ภาพความรุนแรงของมหันตภัยทำลายโลกในภาพยนตร์ที่ดูเหมือนห่างไกลความเป็นจริงเสียเหลือเกิน อาจกลายเป็นจริงเร็วกว่าที่คิด
โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความรุนแรงที่มนุษย์เริ่มปฏิบัติต่อกัน เพื่อดิ้นรนเอาตัวรอดจากทุกมุมโลก กลายเป็นข่าวประจำวันไปแล้ว ใครจะเชื่อว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาที่โยงใยกันไปมาจนหาต้นตอไม่ได้ มาจากวิกฤตขาดแคลนน้ำที่ทั่วโลกประสบปัญหามาอย่างยาวนาน เพราะก่อนหน้านี้เราไม่ทันฉุกคิดว่า ถ้าเราต้องอยู่บนโลกที่ไม่มีน้ำใช้ หรือมีน้ำเหลือเพียงจำกัด เราต้องรับมือกับผลกระทบอะไรบ้าง
เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ถ้าไม่มีน้ำ เราก็ไม่มีอาหาร เพราะวงจรของอาหารตั้งแต่การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ลำเลียง เก็บรักษา จนถึงการปรุงอาหาร ต้องใช้น้ำทั้งสิ้น และถ้าไม่มีน้ำ เราอาจต้องจับจองพื้นที่เพื่อฝังกลบสิ่งปฏิกูลในตัว เนื่องจากชักโครกไม่มีน้ำให้กด ถ้าไม่มีน้ำ คุณพร้อมที่จะรับมือกับเชื้อโรคที่หมักหมมอยู่ในร่างกาย สิ่งของ เครื่องใช้ที่ไม่ได้ทำความสะอาดหรือยัง และแน่นอนว่า มันจะนำไปสู่โรคระบาดอีกสารพัดที่คงไม่สามารถหาวัคซีนมารักษาได้ เพราะที่โรงพยาบาลหรือห้องแล็บไหนๆ ก็ไม่มีน้ำใช้เช่นกัน
ถ้าเรายังใช้น้ำ น้ำก็เป็นเรื่องของเราทุกคน ถ้าคุณยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ จะถึงวันที่คุณต้องตระหนก เมื่อตื่นมาพบว่า ไม่มีน้ำให้ใช้อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ East Water ผู้นำในด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยมากกว่า 20 ปี ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ทุกคนมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อความยั่งยืน ผ่านโครงการ ‘สะกิดไทย…ใส่ใจน้ำ’ ตามแนวคิด URD ที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปปฏิบัติและปรับใช้ได้
หลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน ผ่านเครื่องมือสื่อสารแนวคิด URD ที่ประกอบไปด้วย 3 หลักเกณฑ์ จากการสร้างสรรค์และพัฒนาแนวคิดของ East Water ก็เพื่อให้ทุกคนนำหลักปฏิบัตินี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
U = Useful ใช้อย่างคุ้มค่า
หลักการที่ง่ายและทำได้ทันที เริ่มจากปรับพฤติกรรมของเราเอง โดยดึงหลักการของการ Reduce, Reuse, Recycle เข้ามาช่วย เช่น Reduce ใช้แก้วรองน้ำเพื่อบ้วนปาก แทนการใช้มือรองน้ำจากก๊อก ช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 30 ลิตรต่อครั้ง ปิดฝักบัวทุกครั้งที่ถูสบู่ ช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 60 ลิตร Reuse น้ำทิ้งจากท่อแอร์ที่เคยปล่อยไหลให้เสียของ หาถังมารอง แล้วนำไปรดน้ำต้นไม้ได้ น้ำจากการล้างผักหรือผลไม้ แทนที่จะเททิ้ง ก็นำไปรดน้ำต้นไม้หรือใช้ทำความสะอาดพื้นที่นอกบ้านได้ Recycle เรียนรู้วิธีนำน้ำเสียจากครัวเรือน เช่น น้ำจากการอาบน้ำ ด้วยการติดตั้งถังพักน้ำ ก่อนจะปล่อยไปยังแปลงผักสวนครัวในบ้าน
R = Reserve คาดการณ์เพื่อสำรองน้ำ
การคาดการณ์ถึงปริมาณน้ำที่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ต่างกัน จะช่วยให้มีการจัดสรรน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเกิดวิกฤต ก็จะทำให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง ในครัวเรือนอาจเริ่มที่การคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค ซึ่งจะต่างกันตามจำนวนคนในครอบครัวและลักษณะการใช้งาน แต่โดยเฉลี่ย ความต้องการน้ำต่อคนต่อวันจะอยู่ที่ 50-250 ลิตร นำไปสู่การหาขนาดถังเก็บน้ำที่เหมาะสม เพื่อให้มีน้ำสำรองใช้เพียงพอ ซึ่งการคาดการณ์สำหรับภาคเกษตรกรรมเป็นเรื่องของการวางแผนที่จะเพาะปลูกพืชตลอดทั้งปี อย่างการวางแผนปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง การสร้างสระน้ำชั่วคราว เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำรองน้ำ หรือการทำนาขั้นบันได ยกหัวคันนาสูงและกว้าง เพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ในท้องนา
D = Detect ควบคุมและวางแผนการใช้น้ำ
การใช้ทรัพยากรน้ำต้องรู้จักบริหาร วางแผน และควบคุมพฤติกรรมการใช้น้ำของตนเอง เพื่อที่จะไม่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของการใช้น้ำในแต่ละเดือน จนส่งผลกระทบถึงแหล่งน้ำ เช่น หมั่นตรวจสอบข้อมูลการใช้น้ำภายในบ้านว่ามีตัวเลขผิดปกติในแต่ละเดือนหรือไม่ ตรวจเช็กท่อ หากพบการรั่วซึมต้องรีบแก้ไข ไม่ให้เกิดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ ด้านเกษตรกรอาจต้องควบคุมการใช้น้ำในการทำการเกษตรแต่ละส่วน เพื่อบริหารน้ำที่สำรองไว้ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการควบคุมการใช้น้ำในการผลิตตลอดทั้งปี
จะเห็นว่า แนวคิด URD เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า ถ้าลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง จะช่วยรักษาทรัพยากรน้ำไว้ได้อย่างยั่งยืน และบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตการณ์น้ำในด้านต่างๆ ได้ และยังเป็นแนวคิดที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติที่สามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ทั้งในระดับครัวเรือน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างยั่งยืน
เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ถ้าไม่อยากให้ลูกหลานใช้ชีวิตบนโลกที่ไม่มีน้ำใช้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- ใช้น้ำประปาอย่างประหยัด https://www.mwa.co.th/ewt_news.php?nid=698
- ความต้องการน้ำตามประเภทการใช้น้ำ http://subsites.dpt.go.th/edocument/images/pdf/doc_urban/u014.pdf