×

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘จีนเปิดเมือง’ อาจเป็นปัจจัยไม่คาดฝัน ที่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วโลก

09.12.2022
  • LOADING...
จีนเปิดเมือง

หลายฝ่ายประเมินว่า ในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะชะลอตัวลง เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย และผู้บริโภคจะใช้จ่ายน้อยลง โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาหาร และพลังงานที่เย็นลง จะช่วยกันชะลออัตราเงินเฟ้อในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การเปิดเมืองของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ความคาดหวังเหล่านั้นสั่นคลอน

 

โดยหากจีนเปิดพรมแดนอีกครั้ง ส่วนที่เหลือของโลกอาจสั่นสะเทือน เนื่องจาก เศรษฐกิจภายในประเทศจีนจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง นักเรียนในจีนจะเดินทางไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยวจะเริ่มเดินทาง และผู้บริหารจะกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินอีกครั้ง โดยสิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับตลาดที่อยู่อาศัยของจีนเริ่มฟื้นตัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ภายใต้สมมติฐานที่ว่า จีนจะเปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ภายในกลางปี 2023 Bloomberg Economics ประมาณการว่า ราคาพลังงานจะเพิ่มขึ้น 20% และดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าอาจลดลงเหลือ 3.9% ภายในกลางปี อาจพุ่งขึ้นเป็น 5.7% ภายในสิ้นปี

 

ประมาณการดังกล่าวถือเป็นการพลิกบทบาทของจีนที่ในปีนี้เป็นผู้ช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก เนื่องจากการตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัย และมาตรการควบคุมโควิด ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างผิดปกติ โดย Bloomberg Economics ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จีนในปีนี้เหลือ 3% จาก 3.5% และปรับลดประมาณการปีหน้าเหลือ 5.1% จาก 5.7%

 

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดที่หลากหลายยังแสดงให้เห็นว่า ความอ่อนแอของจีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไปทั่วทุกมุมโลก

 

โดยเมื่อเดือนกันยายน สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กล่าวว่าการซื้อน้ำมันของจีนในปีนี้น่าจะต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 โดยการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 5 ของจีน ก็ลดลงมากกว่า 25% ในเดือนพฤศจิกายน นับเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2009 

 

ขณะที่ข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เข้มงวดก็ส่งผลให้การจราจรทางอากาศในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดการเดินทางทางอากาศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 35% จากระดับในปี 2019 แม้ว่าจีนเคยเป็นตลาดการบินภายในประเทศที่พลุกพล่านที่สุดในโลก โดยรองรับเที่ยวบินประมาณ 14,000 เที่ยวบินต่อวัน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 2,800 เที่ยวบินต่อวันในเดือนพฤศจิกายน

 

ดังนั้น การเปิดประเทศของจีนจะผลักดันการนำเข้าน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และวัตถุดิบต่างๆ พร้อมๆ กับกระตุ้นความต้องการที่นั่งบนเครื่องบิน ห้องพักโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

 

Iris Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่ของ ING Groep NV กล่าวว่า “แน่นอนว่าสิ่งนี้จะผลักดันอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกให้สูงขึ้น หากจีนกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่อีกครั้ง จะมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ยอดขายมากขึ้น การผลิตมากขึ้น”

 

แม้แนวโน้มที่จีนจะเปิดประเทศอีกครั้งในปีหน้ายังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็ชัดเจนว่าจีนกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการสิ่งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ในกรุงปักกิ่งได้ออกแผน 10-Point Plan ซึ่งรวมถึงมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม ทำให้ผู้สังเกตการณ์เห็นว่า รัฐบาลจีนกำลังถอยห่างจากนโยบาย Zero-COVID โดยปักกิ่ง กว่างโจว หางโจว เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ต่างอยู่ในกลุ่มเมืองที่ผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้น

 

อีกเหตุผลที่บ่งชี้ว่า จีนอาจเป็นตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อในปีหน้าคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยหลังจากมีการประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาบ้านในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งการผ่อนปรนข้อกำหนดการชำระเงินดาวน์สำหรับผู้ซื้อบ้าน และมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาวิกฤตสภาพคล่องในหมู่บริษัทพัฒนาอสังหา

 

โดยความเป็นไปได้ที่ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัว รวมกับความหวังการเปิดประเทศใหม่ น่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าและตลาดการเงินของจีน ตามรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขานิวยอร์ก เรื่อง ‘What Happens in China Does Not Stay in China’ พบว่าจีนมีบทบาทสำคัญต่อการบริโภค การเติบโตของเศรษฐกิจ และจิตวิญญาณของนักลงทุนทั่วโลก โดย Fed พบว่า นโยบายสินเชื่อแบบขยายตัว (Expansionary Credit Policy) ในจีน นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากในราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การผลิตทั่วโลก และ GDP นอกประเทศจีน ซึ่งได้แรงหนุนจากอุปสงค์ของจีนที่สูงขึ้น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X