×

เศรษฐกิจขาลงและเงินบาทที่อ่อนค่า เมื่อสาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยภายใน

29.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากต้นปี 2563 ที่ลงต่ำกว่า 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายใน ทั้งเศรษฐกิจไทยขาลงและ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่หดตัวลงอย่างรวดเร็ว
  • TMB Analytics ยังคงมุมมองว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าสิ้นปี 2563 เป้าหมายเงินบาทจะอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เงินบาทคือหนึ่งในปัจจัยของเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่า จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยต้นปีมานี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจนเหลือต่ำกว่า 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยอ่อนค่าไปถึง 35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

แต่ช่วงนี้เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าอีกแล้ว เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง

 

อ่านสาเหตุเงินบาทอ่อนค่าเมื่อครั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายใน

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทที่ราว 31.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังถือว่าอ่อนค่า เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ซึ่งเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าในกรอบ 30.00-31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มมีทิศทางอ่อนค่ามากระทั่งช่วงมีนาคม 2563 นี้ ที่เริ่มเห็นผลกระทบจากโควิด-19 

 

เมื่อมองสาเหตุที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แต่เป็นปัจจัยภายใน อย่างแรกคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่หดตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยเกินดุลการค้าทั้งปีหลักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 นี้เกินดุลเหลือ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะไม่มีเงินจากต่างประเทศเข้ามา

 

อย่างไรก็ตาม เงินบาทถือว่าเคลื่อนไหวมาใกล้เคียงกับช่วงปีก่อน ดังนั้นเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าถือว่าเรากลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น จากที่ปีก่อนจะเป็นการแข็งค่าขาเดียว 

 

ทั้งนี้ปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าราว 5% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2563 นี้ โดยอ่อนค่าเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากอันดับ 1 คือ รูเปียห์อินโดนีเซีย ที่อ่อนค่า 5.25% ส่วนอันดับ 3 คือ รูปีอินเดีย ที่อ่อนค่า 4.5% ขณะที่หลายประเทศแข็งค่าขึ้น เช่น หยวนจีน แข็งค่าขึ้น 1.3% และ เยนญี่ปุ่น ที่แข็งค่าขึ้น 2%

 

 

อนาคตเงินบาทในปี 2563 หรือบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง

ขณะที่ปี 2563 นี้ TMB Analytics ยังคงมุมมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าสิ้นปี 2563 เป้าหมายเงินบาทจะอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

แต่แน่นอนว่าค่าเงินบาทปี 2563 จะผันผวนมากกว่าปี 2562 ส่วนหนึ่งเพราะการเกินดุลการค้าที่ลดลงจากนักลงทุนต่างประเทศกังวลต่อการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งชุด ซึ่งเป็นชุดที่มีนโยบายเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่าง EEC เป็นหลัก อาจจะเห็นเงินทุนไหลออก

 

เงินบาทจะอ่อนหรือแข็งเมื่อเศรษฐกิจไทย-โลกช่วงครึ่งปีหลัง 2563 อาจเป็นขาลง 

เมื่อไตรมาส 2/2563 นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่าเศรษฐกิจไทยอาจเป็นจุดต่ำสุด โดย GDP อาจติดลบ 15-16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และฉุด GDP ทั้งปี 2563 ลดลงไปด้วย 

 

ฝั่ง นริศ มองว่า ครึ่งปีหลัง 2563 การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับว่าไตรมาส 2/2563 GDP จะหดตัวลึกแค่ไหน หากดูตัวอย่างเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาส 1/2563 GDP ติดลบ 6.8% และในไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมาฟื้นตัวกลับมาบวก 6.8% ซึ่งสะท้อนมาที่เศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขการส่งออกไปจีนยังเติบโต 15%  

 

ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ยังต้องรอดูการฟื้นตัวและเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2563 หากเศรษฐกิจติดลบไม่มาก ก็มีโอกาศฟื้นตัวได้ไว เช่น หากการติดลบไม่ถึง 10% และ ไตรมาส 3/2563 อาจจะกลับมาเติบโตที่ 3-4% 

 

 

ส่วนโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่า อาจจะลดลงหากเศรษฐกิจไทยเติบโตรั้งท้ายประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เพราะปัจจุบันสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ หุ้นไทยที่ราคาสูงเป็นปัจจัยที่ลดความดึงดูดให้คนเข้ามาลงทุน ให้คนสนใจเข้ามา เห็นได้จากต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติเทขายกว่า 2.2 แสนล้านบาท

 

“ราคาหุ้นไทยถือว่าแยกจากความจริงทางเศรษฐกิจไปเยอะ ซึ่งเราอาจเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในบอนด์บ้าง เพราะเดือนกรกฎาคม 2563 เห็นเงินไหลกลับเข้ามา 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้านับจากต้นปีหายไปกว่า 9 หมื่นล้านบาท” 

 

สุดท้ายนี้ระยะต่อไปยังต้องจับตามอง การระบาดของโควิด-19 การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงท้ายปีนี้ (พฤศจิกายน) โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม 2563 หากสหรัฐฯ เศรษฐกิจยังแย่ลงต่อเนื่อง ดอลลาร์สหรัฐอาจจะไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก แต่หากเกิดการระบาดในหลายประเทศ และเศรษฐกิจโลกมีโอกาสแย่ อาจจะเห็นนักลงทุนกลับไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐและทำให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising