เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 8 เรื่อง และสรุปออกมาเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายที่เร่งทำ ดังนี้
- ฟรีวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เริ่มวันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567
- ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
- พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 3 ปี
- ปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ คาดมีผลวันที่ 1 มกราคม 2567
- ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลดลงเหลืออัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย
- ลดราคาน้ำมันดีเซลสำหรับภาคขนส่งต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่มวันที่ 20 กันยายนไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนราคาน้ำมันเบนซินจะเป็นการมุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนเปราะบาง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และแท็กซี่ ในระหว่างนี้ให้มีการกำกับดูแลราคาขายปลีกให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 2.00 บาทต่อลิตร
- ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566 ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
THE STANDARD WEALTH ชวนติดตามว่าธุรกิจใดได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้บ้าง และธุรกิจใดได้รับผลกระทบบ้าง โดยพบว่า ในระยะสั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการบริโภค การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร ขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนและธุรกิจ ส่วนด้านพลังงานอาจได้รับผลกระทบเชิงรายได้
ส่วนในระยะกลาง นโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับโครงสร้างพลังงานและกระแส ESG จำเป็นต้องปรับตัว
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล