×

เปลี่ยนระบบนิเวศทางเศรษฐกิจจากร้ายให้เป็นดีด้วย ‘กิจการเพื่อสังคม’

08.02.2024
  • LOADING...
กิจการเพื่อสังคม

“ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง”

 

พระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ 15 มกราคม 2530

 

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสขึ้นไป ‘ดอยตุง’ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เรานั่งรถตู้ลัดเลาะทางโค้งผ่านร่มไม้ไปตามทางขึ้นเขา มองเลยออกไปเห็นผืนป่าที่เขียวชอุ่มบนแนวทิวเขาที่เรียงตัวซ้อนกันสวยงาม ใครจะเชื่อว่าดอยตุงเคยอยู่ใน ‘สภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง’ มาก่อน

 

ในช่วงก่อนปี 2530 ชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยบนดอยตุงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เด็กเกิดใหม่ไม่มีโอกาสได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เข้าถึงระบบสาธารณสุข หรือได้รับการศึกษา จึงเติบโตมาโดย ‘ขาดโอกาส’ ในการประกอบอาชีพ พวกเขาหันไปปลูกฝิ่นขายประทังชีวิต แต่ฝิ่นก็ไม่ได้สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ซ้ำร้าย การปลูกฝิ่นยังเป็นต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพดินเสื่อม ซึ่งส่งผลให้พวกเขาขาดพื้นที่ทางการเกษตรในการทำมาหากิน ดูเหมือนสภาพเศรษฐกิจและสังคมของดอยตุงจะติดอยู่ใน ‘ระบบนิเวศร้าย’ ที่มิอาจเปลี่ยนแปลงได้

 

กิจการเพื่อสังคม

เปรียบเทียบดอยตุงก่อนปี 2530 (ซ้าย) และดอยตุงในปัจจุบัน (ขวา)

อ้างอิง: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยบนดอยตุงไม่อาจแก้ไขได้ด้วยกลไกภาครัฐหรือกลไกตลาด ชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณสุข และการศึกษา เนื่องจากอยู่บนภูเขาสูง และมีประชากรที่มีสัญชาติเพียง 30% เท่านั้น ขณะเดียวกัน เนื่องจากชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยมีทุนทางเศรษฐกิจและสังคมน้อย จึงไม่มีโอกาสได้ผลิตและค้าขายสินค้าที่มีมูลค่าสูง และสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน

 

จนกระทั่งเดือนมกราคม 2530 ‘สมเด็จย่า’ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จมาเยือนดอยตุง เมื่อทรงทราบถึงปัญหาและความยากลำบากของประชาชน สมเด็จย่าจึงทรงริเริ่ม ‘โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ร้ายให้กลายเป็นดี

 

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ กับการเปลี่ยนระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ

 

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ

 

ระยะแรก เรียกว่า ‘อยู่รอด’ นั่นคือการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย เช่น การสร้างถนนเชื่อมต่อกับโลกภายนอก การวางระบบประปาและไฟฟ้า การก่อตั้งศูนย์สุขภาพและสถานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด นอกจากชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยจะอยู่รอดแล้ว โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยังฟื้นฟูพื้นที่ป่า ทั้งปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชันสูงเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และเพาะปลูกพืชที่ให้ผลผลิตราคาสูง เช่น กาแฟอาราบิก้าและแมคาเดเมียใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยในช่วง 3 ปีแรก โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จ้างคนในพื้นที่มาปลูกและดูแลป่า ซึ่งช่วยให้คนในพื้นที่มีรายได้พอยังชีพ

 

ระยะที่สอง เรียกว่า ‘พอเพียง’ เมื่อชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยสามารถยังชีพได้แล้ว โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงเริ่มกิจการโรงคั่วและแปรรูปกาแฟและแมคาเดเมียเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทรัพยากรในพื้นที่ เช่น หญ้าแฝกนำมาทอกับผ้าฝ้ายทำเป็นที่รองจาน โดยจ้างงานชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ก็เปิดตลาด โดยนำสินค้าไปจัดจำหน่ายในร้านกาแฟดอยตุงกว่า 20 สาขา และส่งออกให้ร้านกาแฟของมูจิ (MUJI) ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

 

ระยะที่สาม เรียกว่า ‘ยั่งยืน’ เมื่อชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยมีทักษะในการเพาะปลูกและการทำงานในโรงงานแปรรูปแล้ว โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงให้พวกเขาเป็นเจ้าของและได้บริหารกิจการด้วยตัวเอง โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ให้ชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยเช่าพื้นที่เพาะปลูกกาแฟอาราบิก้าและแมคาเดเมียในราคา 1 บาท

 

ลักษณะเด่นของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ คือการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็น ‘ระบบนิเวศขนาดย่อม’ ระบบนิเวศดังกล่าวประกอบไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดประสานกันเป็นห่วงโซ่ จากการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร ไปจนถึงการขาย นอกจากนี้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยังคำนึงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ตลอดปี เช่น การเลือกปลูกดอกไม้ที่หลากหลายในสวนแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้ดอกไม้ผลิบานดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ตลอดปี องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจขนาดย่อมบนดอยตุงอยู่ในดุลยภาพที่ดี ส่งผลให้รายได้ของชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยเพิ่มขึ้นจาก 3,772 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2530 ขึ้นมาอยู่ที่ 93,505 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2565

 

ดุลยภาพทางเศรษฐกิจที่ดีเอื้อให้เกิดดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี จากเดิมที่ชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยต้องปลูกฝิ่นและค้าประเวณีเพื่อประทังชีวิต ปัจจุบันพวกเขามีอาชีพที่สร้างรายได้อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดปี ปัญหาสังคมจึงลดลง สำหรับสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขาหัวโล้น ปัจจุบันพื้นที่กว่าหนึ่งในสามเป็นป่าอนุรักษ์ ขณะที่อีก 14% เป็นป่าเศรษฐกิจที่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย

 

กิจการเพื่อสังคม

 

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นตัวอย่างของ ‘กิจการเพื่อสังคม’ (Social Enterprise) กิจการเพื่อสังคมเป็นองค์กรที่ผลิตสินค้าและบริการ มีงบดุลและงบรายรับรายจ่ายเหมือนบริษัทเอกชนที่แสวงหากำไร แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่คนในสังคม กิจการทางสังคมจึงเป็นกลไกทางเลือกในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่กลไกภาครัฐและกลไกตลาดไม่สามารถแก้ไขได้

 

เอกลักษณ์สำคัญของกิจการเพื่อสังคมคือ 1. รูปแบบการพัฒนาจะมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อทดแทนระบบนิเวศเดิมที่แย่ โดยมีเป้าหมายให้ระบบนิเวศใหม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว 2. การให้เวลากับการสะสมทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการทดลองหาวิธีการพัฒนาที่เหมาะสม กิจการเพื่อสังคมจึงแตกต่างจากธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร ซึ่งต้องการเห็นผลการดำเนินงานเป็นตัวเงินในระยะเวลาที่สั้นกว่า ในขณะเดียวกัน กลไกภาครัฐขึ้นกับวัฏจักรทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจทำให้การแก้ปัญหาโดยอาศัยกลไกภาครัฐขาดความต่อเนื่องได้

 

ระบบนิเวศสำหรับกิจการเพื่อสังคม เพื่อสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ดี

 

กิจการเพื่อสังคมจะเติบโตและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ภายใน ‘ระบบนิเวศ’ ที่เหมาะสม

 

พื้นฐานของระบบนิเวศที่เหมาะสมคือสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่สนับสนุนให้กิจการเพื่อสังคมสามารถประกอบกิจการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมและการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน กฎระเบียบที่เหมาะสมอำนวยความสะดวกในการจัดตั้ง การดำเนินงาน และการเข้าถึงเงินทุน ตลอดจนการวัดผลสัมฤทธิ์และการสื่อสารผลกระทบทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง นอกจากนี้กฎระเบียบจะต้องสามารถตีความได้ง่าย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคเมื่อใช้งานจริง

 

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาไทยมีการวางกฎเกณฑ์และกลไกสนับสนุนการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ดำเนินนโยบายประกาศแผนแม่บทการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553-2557 เพื่อเป็นกรอบกำหนดนิยามและหลักเกณฑ์ในการประกอบกิจการเพื่อสังคม หลังจากนั้นผู้ดำเนินนโยบายได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ที่กำหนดกลไกสนับสนุนการประกอบกิจการเพื่อสังคม ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร และการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากกองทุนส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมและสำนักงานส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมเป็นผู้ขับเคลื่อน โครงสร้างเชิงสถาบันและกลไกสนับสนุนส่งผลให้มีกิจการเพื่อสังคมเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันไทยมีกิจการเพื่อสังคมที่จดทะเบียนแล้ว 148 องค์กร (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564)

 

ความท้าทายของการดำเนินกิจการเพื่อสังคมอีกประการหนึ่งคือการเข้าถึงทุนทางการเงิน เนื่องจากกิจการเพื่อสังคมมีวัตถุประสงค์ทางสังคมและการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนซ้อนทับกันอยู่ การประเมินและเสนอมูลค่าทางการเงินของกิจการเพื่อสังคมจึงมีความซับซ้อน และขึ้นอยู่กับบริบทของกิจการเพื่อสังคมและความต้องการของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก การระดมทุนจึงมีความท้าทาย สำหรับไทย สำนักงานส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมร่วมกับหน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจได้สำรวจกิจการเพื่อสังคมจำนวน 146 แห่ง โดยพบว่าปัญหาที่ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหากระแสเงินสด (34.3%) ปัญหาการเข้าถึงทุนทั้งเงินกู้และเงินลงทุน (23.3%)

 

ผมคิดว่าไทยมีความต้องการลงทุนในกิจการเพื่อสังคมอยู่มากพอ อนุมานได้จากที่คนไทยนิยมบริจาคเงินเข้ากองทุนการกุศล ถึงขั้นที่ว่า World Giving Index ประจำปี 2023 โดย Charities Aid Foundation จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับคะแนนสูงสุดในมิติของการบริจาคเงิน ในทางกลับกัน อุปสรรคในการเข้าถึงเงินทุนน่าจะสะท้อนว่าไทยยังขาดกลไกที่โยกย้ายทรัพยากรทางการเงินของภาคเอกชนไปยังกิจการเพื่อสังคม

 

ทางออกสำหรับปัญหาการระดมทุนคือการพัฒนาระบบนิเวศที่

 

  1. ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมูลค่าของกิจการเพื่อสังคมและความต้องการลงทุนสามารถไหลเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักการ ความต้องการลงทุนในกิจการเพื่อสังคมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนักลงทุนสามารถเข้าถึงและติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ และผลกระทบเชิงสังคมทั้งที่คาดหวังและเห็นผลจริง ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายจึงควรเริ่มจากการสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม เป็นจุดตั้งต้นในการศึกษาและติดตามกิจการเพื่อสังคมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

  1. มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินและรูปแบบการลงทุนที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนของกิจการเพื่อสังคมโดยเฉพาะ ตัวอย่างของนวัตกรรมทางการเงินสำหรับกิจการเพื่อสังคมคือการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond) โดยผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะเป็นผู้ออกขายพันธบัตร เพื่อระดมทุนให้กิจการเพื่อสังคมนำไปพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นตามเป้าหมาย ผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะจะว่าจ้างผู้ตรวจสอบอิสระให้ประเมินผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคม หากผ่านการประเมิน ผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะจะจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนตามลำดับ Government Outcomes Lab รายงานว่าวันนี้ (28 มกราคม) มีพันธบัตรเพื่อสังคมอยู่ในตลาดการเงิน 292 ฉบับ และระดมเงินทุนมากกว่า 764 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มองไปข้างหน้า เมื่อตลาดการเงินจะให้คุณค่าเชิงสังคมมากพอ กิจการเพื่อสังคมอาจสามารถระดมทุนจากตลาดการเงินได้ในลักษณะเดียวกันกับบริษัทจดทะเบียนโดยทั่วไป ในต่างประเทศเริ่มมีการคิดค้นกลไกในการวัดมูลค่าจากผลประโยชน์ทางสังคม และคำนวณราคาสินทรัพย์จากมูลค่าสังคมดังกล่าวแล้ว โดยให้นักลงทุนเลือกที่จะแบ่งเงินปันผลบางส่วนย้อนกลับไปลงทุนกับบริษัทโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าทางสังคม ความต้องการลงทุนในมูลค่าทางสังคมจึงสะท้อนอยู่ในสัดส่วนของเงินปันผลที่นักลงทุนจัดสรรให้กับกิจกรรมเพื่อสังคม

 

กิจการเพื่อสังคมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

“ฉันมีอาชีพ มีรายได้ ลูกของฉันมีทุนเรียนหนังสือ มีศูนย์บริการสุขภาพ…

ความเป็นอยู่ของฉันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเหมือนพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ”

– บทสัมภาษณ์ของ คุณอรวรรณ โสภณอำนวยกิจ

 

กิจการเพื่อสังคมสามารถเปลี่ยนระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมจากร้ายให้กลายเป็นดีได้จริง เศรษฐกิจไทยอาจต้องการกลไกที่เหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุนให้กิจการเพื่อสังคมสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบและตลาดการเงินที่สนับสนุนการระดมทุน สิ่งดังกล่าวจะช่วย ‘สร้างโอกาส’ ให้คนอีกมากมายได้เติบโตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป…

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising