×

ฟังเสียง ‘นักเศรษฐศาสตร์’ เสี่ยงแค่ไหน เมื่อ ‘คลายล็อกดาวน์’ ทั้งที่ยังไม่พร้อม

31.08.2021
  • LOADING...
นักเศรษฐศาสตร์

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • นักเศรษฐศาสตร์ห่วง รัฐส่งสัญญาณผิดจากการคลายล็อกดาวน์ ทั้งที่ข้อมูลยังไม่ชัดว่าสถานการณ์ดีขึ้น สะท้อนผ่านยอดผู้เสียชีวิตต่อวันที่ยังสูง
  • KKP จี้รัฐเยียวยาเพื่อให้คนอยู่บ้านมากที่สุด ชะลอเปิดเมืองจนกว่าจะมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมากเพียงพอ ห่วงคลายล็อกดาวน์โดยไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ อาจเกิดการระบาดรอบใหม่หนักกว่าเดิม
  • ‘วิจัยกรุงศรี’ ประเมินยอดผู้เสียชีวิตพีกสุดต้นเดือนกันยายน ก่อนทยอยลดต่ำกว่า 200 คนต่อวันในช่วงปลายเดือน ถือเป็นระดับที่ระบบสาธารณสุขเริ่มรองรับได้
  • กรุงไทย ระบุสถิติต่างประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์หลังผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่า 60% จากยอดสูงสุด กรณีของไทยควรเริ่มคลายล็อกดาวน์เมื่อตัวเลขต่ำกว่า 8,000 รายต่อวัน 

วันพรุ่งนี้ (1 กันยายน) เป็นวันแรกที่รัฐบาลเริ่มต้น ‘คลายล็อกดาวน์’ โดยยอมเปิดให้ร้านอาหารนั่งทานในร้านได้ 50-75% ห้างสรรพสินค้าและสวนสาธารณะเปิดให้บริการได้ถึง 20.00 น. ระบบขนส่งสาธารณะเริ่มกลับมาให้บริการได้เท่าที่จำเป็น โดยหวังว่าจะช่วยคลายแรงกดดันทางเศรษฐกิจลง 

 

แต่สำหรับ ‘นักเศรษฐศาสตร์’ แล้ว ยังมีคำถามตัวโตๆ ว่า การคลายล็อกดาวน์ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อที่ยังสูงเกินกว่าหลัก ‘หมื่นรายต่อวัน’ หรือยอดผู้เสียชีวิตที่ยังทรงตัวในระดับ 200 คนต่อวัน จะช่วยลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าคลายล็อกดาวน์แต่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาด จนนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่และต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ในมุมเศรษฐกิจถือว่าความเสียหายมีสูงมาก 

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า รัฐบาลกำลังส่งสัญญาณที่ผิดมหาศาล เพราะการคลายล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไปเท่ากับกำลังบอกประชาชนว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ทุกอย่างกำลังดีขึ้นจริง

 

นอกจากนี้ การคลายล็อกดาวน์โดยที่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนหรือเน้นย้ำเรื่องมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด หรือมีมาตรการที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยง จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดกลับมารุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า ดังนั้น ถ้าคลายล็อกดาวน์แล้วรัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้จนต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจได้

 

“ถ้าเราผ่อนคลายแล้วยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ สถานการณ์ในระยะข้างหน้าคงจะหนักกว่าเดิมแน่นอน”

 

อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์กล่าวยอมรับว่า เราคงไม่สามารถล็อกดาวน์ประเทศไปตลอดได้ เพราะในที่สุดทุกคนต้องอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสตัวนี้ เพียงแต่การจะคลายล็อกดาวน์ให้ทุกคนอยู่ร่วมกับเชื้อตัวนี้ได้ จำเป็นต้องมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในประเทศไทยยังมีเพียงแค่ 10% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น 

 

ถ้าดูในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ หรืออิสราเอล จะเห็นว่าอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในประเทศเหล่านี้ สูงกว่า 60% ของประชากรทั้งหมด แต่หลังเขากลับมาเปิดเมือง จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มสูงขึ้นมาก เพียงแต่ยอดผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้เสียชีวิตไม่ได้มีมาก กรณีของไทยจึงต้องดูว่าจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศเพียงพอที่จะกลับไปเปิดเมืองหรือไม่

 

พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า การล็อกดาวน์ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่อาจมีรายได้ไม่เพียงพอในการหาเลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเยียวยาเพื่อให้คนอยู่กับบ้านมากที่สุด และระหว่างนี้ต้องเร่งฉีดวัคซีนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีความพร้อมในการกลับมาเปิดเมือง แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ คือ เปิดเมืองทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม 

 

“ที่รัฐบาลกำลังทำในเวลานี้ คือ อยู่ๆ ก็เปิดเมืองโดยที่วัคซีนยังฉีดได้ไม่ถึงไหน ซึ่งอันตรายมาก เหมือนกำลังปล่อยคนให้เดินเข้าไปในทุ่งระเบิด ในเมื่อเรารู้ว่าข้างหน้ามีทุ่งระเบิดอยู่ อย่างน้อยควรให้คนของเราใส่เสื้อกันระเบิดสักหน่อย ไม่ใช่มีเสื้อยืดอยู่ตัวเดียวแล้วบอกให้เดินเข้าไป”

 

 

คาดยอดผู้เสียชีวิตพีกสุดต้นเดือนกันยายนนี้

 

ด้าน สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาได้ถือเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ จะคลายล็อกดาวน์อย่างไรเพื่อไม่ให้การระบาดของโรคโควิดกลับมาหนักขึ้นจนต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง   

 

“เห็นด้วยว่าเราควรต้องอยู่กับโควิดให้ได้ แต่การผ่อนคลายเราก็ควรเตรียมความพร้อมให้พร้อมจริงๆ ไม่ใช่แค่เปิดๆ ไปก่อน แล้วมาหาวิธีป้องกัน ผมคิดว่าถ้าต้องกลับไปล็อกดาวน์อีก คนจะไม่ไหวกันแล้ว ดังนั้น มาตรการรองรับไม่ให้เราต้องกลับไปปิดเมืองอีกถือเป็นเรื่องที่สำคัญสุด”

 

สำหรับประมาณการยอดผู้เสียชีวิตที่วิจัยกรุงศรีทำเอาไว้ คือ จำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะพีกสุดในช่วงต้นเดือนกันยายน หลังจากนั้นจะทยอยลดลงต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม จำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะลงมาต่ำกว่าระดับ 200 คนได้ ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยรองรับได้

 

ห่วงการระบาดระลอกใหม่ในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 กันยายนนี้ อาจทำให้ไทยมีความเสี่ยงจะต้องเผชิญกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันของไทยยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งการตรวจผู้ติดเชื้อก็ยังทำได้ไม่ครอบคลุมพอ โดยปัจจุบันอัตราการตรวจพบเชื้อ (Positive Rate) ของไทยอยู่ที่ 24% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของ WHO ที่ 5% ค่อนข้างมาก

 

“การผ่อนคลายล็อกดาวน์ของไทยอาจจะเริ่มเร็วเกินไป ทำให้มีความเสี่ยงที่เราอาจเจอกับการระบาดอีกระลอกได้ เข้าใจว่าภาครัฐอาจไม่มีงบสำหรับเยียวยาการล็อกดาวน์ที่ยาวนานและไม่ต้องการกู้เพิ่ม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมืองที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจใกล้เข้ามา แต่ต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานของไทยยังแตกต่างจากประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ที่คลายล็อกดาวน์ในขณะที่อัตราการติดเชื้อยังสูงได้ เพราะสัดส่วนคนกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ที่ได้รับวัคซีนของเขาแตะระดับ 60-70% แล้ว ขณะที่ประสิทธิภาพวัคซีนของเขาก็สูง ส่วนของไทยต้องยอมรับว่ายังทำได้ไม่ดีเท่า” พูนระบุ

 

 

แนะคลายล็อกดาวน์หลังผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 8,000 รายต่อวัน

 

พูนกล่าวอีกว่า ขณะนี้จำนวนเตียงและห้อง ICU ที่พร้อมรองรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักของไทยยังคงอยู่ในภาวะล้นความจุ ดังนั้น หากเกิดการระบาดขึ้นอีกระลอก อาจทำให้ภาพผู้ป่วยต้องเสียชีวิตคาบ้านเพราะหาเตียงไม่ได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้กลับมาเกิดซ้ำขึ้นอีก ภาพเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคนและภาวะเศรษฐกิจ 

 

“การคลายล็อกดาวน์จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้บางส่วน แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงด้วย อาจเกิดการระบาดอีกระลอกขึ้นมา ซึ่งไม่คุ้ม จากตัวอย่างในอังกฤษและอินเดีย จะเห็นว่าช่วงเวลาในการคลายล็อกดาวน์ที่เหมาะสม คือ จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากจุดพีกแล้ว 60% ในกรณีของไทย เราเชื่อว่าจุดพีกได้ผ่านไปแล้วที่ 22,000 คนต่อวัน ดังนั้น จังหวะที่เราควรคลายล็อกดาวน์ คือ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 8,000 คนต่อวัน” พูนกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X