×

นักเศรษฐศาสตร์เตือน ไทยเตรียมเข้าสู่ ‘ภาวะเงินเฟ้อต่ำ’ น่ากังวลหรือไม่?

08.12.2023
  • LOADING...
ภาวะเงินเฟ้อต่ำ

นักเศรษฐศาสตร์เตือน ไทยเตรียมเข้าสู่ ‘ภาวะเงินเฟ้อต่ำ’ หลังกระทรวงพาณิชย์เผย CPI เดือนพฤศจิกายน ติดลบ 0.44% นับเป็นการติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน และต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 7 เดือนติดต่อกัน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ 0.7% เท่านั้น ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของไทยในปี 2567 จะอยู่ระหว่างติดลบ 0.3% – 1.7% (โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7%)

 

โดยค่ากลางที่ 0.7% นี้ได้คำนวณผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไปแล้ว โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่า โครงการดังกล่าวจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มากเพียง 0.2% เท่านั้น

 

หมายความว่าหากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่เกิด เงินเฟ้อไทยทั้งปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% เท่านั้น ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่อนข้างมาก

 

นักเศรษฐศาสตร์เตือน ไทยเตรียมเข้าสู่ ‘ภาวะเงินเฟ้อต่ำ’

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า สถานการณ์เงินเฟ้อไทยปัจจุบันยังไม่เข้าขั้นเงินฝืด แต่มองว่าเป็น ‘ภาวะเงินเฟ้อต่ำ’ โดยปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อออกมาต่ำไม่ใช่มาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหมวดหมู่สินค้าและอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่ปรับตัวลดลงไป ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ สอดคล้องกับตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งขยายตัวเพียง 1.5% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.8%

 

ขณะที่ บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ก็มองว่าไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากหนึ่งในตัวชี้วัดเงินฝืดคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ต้องติดลบนานๆ

 

เงินเฟ้อพื้นฐานไทยดูไม่ดี

 

แต่อย่างไรก็ตาม บุรินทร์ชี้ว่า หากไปดูเงินเฟ้อพื้นฐานก็นับว่า ‘ดูไม่ดี’ เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 0.58% เท่านั้น นับว่าลดลงค่อนข้างมากจากช่วงต้นปีซึ่งอยู่ที่กว่า 3.2% สะท้อนว่าแนวโน้มดูไม่ค่อยดี

 

“ขนาดเอาราคาพลังงานและอาหารออกไป ตัวเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ยังค่อนข้างลดลงเร็วมาก สะท้อนว่าโมเมนตัมของเศรษฐกิจลดลงเร็วมาก ซึ่งเป็นอะไรที่น่ากังวล แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูไม่ค่อยกังวล เพราะอาจมองว่าเงินเฟ้ออาจปรับขึ้นได้จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่เกิดขึ้น ต้องติดตามว่าแบงก์ชาติจะต้องเปลี่ยนสมมติฐานหรือไม่” บุรินทร์กล่าว

 

ตามประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 แบบไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะอยู่ที่ 2.0% โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2%

 

โดยตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อปี 2567 ที่แตกต่างกันของแบงก์ชาติ (2.2%) และกระทรวงพาณิชย์ (0.7%) เป็นผลมาจากการคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของรัฐบาลที่แตกต่างกัน

 

ภาวะเงินเฟ้อต่ำน่ากังวลหรือไม่

 

บุรินทร์กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำต้องดูว่าต่ำเพราะอะไร ถ้าต่ำเพราะมาตรการรัฐก็อาจไม่น่ากังวล แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำเพราะเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว

 

ขณะที่อมรเทพคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ดังนั้นหากต้องการให้เงินเฟ้อขยับขึ้น จำเป็นต้องมีแรงกระตุ้นฝั่งอุปสงค์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร่งจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้ราคาสินค้าขยับมากขึ้นได้

 

ตัวเลขเงินเฟ้อจะส่งผลต่อนโยบายการเงินของแบงก์ชาติอย่างไร

 

อมรเทพมองว่า ในช่วงครึ่งปีแรกหากยังไม่มีเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามา ก็อาจเห็นเศรษฐกิจซึมๆ เช่นนี้ไปจนถึงกลางปี แต่ถ้ามีนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามา ก็อาจทำให้เงินเฟ้อขึ้นมาได้บ้าง นอกจากนี้ปีหน้ายังมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำและราคาน้ำมันโลกที่อาจมีความเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้แบงก์ชาติน่าจะยังไม่เปลี่ยนนโยบายหากยังไม่มีเหตุการณ์อะไรชัดเจนหรือมีจุดเปลี่ยน

 

ด้านบุรินทร์ประเมินว่า หากตัวเลขเงินเฟ้อออกมาต่างจากที่แบงก์ชาติประเมินไว้ หรือปัจจัยต่างๆ ที่คาดการณ์ไว้ไม่เกิดขึ้น แบงก์ชาติอาจต้องปรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนไปจากแถลงการณ์ล่าสุด ซึ่งพิจารณาได้ว่าแบงก์ชาติค่อนข้างมีมุมมองแบบ Hawkish และมองว่าเศรษฐกิจจะดี ทำให้พร้อมจะคงดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising