×

วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ในวันที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ คัมแบ็ก!

02.02.2024
  • LOADING...
โดนัลด์ ทรัมป์

เริ่มนับถอยหลังศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024! เหตุการณ์สำคัญระดับโลกที่ถูกติดตามอย่างใกล้ชิดมากที่สุด อีกทั้งบรรดานักลงทุนต่างเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นทิศทางเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้นกันอย่างคึกคัก  

 

เพราะเริ่มชัดเจนแล้วว่า กลุ่มนักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐก็มองว่าการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ณ เวลานี้ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้งในศึกครั้งนี้

 

การเลือกตั้งมักจะมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เต็มๆ

 

เหตุผลเพราะการเลือกตั้งมักจะมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่า แม้ตลาดหุ้นจะยังคงสามารถเคลื่อนไหวในแดนบวกต่อไปอีก 1 ปี หลังจากการเลือกตั้ง 

 

โดย Ryan Detrick แห่ง Carson Group พบว่า ดัชนี S&P 500  ลงบันทึกว่าเพิ่มขึ้นในทุกปีที่มีการเลือกตั้ง หลังจากที่ดัชนีดังกล่าวมีการปรับเพิ่มขึ้น 20% ในปีก่อนการเลือกตั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าหุ้นมักจะขึ้นไม่ว่าพรรคใดจะคว้าชัยเข้าไปนั่งอยู่ในทำเนียบขาว แต่การวิเคราะห์จาก Goldman Sachs พบว่า หุ้นเทคมักจะเป็นภาคที่มีผลการดำเนินงานแย่ที่สุดในปีก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ในขณะที่กลุ่มสาธารณูปโภคและผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะมีแต้มต่อที่เหนือกว่า

 

‘นโยบายพลังงาน’ จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ 

 

หากพิจารณานโยบายสำคัญของว่าที่ผู้สมัครแล้ว นักลงทุนชี้ว่า ‘นโยบายพลังงานสะอาด’ ของ โจ ไบเดน เน้นลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสงครามเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงกับจีน ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง 

 

ขณะที่นโยบายการค้าของทรัมป์ที่ยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อพอร์ตหุ้นเช่นกัน 

 

นักวิเคราะห์ย้ำอีกว่า นโยบายที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษก็คือ ‘นโยบายพลังงานที่จะมีผลต่อกำไรในตลาดหุ้นของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง ExxonMobil และ Chevron ที่ช่วงที่ผ่านมาได้รายงานผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ก็แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน  

 

“หากเทียบ นโยบายของไบเดนจะเน้นการคุมเข้มบริษัทน้ำมัน และให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด แต่ทรัมป์กลับเห็นชอบที่จะลดการควบคุมการผลิตน้ำมัน และยกเลิกการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน”

 

ไม่ว่าจะเป็นไบเดนหรือทรัมป์ ต่างก็แข็งกร้าวกับจีน

 

ขณะที่ด้านนโยบายความสัมพันธ์กับจีน นักวิเคราะห์มองว่า ไม่ว่าไบเดนหรือทรัมป์จะชนะ อุตสาหกรรมบางประเภทจะต้องเผชิญกับความยากลำบากแน่นอน เพราะทั้งไบเดนและทรัมป์ต่างมีนโยบายที่แข็งกร้าวกับจีน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำแพงภาษี หรือห้ามการส่งออกสินค้าบางประเภท สะท้อนจากมุมมองที่มักจะเห็นตรงกันว่าจีนมีแนวโน้มที่จะคุกคามเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

 

ทรัมป์ไม่ได้สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเสียทีเดียว และพยายามตอบโต้การลงทุนมหาศาลจากจีนในด้านเทคโนโลยี โดยครั้งหนึ่งเขาเสนอให้ยกเลิกโครงการที่สนับสนุนการผลิตหรือการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 

 

ท่ามกลางรัฐบาลจีนที่อัดฉีดเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลแก่อุตสาหกรรม EV เพื่อแสวงหาอำนาจครองอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ยักษ์ใหญ่ BYD จากจีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงผู้ผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ เบียดแซง Tesla ของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว

 

ศึก EV vs. สันดาป

 

จะเห็นได้ว่า EV เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะทรัมป์ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ EV แต่ไบเดนที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ‘สนับสนุนพลังงานสะอาด’ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า หากไบเดนได้รับชัยชนะอีกครั้ง จะยิ่งสานต่อผลักดันนโยบาย EV ให้เดินหน้าต่อเนื่อง

 

“พยายามของไบเดนอาจเป็นฝันร้ายของบรรดาค่ายรถยนต์สันดาปยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Ford หรือ GM ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะไปต่อกับ EV ในทิศทางไหน เพราะต้นทุนการแข่งขันค่อนข้างสูงกว่าค่ายรถยนต์หน้าใหม่ที่มุ่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่แรก”

 

ห่วงจุดยืน ESG และโอกาสที่ทรัมป์จะคัมแบ็ก สะเทือนกองทุนยั่งยืน 

 

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่หากทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนเป็นกังวลก็คือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ ESG นั่นคือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) 

 

เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทรัมป์ไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด โดยหนึ่งในประเด็นด้าน ESG ของทรัมป์ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือการออกกฎการลงทุนที่กำหนดให้ผู้ดูแลทรัพย์สินกองทุนควรจะคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างเป็นสาระสำคัญ ตามวิสัยทัศน์การลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนเท่านั้น

 

ซึ่งกฎดังกล่าวได้รับการยกเลิกโดยไบเดนที่กำหนดให้ผู้ดูแลทรัพย์สินกองทุนสามารถและควรจะพิจารณาปัจจัยทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนได้ทั้งหมด โดยปัจจัยเหล่านั้นอาจรวมถึงปัจจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศหรือปัจจัยด้าน ESG อื่นๆ

 

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า “จุดยืนด้าน ESG ของทรัมป์และโอกาสที่ทรัมป์จะคัมแบ็กจะทำให้สถานะของกองทุนด้านความยั่งยืนสั่นคลอน”

 

โดยข้อมูลของ Morningstar ระบุว่า แค่เพียงในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมาที่นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามและสงสัยถึงจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับ ESG บรรดานักลงทุนมีการดึงเงินทั้งหมด 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ออกจากกองทุนความยั่งยืนของสหรัฐฯ ทำให้ปีที่ผ่านมากลายเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Staff / Getty Image 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising