า ทำให้กลุ่ม Wealth เป็นตลาดที่น่าจะเติบโตสูงกว่าตลาดอื่นๆ
ปัจจุบันประเทศไทยมีลูกค้า Wealth ที่มีเงินลงทุน 2 ล้านบาทขึ้นไป ราว 700,000 ราย คิดเป็น AUM ราว 15 ล้านล้านบาท ซึ่งการเพิ่ม AUM ในกลุ่มลูกค้า Wealth จะเห็นหลายเจ้าหันมาเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงินลงทุนแล้ว แต่จะน่าสนใจอย่างไร?
KPB-CIMBT โฟกัสที่ดิน- หุ้นกู้คนรวยให้สินเชื่อเพื่อลงทุน
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KPB) เล่าว่า ที่ผ่านมาธุรกิจ Wealth เมื่อจะขยายฐาน AUM จะมาจากการดึง Wealth ลูกค้าจากที่อื่นๆ มา และอีกทางคือการเพิ่มเงินลงทุนใหม่จากสินทรัพย์ที่ลูกค้ามีอยู่แล้ว โดยลูกค้า Wealth ส่วนใหญ่มักจะมีที่ดินจำนวนมาก ยิ่งมีเรื่องภาษีที่ดินใหม่ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการส่งทีมช่วยวางแผนการบริหารภาษีและอสังหาริมทรัพย์ของลูกค้ามากขึ้น
“ตอนนี้ AUM ของ Private Banking เราอยู่ที่ 806,741 ล้านบาท มีจำนวนลูกค้า 12,159 คน ซึ่งถ้ารวมมูลค่าที่ดินของลูกค้า น่าจะทำให้ AUM เราน่าจะสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท”
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KPB)
ดังนั้นเป็นที่มาให้ KPB ทำผลิตภัณฑ์ Land Loan for Investment คือการนำที่ดินมาขอสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุน ตอนนี้มีกลุ่มลูกค้าราว 90 ราย และมีวงเงินที่อนุมัติแล้ว 8,915 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 5,158 ล้านบาท ถือว่าได้รับความสนใจจากลูกค้ามาก ทำให้เราเตรียมไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อรวมเป็น 30,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท สินเชื่อนี้ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะความเสี่ยงต่ำและสามารถให้อัตราดอกเบี้ยที่ให้ลูกค้าในระดับต่ำที่ราว 2% ซึ่งลูกค้าสามารถนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้ต่อเนื่อง
ขณะที่ฝั่งธนาคารที่มีแบงก์แม่ในอาเซียนอย่างธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออมและกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ เล่าว่า ช่วงมกราคม 2564 จะเปิดตัวสินเชื่อใหม่ให้ลูกค้า Prefered (มี AUM 3 ล้านบาทขึ้นไป) ในชื่อ Wealth Credit Limit โดยจะใช้สินทรัพย์ เช่น หุ้นกู้ หุ้นกู้อนุพันธ์ ฯลฯ มาขอสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทน โดยอัตราดอกเบี้ยคาดว่าเริ่มต้นที่ 3% ต่อปี วงเงินสูงสุดคาดว่า 50 ล้านบาท
ดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออมและกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)
“สินเชื่อ Wealth Credit Limit ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีหลักทรัพย์ทางการเงินค้ำประกัน โดยรูปแบบการดูความเสี่ยงจะใช้โมเดลแบงก์เราที่ทำอยู่ในสิงคโปร์ แต่ของเขาวงเงินสินเชื่อจะเริ่มต้นที่ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของไทยเริ่มที่วงเงินสูงสุดราว 50 ล้านบาทก่อน ซึ่งวงเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน”
ปีหน้ามองว่าตลาด Wealth จะเติบโตมากผ่านการครอสเซลผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในแบงก์ เพื่อรักษาลูกค้าให้อยู่กับเรามากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีลูกค้า Prefered เพิ่มขึ้น 10,000 ราย จากปัจจุบันมีอยู่ราว 86,000 คน ในส่วนของ AUM ปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 20% จากปัจจุบันอยู่ราว 270,000 ล้านบาท
เจาะเทรนด์ลงทุนปี 2564: Wealth ต้องโตจากหุ้นโลกและเอเชีย
ในปีหน้าทั้งสองธนาคารมองว่าภาพรวมเศรฐกิจไทยยังชะลอตัว และมองว่าการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นต้องลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นโลก
ด้าน ดุษณี เล่าว่า ปีหน้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีกว่าปีนี้ เพราะข่าวดีเรื่องวัคซีนและความกังวัลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจลดลงไปมาก ซึ่งจะทำให้ GDP เกือบทุกประเทศติดลบจะกลับมาบวกปีหน้าเช่นกัน โดย GDP โลกปี 2564 คาดว่าจะพลิกเป็นบวกที่ 3.9% (จากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 6.6%)
แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือปัจจัยเรื่องวัคซีนและเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะฟื้น และยังต้องติดตามเรื่องแรงงาน ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะอยู่กับเราไปอีก 3-4 ปี ดังนั้นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจึงเน้นที่ไปที่หุ้น โดยเฉพาะ ‘หุ้นต่างประเทศ’ แต่ต้องลงทุนในกลุ่มที่มีทิศทางสดใส เช่น Cloud Computing เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องอาศัยงานหลังบ้าน, E-Commerce ค้าขายออนไลน์ และ Health Tech เช่น หุ้นกลุ่ม FAANG ในสหรัฐฯ และบริษัทเทคโนโลยีในจีน
* หุ้นกลุ่ม FAANG ได้แก่ Facebook (FB), Amazon (AMZN), Apple (AAPL), Netflix (NFLX), Alphabet (GOOG)
“จุดสำคัญของการลงทุนคือการกระจายการลงทุน และต้องมอนิเตอร์พอร์ตลงทุนอย่างต่อเนื่อง ปีหน้ามองว่าทองคำยังควรติดพอร์ตไว้ 5-10% หุ้นที่น่าสนใจจะเป็นฝั่งสหรัฐฯ และเอเชีย ส่วนหุ้นไทยต้องรอเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่อีกครั้ง”
ด้าน จิรวัฒน์ KPB มองว่า ตลาดหุ้นในปีหน้าจะไม่ฟื้นตัวเร็วเท่ากับปี 2563 แต่มองว่ามีข่าวดีมากขึ้น และเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวด้วย โดยแนะนำการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ให้มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นโลกที่มีการเติบโต โดยเฉพาะหุ้นในเอเชียอย่าง จีน ที่มีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในหุ้นที่เปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรของเศรษฐกิจในกลุ่ม Mid-Cap เช่น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว บริษัทอุตสาหกรรมหนัก เครื่องจักรน่าจะเริ่มกลับมา
ขณะที่มองว่าการลงทุนในหุ้นกู้ผลตอบแทนสูงน่าสนใจมากเพราะภาวะดอกเบี้ยต่ำที่เกิดขึ้น แต่ยังต้องคัดสรรเช่นกัน เพื่อไม่ให้เจอการผิดนัดชำระ ปัจจุบันในจีนมีการออกมาจำนวนมาก และต้องสมดุลการลงทุนทั้งหมดผ่านการติดตามอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้มองว่าความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ ยังมีอยู่ ดังนั้นต้องมีการกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนทองคำ แต่ต้องระวังสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีความผันผวน อย่างไรก็ตาม การลงทุนผ่านตราสารหนี้นอกตลาดและหุ้นตลาดยังเป็นส่วนที่ช่วยสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุนเพิ่มเติม
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ในส่วนธุรกิจ Private Bank ทั้งในไทยและต่างประเทศยังไม่ค่อยมีใครทำ เพราะส่วนใหญ่จะรอให้เกิดหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐที่ชัดเจน ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะอยู่ในกลุ่ม Wealth ระดับกลางมากกว่า
สุดท้ายนี้ธุรกิจ Wealth ยังเป็นตลาดที่หอมหวานสำหรับทุกธนาคาร เพราะยังมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้แบ่งเงินมาลงทุนหรือมีสินทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ ให้มาต่อยอดทางการเงินได้มาก แต่จะดึงดูดหรือรักษาฐานลูกค้าใหญ่ให้อยู่นานที่สุดอาจต้องอาศัย ‘ฝีมือ’ ในการบริการและบริหารทรัพย์สินให้ Wealth งอกเงยได้จริงๆ
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า