×

นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียง วอนรัฐเลิกหวังผลระยะสั้น เริ่มยกเครื่องเศรษฐกิจไทยทันที! ก่อนฟิลิปปินส์-เวียดนามโตแซง

01.07.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

ในงานเสวนา เรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน’ ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียง วอนรัฐเลิกหวังผลระยะสั้น เริ่มยกเครื่องเศรษฐกิจไทยทันที ก่อนฟิลิปปินส์และเวียดนามโตแซงไทย ฉุดไทยสูญเสียอำนาจบนเวทีโลก-ภูมิภาคท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการคลังของไทย เตือนหากรัฐบาลไม่ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในวันนี้ ต้นทุนจะสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต

 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตเฉลี่ยเพียง 1.5% ฟิลิปปินส์-เวียดนามจ่อโตแซง

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า วิกฤตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือ เศรษฐกิจ ‘ไม่โต’ โดยหากพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth) พบว่า ในช่วงก่อนปี 1997 เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวดีราว 7.5% โดยเฉลี่ย แต่ช่วงหลังออกจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวเหลือราว 5% โดยเฉลี่ย และช่วงหลังเกิดปัญหาวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis) อัตราการเติบโตก็เหลือราว 3% โดยเฉลี่ย เมื่อถึงช่วงหลังโควิด การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ลดลงและมีแนวโน้มโตเฉลี่ย 1.5% เท่านั้น

 

“เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยเริ่มช้าลงไปเรื่อยๆ ถ้าไปตามทางนี้ เป็นเรื่องน่ากังวลใจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโตดีกว่าเมียนมาเล็กน้อยเท่านั้น แม้ตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังนำฟิลิปปินส์และเวียดนาม แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ฟิลิปปินส์กำลังจะแซงไทย จากที่ครั้งหนึ่งไทยเคยแซงฟิลิปปินส์มาได้ครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ที่น่าหนักใจอีกประการหนึ่งคือ เวียดนามก็กำลังจะแซงไทยเช่นกัน” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

 

 

จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าไทยถูกแซง ตกอันดับเศรษฐกิจชั้นนำอาเซียน

 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากเศรษฐกิจไทยถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ย่อมมีนัยและผลกระทบที่ตามมาคือ จะทำให้ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง ความเป็นผู้นำทางการทูตลดลง ความเป็นผู้นำทางการทหารลดลง ความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมและซอฟต์พาวเวอร์จะลดลง ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะทำให้เสียงของไทยเบาลงเรื่อยๆ ทำให้ความสำคัญลดลงและไม่อยู่ในสายตาของโลก

 

แม้กระทั่งเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศ ไทยก็จะไม่มีเงินพอแก้ไข การออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ก็จะเป็นเรื่องยาก 

 

“ถ้าเรายอมเดินไปในทางนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีนัยเยอะมาก ไทยจะถูก Marginalized ตัวอย่างเช่น ในอนาคตถ้าไทยกลายเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 2-3 ของอาเซียน เสียงไทยก็จะเบาลง อนาคตของไทยจะค่อยๆ แคระลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเพื่อน ซึ่งปัญหาทั้งหมดล้วนมาจากตัวเราเอง” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

 

 

ต้องยกเครื่องเศรษฐกิจทันที อยู่นิ่งถือเป็น ‘ความเสี่ยง’ ซ้ำรอย Nokia-Kodak

 

ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า ไทยมีปัญหาโครงสร้างมากมาย และถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเครื่องอย่างแท้จริง พร้อมทั้งมองว่า ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างหลัก 4 ด้าน ได้แก่ คุณภาพคน เทคโนโลยี รัฐบาล และโลกกำลังมีทางเลือกมากขึ้นกว่า

 

ดร.กอบศักดิ์ ย้ำว่า “รัฐบาลคือข้อจำกัดของประเทศ จากการทำนโยบายไม่ต่อเนื่อง ทำนโยบายสั้นๆ ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจสั้น ขณะที่นโยบายด้านเทคโนโลยีและด้านพัฒนาคนยาวนานเกินไปกว่าจะเห็นผล ต่อให้ทำวันนี้ก็เห็นผลอีกหลาย 10 ปี จึงไม่ทำ ทำไปไม่ได้คะแนน นี่คือสาเหตุที่โครงสร้างประเทศไทยไม่ดีขึ้น

 

“การไม่ยอมตัดสินใจไม่ใช่คำตอบ การที่เราอยู่นิ่งๆ ก็เป็นความเสี่ยง ถ้าเราไม่เปลี่ยนเลย ตำแหน่งจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น Nokia และ Kodak ซึ่งเป็นต้นแบบว่าไม่ยอมตัดสินใจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การสูญเสียตำแหน่งอย่างรวดเร็ว

 

ผมมองว่าเวลานี้คือช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจ (Decision Time) สถานการณ์ปิดโรงงาน ไม่ใช่โรงงานเล็กๆ เป็นโรงงานที่ใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากิน ทั้งหมดนี้คือระฆังที่เตือนว่าบุญเราเริ่มหมด

 

ย้อนกลับไปสมัยปี 1985-1990 เราไม่มีคู่แข่ง แต่วันนี้เวียดนาม จีน และอินเดีย ขึ้นมาหมดแล้ว แต่เราไม่เปลี่ยนตัวเอง เราเหมือนเดิม บุญเก่าที่เคยประสบความสำเร็จสมัยญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยน่าจะจบรอบแล้ว” ดร.กอบศักดิ์

 

ไทยยังไม่สายเกินไป

 

อย่างไรก็ดี ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ตอนนี้ยังไม่ช้าเกินไป ไทยยังอยู่ในฐานะที่จะเปลี่ยนตัวเองได้ ดังนั้นไทยต้องตัดสินใจตอนนี้

 

“เทคโนโลยีของโลกกำลังเปลี่ยนในอัตราเร่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีนวัตกรรมมากกว่าช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล (Data) ในช่วง 2 ปีที่มีการเก็บมากกว่าทุกปีที่เก็บรวมกันมา ตอนนี้คือโอกาสและคือช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ เพียงแต่ประเทศไทยจะหยิบฉวยได้หรือไม่”

 

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) แนะว่า มี 4 แนวทางที่รัฐบาลควรสานต่อและเร่งลงทุน ได้แก่ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy), การทำระบบจ่ายน้ำ (Water Supply System) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport System) เพื่อรองรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) และเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่เอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย และอาเซียน

 

รัฐบาลหวังผลระยะสั้น สร้างความท้าทายทางการคลังในอนาคต

 

ขณะที่ รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนานี้ว่า รากเหง้าของปัญหาด้านการคลังต่างๆ มาจากรัฐบาลหวังผลระยะสั้นเป็นสำคัญและไม่ใส่ใจต่อผลระยะยาวอย่างเพียงพอ

 

โดยตามแผนการคลังระยะปานกลางฉบับปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า หนี้สาธารณะไทยจะเพิ่มเป็นราว 69% ของ GDP (จากเพดานที่ 70% ของ GDP) ในปี 2570 ขณะที่การขาดดุลการคลังของไทยที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในอดีตอย่างชัดเจน ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ภาคการคลังของไทยไม่ใช่จุดแข็งเหมือนในอดีต และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยถูกหั่นอันดับความน่าเชื่อถือได้

 

“ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไทยขาดดุลงบประมาณมาแทบทุกปี หลายท่านอาจจะมองว่า การขาดดุลการคลังเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะถ้าสถาบันเราไม่แข็งแรง รัฐบาลก็อาจจะมองสั้นเป็นหลัก ที่น่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตามแผนการคลังระยะปานกลางฉบับปัจจุบันการขาดดุลของไทยก็เฉียด 4% ของ GDP แล้ว”

 

นอกจากนี้การขาดดุลเรื้อรังและภาระหนี้ที่สูงขึ้นก็อาจเบียดบังการใช้จ่ายอื่นๆ และจำกัดความสามารถของรัฐในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและรองรับวิกฤตในอนาคต

 

รศ.ดร.อธิภัทร ยังกล่าวด้วยว่า “ตอนนี้เป็นทางแยกสำคัญของภาคการคลัง เรามีต้นทุนที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้ ในอนาคตเราอาจจะถูกบังคับให้ต้องทำอะไรที่ยากขึ้น เช่น การขึ้นภาษี หรือการตัดรายจ่ายแบบฉับพลัน และวันนั้นต้นทุนของการทำเรื่องเหล่านี้อาจสูงกว่านี้อย่างมหาศาล”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising