ในที่สุดรัฐบาลจำต้องยอมขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 70% จากเดิมไม่เกิน 60% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง ซึ่งในมุมนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพียงแต่มองว่าการใช้เงินควรต้องมีศักยภาพ เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการกับการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นไม่เกิน 70% เพราะระยะสั้นเศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตช้าสุดในภูมิภาค และไทยยังน่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมาได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็หั่นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การขยับกรอบเพดานหนี้ดังกล่าวยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกหลายเรื่อง เพื่อให้การก่อหนี้ในระยะข้างหน้าเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยมากที่สุด โดยเฉพาะแผนการใช้เงินจากการกู้ยืมเพื่อมาเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐไม่ควรทำนโยบายในลักษณะแจกเงินมากเกินไป เพราะการแจกเงินแล้วจบไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจในระยะยาวมากนัก
“หากรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทเพื่อมาแจกเงินชดเชยรายได้ที่หายไปจากการระบาด เพื่อประคองการบริโภคในลักษณะซื้อเวลารอการเปิดเมือง ก็อาจทำได้ เพราะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพียงแต่การแจกเงินลักษณะนี้ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจไทยในระยะยาว”
อมรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อผลักดันการเติบโตในระยะยาว เพราะตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าอาจเติบโตได้เพียง 3% เท่านั้น ดังนั้นจึงอยากเห็นการใช้เงินในลักษณะอัดฉีดเพื่อการปรับโครงสร้าง เพราะเวลานี้ไทยก็มีปัญหาเรื่องสังคมสูงอายุและขาดการลงทุน
“คิดว่าถ้ารัฐกระจายเงินสู่ท้องถิ่น สนับสนุนการจ้างงานในชนบท กระจายอำนาจทางการคลังให้ท้องถิ่นเลือกใช้โครงการต่างๆ เอง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำหรือสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก และยังช่วยลดทอนปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำลงได้ด้วย”
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขยับเพดานหนี้ในครั้งนี้ อมรเทพ ประเมินว่า ระยะสั้นนักลงทุนน่าจะคลายความกังวลและมีความเชื่อมั่นที่มากขึ้นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันอาจกระทบต่อตลาดพันธบัตร (บอนด์) ได้ ผ่านอัตราผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) ที่พุ่งขึ้น แต่เชื่อว่ากรณีนี้ ธปท. จะสามารถเข้าดูแลได้ผ่านการเข้าไปซื้อพันธบัตรในตลาดรอง
ส่วนระยะยาว ในอนาคตคงได้เห็นรัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มเติม เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และอื่นๆ แต่การขึ้นภาษีล้วนมีแรงกดดันทางการเมืองจึงทำได้ค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาหนี้สาธารณะแล้ว รัฐบาลควรต้องดูแลหนี้ครัวเรือนด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนที่สูงกว่า 90% ของ GDP ไปแล้ว หากในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า เกิดหนี้ส่วนนี้ขยับขึ้นไปสูงเกินกว่า 100% ของ GDP ถึงตอนนั้นแม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากแค่ไหน ก็คงมีผลค่อนข้างน้อย เพราะประชาชนจะไม่มีกำลังในการบริโภคจากปัญหาหนี้ที่อยู่ระดับสูง
ด้าน นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังตัดสินใจขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นไม่เกิน 70% น่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสียที่มีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเท่ากับรัฐบาลจะมีศักยภาพในการก่อหนี้เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม
“ความจริงระดับหนี้สาธารณะของเราไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และที่ผ่านมาการดูแลเศรษฐกิจ ตลอดจนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดของไทยผ่านมาตรการด้านการคลัง ก็ดูจะน้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก ดังนั้นการที่เราขายเพดานหนี้ในรอบนี้จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”
สำหรับผลกระทบต่อตลาดบอนด์ก็ไม่ได้มีมากนัก ถ้าดูการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ระยะยาว รุ่นอายุ 5 ปี ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 0.94% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 0.6% แม้ว่าจะขยับขึ้นมาบ้าง แต่ยังถือเป็นระดับที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2564 ซึ่งขณะนั้นบอนด์ยีลด์รุ่นอายุ 5 ปี มีอัตราที่สูงกว่า 1% ขึ้นไป
ส่วนผลกระทบต่อค่าเงินบาทก็ไม่ได้มีมากเช่นกัน โดยเงินบาทในช่วงนี้แม้จะอ่อนค่าลง แต่ก็เป็นผลจากภาวะการลงทุนตามปกติที่นักลงทุนเริ่มเทขายเงินบาทออกมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้แข็งค่าขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวตามปกติ ไม่ได้มีประเด็นใดที่น่ากังวล
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP