เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวของจีนในเดือนมิถุนายนเริ่มกลับมาเป็นบวก หลังทางการประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ที่ดำเนินมากว่า 2 เดือน และทยอยปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการในเดือนมิถุนายนของจีน พุ่งขึ้นแตะระดับ 54.7 จากระดับ 47.8 ในเดือนพฤษภาคม นับเป็นอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 13 เดือน
ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนมิถุนายนของจีน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.2 จากระดับ 49.6 ในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ตัวเลขการส่งออกและยอดค้าปลีกก็กลับมาขยายตัวได้เช่นกัน ซึ่งเร็วที่สุดในรอบ 4 เดือน
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ว่า ทั้งดัชนี PMI การส่งออก และยอดค้าปลีก ที่กลับมาเติบโตในเดือนล่าสุดของจีนสะท้อนว่า เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวจากช่วงล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี ยังมองว่าโอกาสที่ GDP จีนในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าของรัฐบาลที่ 5-5.5% คงไม่ใช่เรื่องง่ายจากปัจจัยสำคัญคือ การที่จีนยังคงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) เอาไว้
“การปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของจีน รวมถึงการลดจำนวนวันกักตัว จะต้องแลกมาด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ขณะที่ข่าวเรื่องการเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็ยังมีอยู่ ทำให้โอกาสที่จีนจะกลับไปเข้มงวดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งยังมีความเป็นไปได้ ซึ่งหากเกิดขึ้น การฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของจีนก็จะไม่เต็มที่” อมรเทพกล่าว
อมรเทพยังเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว จีนเองก็ยังมีจุดเปราะบางภายในที่ต้องระมัดระวัง เช่น ปัญหาหนี้สินของภาคเอกชน และความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรงไปก็อาจไปจุดชนวนให้เกิดวิกฤตตามมาได้
“เรายังมองว่า GDP จีน ในปีนี้จะเติบโตได้ราว 4-4.5% เป็นการฟื้นตัวอย่างระมัดระวัง ต่างจากการฟื้นตัวในกรณีอู่ฮั่น การกระตุ้นของภาครัฐจีนจะเน้นไปที่ 3 เรื่องหลัก คือ การช่วย SMEs ผ่านการลดภาษี, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดและ EV และการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางในภาคอสังหา เพื่อลดการกระจุกตัวของธุรกิจในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่” อมรเทพกล่าว
อมรเทพกล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่จะฟืนตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในบางกลุ่ม เช่น ยาง อาหารแปรรูป และสินค้าการเกษตร ชะลอตัวลง ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนก็ยังไม่สามารถคาดหวังได้ในปีนี้ อย่างไรก็ดี ความต้องการที่ชะลอตัวลงในจีนอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอยู่ในระดับทรงตัว ไม่ได้เร่งตัวขึ้นแรงเช่นกัน
อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในเวลานี้จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากมาตรการล็อกดาวน์ในภาคการผลิต โอกาสที่ GDP จีน ในปีนี้จะขยายตัวได้ 5.5% ตามเป้าหมายของรัฐบาล ยังเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาจากนโยบาย Zero COVID ที่ยังมีความเข้มงวดอยู่ ทำให้ในส่วนของการบริโภคยังกลับมาได้ยาก
“ถึงจะไม่มีล็อกดาวน์แล้ว แต่ Zero COVID ไม่ได้เลิกไปด้วย ที่เซี่ยงไฮ้ตอนนี้ก็ยังเคร่งครัดมาก ซึ่งประเด็นนี้อาจกดดันการบริโภค ส่วนการผลิตคงฟื้นตัวได้ เพราะใช้ระบบ Closed Loop” อาร์มกล่าว
อาร์มประเมินว่า นโยบาย Zero COVID จะยังเป็นปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐจีนต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน หากพิจารณาจากการที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้ออกมาชื่มชมนโยบาย Zero COVID ว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องเมื่อสองวันที่ผ่านมา และการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการจัดประชุมในช่วงครึ่งปีหลัง
“ผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่จะมีต่อไทยคงจะไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากเดิม ถ้าไม่มีการล็อกดาวน์เมืองใหญ่อีก เพราะนักท่องเที่ยวจีนก็ไม่ได้มาอยู่แล้วในปีนี้ สำหรับในระยะสั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยในฝั่งสหรัฐฯ น่าจะมีผลกระทบกับไทยมากกว่า” อาร์มกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP