×

นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้ ‘ฟื้นแกร่ง’ มีโอกาสเติบโตแตะระดับ 6%

15.02.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจจีน

เว็บไซต์ข่าว Global Times รายงานบทสัมภาษณ์ Yu Yongding สมาชิกสถาบัน Chinese Academy of Social Sciences และนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน ซึ่งระบุว่า แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากในอนาคต แต่เศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2023 นี้ โดยมีปัจจัยหนุน 2 ประการ

 

ประการแรก สืบเนื่องจากอัตราการเติบโตของ GDP ปีที่แล้วที่ฐานต่ำที่ 3% ในปี 2022 ที่ผ่านมา ผลกระทบจากฐานต่ำจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราการเติบโตของจีนในปีนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ประการที่สองคือ การที่จีนยังมีพื้นที่เหลือเฟือที่จะใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อจำเป็น

 

ทั้งนี้ หากไม่นับเหตุการณ์ ‘Black Swan’ ทั้งหลาย อัตราการเติบโตของ GDP ของจีนในปีนี้น่าจะมีโอกาสเกิน 5% แต่เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น รัฐบาลจีนสามารถกำหนดเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ 6% ในปีนี้ได้  

 

ความเชื่อมั่นดังกล่าวเกิดจากข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ว่ากำลังการบริโภคภายในของจีน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 55% ของ GDP กำลังฟื้นตัวอย่างดี แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการกระตุ้นโดยตรงจะได้ผลอย่างไร แต่เชื่อว่าจะให้ผลในทางบวก 

 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า แม้ว่าการบริโภคอาจ ‘ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว’ ในระยะสั้น แต่จะไม่คงอยู่อย่างต่อเนื่องหากรายได้ของครัวเรือนไม่เพิ่มขึ้นและความคาดหวังด้านรายได้ไม่ดีขึ้น พร้อมชี้ว่ามาตรการต่างๆ เช่น การออกคูปองสนับสนุนผู้บริโภค อาจมีความจำเป็นสำหรับการบรรเทาความยากจนและการรักษาเสถียรภาพทางสังคม แต่มาตรการเหล่านี้อาจใช้ไม่ได้ผลในการกระตุ้นให้ครัวเรือนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างพอเพียงและยั่งยืน

 

ทั้งนี้ กุญแจสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคของครัวเรือนคือการเพิ่มรายได้ของครัวเรือนตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นการเติบโตด้วยการลงทุนเช่นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา 

 

แม้ว่าตั้งแต่ปี 2010 สัดส่วนการเติบโตของ GDP โดยการลงทุนจะลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 การเติบโตด้านการลงทุนได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตของ GDP อีกครั้ง โดยมีส่วนแบ่งการเติบโตของ GDP เกิน 50% 

 

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า การลงทุนในจีนประกอบด้วย 3 ประเภทหลัก ได้แก่ การลงทุนด้านการผลิต การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในปี 2022 การลงทุนด้านการผลิตเพิ่มขึ้น 9.1% จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 18.9%

 

ขณะที่การเติบโตของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลงตั้งแต่ปี 2021 และลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2022 โดยมีอัตราการเติบโตติดลบ 10% ส่วนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเติบโตขึ้น 9.4% ในปี 2022 และมีบทบาทสำคัญในการชดเชยผลกระทบด้านลบของการลดลงของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีต่อการเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในปี 2022

 

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอาจจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตของ GDP จีนในปี 2023 โดยในบรรดาการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การลงทุนด้านการผลิตมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามกลไกตลาดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเป็นหลัก

 

นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่าการเติบโตของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จะมีเสถียรภาพในปี 2023 และกลับมาเป็นบวก เนื่องจากมาตรการใหม่หลายชุดที่นำเสนอโดยรัฐบาลที่มุ่งเป้าไปที่การรักษาเสถียรภาพการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นเรื่องยากที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตของ GDP ในปี 2023

 

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไป หากไม่ใช่บทบาทที่สำคัญที่สุดในการผลักดันการเติบโตของจีนในปี 2023 นี้ 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีนนั้นใหญ่มากเมื่อเทียบตามหัวประชากร ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสูญเปล่าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีมาก เนื่องจากจีนสร้างโครงการช้างเผือกมากเกินไป กระนั้น คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าควรลงทุนหรือไม่ แต่ควรทำอย่างไร

 

ขณะที่การส่งออกสุทธิของจีนมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของ GDP ในปี 2022 แต่การส่งออกจะเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างมากในปี 2023 นี้ ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ การส่งออกจึงมีโอกาสน้อยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ยิ่งไปกว่านั้น จีนควรปรับนโยบายการส่งออกเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรข้ามพรมแดน โดยจีนไม่ควรกลัวการขาดดุลการค้าเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อลดการถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยวิธีการดังกล่าวไม่ใช่การสนับสนุนการละทิ้งตลาดต่างประเทศ แต่เป็นการโต้แย้งที่ทำให้บริษัทต่างๆ ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก อยู่ในสนามแข่งขันที่มีระดับทัดเทียมกัน 

 

ดังนั้น บริษัทจีนควรพึ่งพาความได้เปรียบในการแข่งขันของตนเองเพื่อรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ แทนที่จะพึ่งพาสิ่งจูงใจที่บิดเบือนตลาด เช่น การเพิ่มส่วนลดภาษีการส่งออกและการรักษาสกุลเงินที่มีมูลค่าต่ำ

 

ในส่วนของการเผชิญกับอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ นักเศรษฐศาสตร์แนะว่า เครื่องมือนโยบายมหภาคหลักต้องเป็นนโยบายการคลังที่เน้นการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก โดยสำหรับปีนี้ การขาดดุลการคลังของจีนและอัตราส่วนการขาดดุลการคลังต่อ GDP อาจต้องเพิ่มขึ้น โดยจีนไม่จำเป็นจะต้องยึดมั่น ‘การขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ที่ต้องไม่เกิน 3%’ อย่างเคร่งครัด

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จีนยังมีช่องว่างสำหรับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย กระนั้น โดยพื้นฐานแล้ว นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการซื้อเวลาเพื่อสร้างเงื่อนไขสำหรับการปฏิรูปเชิงลึกเท่านั้น จีนไม่สามารถรออย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์เงินเฟ้อจะเลวร้ายลง และช่องว่างสำหรับการใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบขยายตัวจะหมดลง ดังนั้น ในขณะที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบขยายตัว จีนจำเป็นต้องเร่งและปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนต้องดำเนินโครงการที่กำหนดโดยการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 เมื่อ 10 ที่แล้ว เพื่อ ‘วางระบบตลาดสมัยใหม่ที่องค์กรต่างๆ จะได้รับการจัดการที่เป็นอิสระและการแข่งขันที่เป็นธรรม’ ‘สร้างรัฐบาลที่ยึดหลักกฎหมายและบริการเป็นหลัก’ และสร้างพื้นฐาน ‘เพื่อให้ตลาดมีบทบาทชี้ขาดในการจัดสรรทรัพยากร’

 

นักเศรษฐศาสตร์สรุปว่า ตราบใดที่จีนดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบขยายตัวอย่างรอบคอบในขณะที่ยังคงยืนหยัดในการปฏิรูปและการเปิดประเทศอย่างไม่ย่อท้อ จีนก็จะสามารถเอาชนะความยากลำบากในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าเป้าหมายสองศตวรรษ (Two Centenary Goals) ของตนจะบรรลุผลสำเร็จในที่สุด 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X