×

เปิด 3 ไพ่โจ๊กเกอร์เศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2022

19.01.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจและการลงทุน

หากเปรียบการลงทุนเหมือนกับการเล่นไพ่แล้ว อาจกล่าวได้ว่าภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2022 เล่นยากยิ่ง เพราะมีปัจจัยที่คาดเดาลำบากถึง 3 ปัจจัย หรืออีกนัยหนึ่งคือมีไพ่โจ๊กเกอร์ที่เป็น Wild Card ที่คาดเดาได้ยากถึง 3 ใบ อันได้แก่ 1. โอมิครอน 2. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และ 3. เศรษฐกิจจีน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีใหม่ผ่านพ้นไป หน้าไพ่โจ๊กเกอร์ทั้งสามเริ่มเปิดชัดเจนขึ้นว่าใบไหนดี ใบไหนร้าย ซึ่งหน้าไพ่ทั้ง 3 ใบนั้นจะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในปีนี้และต่อๆ ไปด้วย

 

ไพ่ใบแรก โอมิครอน เราเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนว่าเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์โอมิครอนนั้น ‘เร็วแต่ไม่แรง’ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกในปัจจุบันสูงเป็นประวัติการณ์ แตะระดับ 2 ล้านคนขึ้นไปต่อวัน ประเทศหรือทวีปใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ และยุโรปนั้น อยู่ในระดับเฉลี่ย 7-8 แสนคน และมีบางวันที่พุ่งขึ้นไปถึงเกิน 1 ล้านคนต่อวัน แม้ว่าจะมีการประกาศมาตรการ Social Distancing ในประเทศต่างๆ ก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตหรือป่วยหนักนั้นไม่ได้รุนแรงมากนักในแอฟริกาใต้ สัดส่วนผู้เสียชีวิตเทียบกับผู้ป่วยนั้นอยู่ในระดับ 0.2% ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับเวฟก่อนๆ ที่อยู่ในระดับ 2-5% ขณะที่ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตในยุโรป สหรัฐฯ หรือแม้แต่ประเทศไทยเองนั้นก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน 

 

นอกจากนั้นในหลายที่ทั่วโลก เช่น แอฟริกาใต้ รวมถึงในอังกฤษ และสหรัฐฯ เริ่มเห็นการปรับตัวลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ บ่งชี้ว่าเวฟการระบาดครั้งนี้ ‘มาเร็ว-ไปเร็ว’ และไม่น่าจะกระทบต่อภาพเศรษฐกิจและการลงทุนมากนัก หากไม่มีการกลายพันธุ์ใหม่ในประเทศที่มีประชากรจำนวนมากและวัคซีนยังไม่ทั่วถึง

 

ไพ่ใบที่สอง เรื่อง Fed หน้าไพ่ชัดเจนขึ้นว่าน่ากังวล และจะเป็นปัจจัยใหญ่ของเศรษฐกิจและการลงทุนในอนาคต โดยจุดหลักอยู่ที่ตัวรายงานการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่ประชุมไปเมื่อช่วงวันที่ 14-15 ธันวาคม ที่นอกจากจะรับรู้กันโดยทั่วไปว่ามีการปรับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เร็วขึ้น จากขึ้น 1 ครั้ง เป็น 3 ครั้งในปีนี้ และเร่งลดทอนขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเพิ่มขึ้นของงบดุล (ซึ่งบ่งชี้ปริมาณเงินที่ Fed เติมเข้าสู่ระบบ) หยุดลง ณ เดือนมีนาคมปีนี้ จากที่เคยคาดที่เดือนมิถุนายน แต่ข้อมูลสำคัญที่เพิ่งเปิดเผยคือการลดขนาดของงบดุล หรือ Quantitative Tightening: QT โดยพร้อมที่จะลดหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกไม่นานนัก และการทำ QT ครั้งนี้จะต้องรุนแรงกว่าครั้งที่เคยทำเมื่อปี 2018-19 ด้วย 

 

โดยสาเหตุหลักของการทำ QT เร็วขึ้นครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ของสหรัฐฯ แบนลง เนื่องจากการแบนลง (Flatten) หรือการกลับทิศ (Inverted) ของเส้นผลตอบแทนนั้น นอกจากจะเป็นสัญญาณล่วงหน้าของวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้สถาบันการเงินได้รายได้จากดอกเบี้ยน้อยลง แต่ทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยมีมากขึ้น

 

แต่ผู้เขียนกังวลว่าการทำเช่นนี้ แม้อาจทำให้สถานการณ์ Inverted Yield Curve ที่เป็นตัวชี้วัดล่วงหน้าของเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) ไม่เกิดขึ้น แต่ในทางกลับกัน การดึงผลตอบแทนระยะยาวขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอลง และดอกเบี้ยระยะสั้นก็เป็นขาขึ้นนี่เอง ที่จะทำให้เกิด Recession ขึ้น เพราะเศรษฐกิจจะรับไม่ไหว

 

กล่าวคือ หากการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัวต่ำกว่าดอกเบี้ยระยะยาวที่เป็นฐานของการคำนวณต้นทุนการเงินของธุรกิจ (หรือที่เรียกว่า Risk-free Rate) แล้วนั้น แปลว่าการขยายตัวของรายได้โดยเฉลี่ยของธุรกิจหนึ่งๆ ไม่สามารถคุ้มกับต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นธุรกิจ (รวมถึงประชาชน) ที่มีหนี้สินมาก ก็จะเผชิญความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่อง รวมถึงล้มละลายได้มากขึ้น 

 

จากการคำนวณของผู้เขียน หากให้ดอกเบี้ยระยะสั้นของ Fed ปรับขึ้นในระดับ 0.25% ต่อไตรมาสต่อเนื่อง จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 1.5% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 ขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ จะไปอยู่ที่ 3% สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดการณ์โดย Fed ที่ 2.2% ส่วนต่างอย่างชัดเจนของดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี และการขยายตัว GDP นี่เอง ที่จะทำให้ภาคเอกชนและประชาชนสหรัฐฯ ไม่สามารถรับการตึงตัวของนโยบายการเงินได้ และเกิด Recession ขึ้น ซึ่งจะเป็น Recession ในแง่ของตลาดเงินตลาดทุนมากกว่า เนื่องจากตลาดจะตื่นตระหนก จนทำให้ Fed ต้องยุติการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงมาตรการ QT

 

กล่าวโดยสรุป สำหรับหน้าไพ่โจ๊กเกอร์ใบที่สองนี้ ผู้เขียนกังวลว่าจะเป็นไพ่ใบสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไปมีความเสี่ยงจากนี้ไปจนถึงกลางปี 2023 เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าโอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยและทำ QT แรงนั้น มีประมาณ 40% โดยหากเงินเฟ้อเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลง Fed ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยและทำ QT เร็วและแรงขนาดนั้น ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีก็ยังไม่สูงเกินการขยายตัวของ GDP อย่างมีนัยสำคัญ

 

ไพ่ใบสุดท้าย ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจจีน ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธันวาคมที่เพิ่งประกาศนั้น แสดงให้เห็นภาพชัดเจนของแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายของจีนในระยะถัดไป 

 

โดยการขยายตัวเศรษฐกิจจีนไตรมาส 4 ปี 2021 ขยายตัว 4% สูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย ทำให้ทั้งปีขยายตัวที่ 8.1% สูงกว่าที่ผู้เขียนคาดที่ 8.0% เล็กน้อย แต่ตัวเลขยอดค้าปลีกรายเดือนธันวาคมต่ำกว่าที่ตลาดคาดมาก จากนโยบาย Zero COVID ที่พร้อมปิดเมืองหากพบผู้ติดเชื้อ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย เช่นเดียวกับการลงทุนสินทรัพย์ถาวรที่ขยายตัวตามที่ตลาดคาด

 

ผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากเป็นผลทั้งจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ วิกฤตพลังงาน รวมถึงนโยบาย Zero COVID ที่ปิดเมืองเมื่อพบผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ชะลอลง มาพร้อมกับมาตรการเศรษฐกิจที่ผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสำคัญ 2 ตัว คือ Medium-term Lending Facility จาก 2.95% เป็น 2.85% และดอกเบี้ยซื้อคืน 7 วัน (7-Day Repo Rate) จาก 2.2% เป็น 2.1% พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบสุทธิแล้วกว่า 2 แสนล้านหยวน นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ทางการก็ส่งสัญญาณชัดเจนในการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเป็นดั่งมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ผู้เขียนมองว่า แม้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจากผลของวิกฤตทั้งสามข้างต้น แต่ปัจจัยพื้นฐานที่เริ่มดีขึ้น (จากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่แตกก่อนหน้า) จากการที่ภาครัฐทำนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวดในปี 2021 ทำให้ทางการเริ่มมีช่องทางมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราจึงจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นหากเศรษฐกิจชะลอลง ซึ่งน่าจะเป็นผลดี (อย่างจำกัด) ต่อการลงทุน

 

ด้วยไพ่โจ๊กเกอร์ทั้งสามที่เปิดหน้าออกมาแล้ว ทำให้เราสามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ โดยในภาพใหญ่ นโยบายการเงินโลก นำโดยสหรัฐฯ ที่ตึงตัวขึ้น ย่อมทำให้นักลงทุนต้องเริ่มระมัดระวังการลงทุนในภาพรวม รวมถึงต้องเลือกลงทุนในตลาด/ธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานดีมากขึ้น ซึ่งสะท้อนไปถึงภาพใหญ่อย่างตลาดพัฒนาแล้วด้วย 

 

ขณะที่การลงทุนในตลาดกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย ดูน่าสนใจมากขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวังในประเด็นความเสี่ยงการตึงตัวของนโยบายการเงินโลก ซึ่งจะกระทบต่อประเทศ/ธุรกิจที่มีหนี้สูง นอกจากนั้น ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความเสี่ยงเงินเฟ้อ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวังเช่นกัน 

 

สำหรับตลาดจีน ดูเหมือนว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น จากเงินเฟ้อที่ต่ำ ภาวะฟองสบู่ที่เริ่มลดลง ทำให้มี Room ที่ทางการจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่ความเสี่ยงในแนวนโยบาย Common Prosperity หรือนโยบายความร่ำรวยอย่างเท่าเทียม จะยังเป็นนโยบายที่กดดันเซกเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในระยะต่อไป

 

หน้าไพ่เริ่มเปิดแล้ว นักลงทุนทั้งหลายโปรดเตรียมตัวปรับกลยุทธ์

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising