×

ทำอย่างไร? เมื่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ‘เห็นเด่นชัดขึ้น’

22.04.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจถดถอย

ในบทความก่อนๆ เราเตือนตลอดว่าอย่าได้วางใจภาพเศรษฐกิจโลกว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพปัจจัยเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงความผันผวนในตลาดการเงิน บ่งชี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปที่มากขึ้น โดยปัจจัยล่าสุดที่เราจะขอไล่เรียงมี 5 ประเด็นดังนี้ 

 

ประเด็นแรก ได้แก่ ราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพลังงานที่ลดลงมาก โดยนับตั้งแต่ การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) ในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่กลุ่ม OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคม และทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ราคาก็เริ่มลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเบรนต์กลับมาอยู่ในระดับใกล้ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง

 

เรามองว่าสาเหตุที่ราคาน้ำมันลดลงแม้ OPEC ประกาศลดกำลังการผลิต เป็นเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด น่าจะทำให้การประมาณการความต้องการน้ำมันของโลกผิดจากที่ OPEC เคยคาด โดยในรายงานเดือนมีนาคม OPEC คาดว่าความต้องการน้ำมันโลกจะอยู่ที่ 103.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ ไตรมาส 4/23 ต่างจากที่เราคาดว่าจะอยู่ที่ 96 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยิ่ง OPEC ปรับลดกำลังการผลิตท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว จะยิ่งเป็นเหมือนการผลักต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพให้เพิ่มขึ้น (เปรียบเหมือนกับการขึ้นภาษีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว) ซึ่งจะเป็นการลดความต้องการ (Demand) มากกว่าที่จะไปผลักดันเงินเฟ้อขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพของเงินเฟ้อ แม้ว่าเราจะมองภาพว่าจะลดลงต่อเนื่อง แต่เราจับตาดัชนี SOI (Southern Oscillation Index) ซึ่งเป็นดัชนีแสดงความแปรปรวนของระบบอากาศซีกโลกใต้ และเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงเกิดภาวะเอลนีโญมากขึ้น โดยหากดัชนีนี้ปรับสูงขึ้นมาก อาจทำให้การเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตรในเอเชียมีปัญหา และอาจผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อได้ ซึ่งในปัจจุบันดัชนีดังกล่าวยังไม่สูงขึ้นมาก แต่เริ่มมีการพูดถึงภัยแล้งในเอเชียโดยเฉพาะอินเดียมากขึ้น

 

สำหรับราคาน้ำมันดิบในระยะต่อไป เรายังคงประมาณการราคาน้ำมันไว้ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากความต้องการในอนาคตที่อาจลดลงแรงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจชาติตะวันตก ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจเป็นปัจจัยด้านบวก 

 

ประเด็นที่สอง ตัวเลขเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะตัวเลข GDP ไตรมาส 1/23 ที่ดีกว่าคาด โดยเป็นการฟื้นตัวของภาคการบริโภคเป็นหลัก แต่ตัวเลขรายเดือนอื่นๆ ยังคงชะลอตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ประกอบกับตัวเลขภาคอสังหาฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะการลงทุนใน Property ที่ยังหดตัว ทำให้เรามองว่าภาพเศรษฐกิจจีนจะยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจัยที่เราจะติดตามต่อคือตัวเลขเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้ โดยเราเชื่อว่าอัตราขยายตัวเงินฝากจะเริ่มชะลอลง ขณะที่เงินกู้เริ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5.3-5.7% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการฟื้นตัวของจีนในครั้งนี้ไม่น่าจะสามารถฉุดเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้มากนัก ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจซีกโลกตะวันตกที่อาจชะลอลงในระยะต่อไป เนื่องจากการเปิดประเทศครั้งนี้จะทำให้ภาคบริการของจีนได้ประโยชน์มากกว่า จากการที่ผู้คนออกไปหาประสบการณ์มากขึ้น แต่การจับจ่ายในสินค้าจะไม่สูงขึ้นมากนัก ทำให้ภาคการส่งออกของประเทศอื่นๆ อาจไม่ได้ประโยชน์มากเท่า แต่จะได้ในส่วนภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวมากกว่า

 

ประเด็นที่สาม ได้แก่ ตัวเลขตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงทั้งหมด โดยภาพรวมของตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศในเดือนมีนาคมเป็นทิศทางชะลอตัวทั้งหมด โดยในส่วนตลาดแรงงาน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตำแหน่งงานเปิดใหม่ และการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ชะลอตัวทั้งสิ้น โดยเริ่มเห็นการชะลอของการจ้างงานภาคบริการ เช่น การเงิน และบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ บ่งชี้ถึงการชะลอการจ้างงานเข้าสู่ภาคบริการเพิ่มขึ้น โดยเรามองว่าในเดือนต่อๆ ไป จะเริ่มเห็นการชะลอลงรุนแรงขึ้นตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง 

 

ด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมีนาคมขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด และชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี และเมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าเงินเฟ้อชะลอทั้ง 3 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่ (1) โภคภัณฑ์ จากพลังงาน (2) เงินเฟ้อจาก Supply Chain ทรงตัว และ (3) เงินเฟ้อจากภาคบริการ ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็เริ่มลดลง ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง โดย (1) ตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับลดลง -1% (2) การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว -0.5% ต่อเดือน และ (3) การคาดการณ์เงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้าของ University of Michigan ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จาก 3.6% ในเดือนมีนาคม โดยเราวิเคราะห์ว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของ OPEC+ ซึ่งจะยิ่งเป็นแรงกดดันด้านต้นทุน ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคยิ่งปรับลดกำลังการผลิตรวมถึงการใช้จ่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งกดดันเศรษฐกิจในระยะถัดไป

 

ประเด็นที่สี่ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Fed Minutes) ที่ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อนๆ ในปีนี้ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยเราเห็นว่าคณะกรรมการฯ พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เพื่อให้เงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในเป้าหมาย โดยสภาพคล่องทางการเงินจะต้องตึงตัวจนสินเชื่อหดตัวลง และทำให้ความเสี่ยงวิกฤตการเงินมีมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจรายภูมิภาคหรือ Fed Beige Book ที่ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว และการปล่อยสินเชื่อเริ่มตึงตัวขึ้นหลังเกิดวิกฤตธนาคารในเดือนมีนาคม และด้วยทิศทางเงินเฟ้อใหม่ของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมาก ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ณ ปลายปี 2023 จะอยู่ในระดับสูงกว่าเงินเฟ้อถึงเกือบ 2% ทำให้เราเชื่อว่าอาจจะเกิดวิกฤตการเงินในลักษณะเช่นเดียวกับวิกฤตธนาคารในช่วงที่ผ่านมาได้อีก 

 

ประเด็นสุดท้าย สรุปมุมมองเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในช่วงต้นเดือนเมษายน ทาง ธปท. ได้เชิญนักวิเคราะห์เอกชนรวมถึง InnovestX เข้าร่วมพูดคุยมุมมองด้านเศรษฐกิจในงาน Monetary Policy Forum (MPF) โดยสรุป ธปท. มองว่า (1) เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแข็งแกร่งจากนักท่องเที่ยว ขณะที่ทิศทางการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในระยะต่อไป (2) ธปท. มองเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเป็นความเสี่ยง และ (3) มองภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลาย ไม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ 

 

ขณะที่มุมมองของเรา รวมถึงนักวิเคราะห์เอกชนอื่นๆ มองว่า (1) เศรษฐกิจในระยะต่อไปมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะรุนแรงขึ้น (2) ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ชะลอลงหลังจากเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงอย่างต่อเนื่อง และ (3) นโยบายการเงินที่ตึงตัวจะเป็นปัจจัยลบฉุดรั้งสภาพคล่องเศรษฐกิจ ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นและความต้องการสินเชื่อที่ลดลง โดยล่าสุดในรายงานเสถียรภาพทางการเงินของ ธปท. ไตรมาส 1/23 ระบุไว้ชัดเจนว่า ความสามารถในการชำระหนี้ (วัดจาก Interest Coverage Ratio: ICR) และการทำกำไรของภาคธุรกิจ (Operating Profit Margin: OPM) ของภาคธุรกิจไทยลดลง โดยเฉพาะภาคการผลิต ผลจากส่งออกและภาคการผลิตที่หดตัว 

 

เราจึงมองว่า มุมมอง ธปท. และนักวิเคราะห์เอกชนที่แตกต่างกันนั้น เนื่องจาก ธปท. ต้องการส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้นโยบายการเงินกลับไปสู่จุดปกติ (Normalization) และหากเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคต ธปท. ก็จะมีช่องว่างเชิงนโยบาย (Policy Space) ให้สามารถลดดอกเบี้ยได้ 

 

ด้วยภาพความเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มากขึ้น ทาง InnovestX จึงได้มีมุมมองระมัดระวังในการลงทุน โดยสินทรัพย์ที่เรายังคงแนะนำ ได้แก่ ตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพดี ในส่วนหุ้นต่างประเทศ เราแนะนำหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีหนี้สินต่ำ มีความสามารถในการกำหนดราคาในช่วงเศรษฐกิจผันผวน (Pricing Power) 

 

ในส่วนของไทย เรามองว่าเป็นโอกาสซื้อสะสมในช่วงเศรษฐกิจและตลาดการเงินผันผวน โดยเราคัดเลือก 5 หุ้นเด่นในธีม Best of the Best ได้แก่ AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF ที่มีจุดแข็งร่วมกันคือ (1) เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม (2) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง (3) กำไรอยู่ในทิศทางขาขึ้นและสูง (Outperform) กว่าตลาด

 

ในท้ายที่สุด เราเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็ยังมีช่องทางให้ลงทุนได้ แต่นักลงทุนจะต้องจับจังหวะและโอกาสให้ดีด้วย

 

ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

 

FYI
  • รวมทุกช่องทาง InnovestX Official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก: https://linktr.ee/InnovestX 
  • เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน โหลดเลย คลิก: https://innovestx.onelink.me/23if/stwarticleweb  
  • ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก: https://bit.ly/respublisher 

 

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X