สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้มีการประชุมและตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ซึ่งจะทำกรอบการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจ 2 ระยะ คือ 1. ระยะเร่งด่วน และ 2. ระยะปานกลางและยาว
ทั้งนี้ มีข้อสรุปและข้อเสนอมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว เบื้องต้นจะปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จากที่ตั้งเป้าการใช้งานที่ 5 ล้านสิทธิ์ แต่ปัจจุบันมีการใช้สิทธิ์โรงแรมจริงเพียง 5.5 แสนคืนเท่านั้น และยังเห็นการท่องเที่ยวในระยะใกล้ ดังนั้นคาดว่าจะขยายสิทธิ์โดย 1 คนสามารถใช้ได้ 10 คืนจากเดิมที่จำกัดอยู่ 5 คืน และปรับเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินสูงสุดเป็น 2,000 บาทจากเดิม 1,000 บาท
นอกจากนี้จะพยายามดึงภาคเอกชน และธุรกิจขนาดใหญ่ให้มีส่วนร่วมในการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขที่จะจูงใจให้เอกชนเข้าร่วม เช่น มาตรการทางภาษี ฯลฯ
- มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจและ SMEs เมื่อวานนี้ (18 สิงหาคม 2563) ครม. เห็นชอบการเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อแก่ SMEs 114,100 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการปรับหลักเกณฑ์เพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ SMEs ผ่านกลไกต่างๆ
- มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยจะเน้นไปที่กลุ่มจบการศึกษาใหม่ และคนที่ตกงาน รวมถึงมาตรการที่จะช่วยคงการจ้างงานในระบบไว้ ได้แก่ การส่งเสริมการจ้างงานเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าว การรักษาการจ้างงานเดิมโดยเน้นในสาขาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้งแรงงานในและนอกระบบ และการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับผู้มีรายได้น้อย
- มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมระยะใหม่ และมาตรการเปิดรับผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม
โดยจะมีการรายงานความคืบหน้า และรายละเอียดแต่ละโครงการภายในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
นอกจากนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการใน ศบศ. 3 ชุด ได้แก่
- คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน
- คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว
- คณะอนุกรรมการสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา
สมิทธ์ พนมยงค์ โฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) กล่าวว่า ในมาตรการเร่งด่วนทั้ง 4 เรื่องนี้ยังอยู่ในงบวงเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท โดยต้องเร่งรัดให้มาตรการต่างๆ ออกมาทันเวลา
ขณะที่มาตรการการจ้างงาน ศบศ. มีการกำชับไปที่กระทรวงแรงงานเพื่อทำรายละเอียดมาตรการฯ มาเสนอในสัปดาห์หน้า และขอให้ทำแพลตฟอร์มที่จะทำให้รวมศูนย์ข้อมูลการจ้างงานเพื่อให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกบริษัท เพราะช่วงที่ผ่านมามีคนไทยที่ตกงานและกลับต่างจังหวัด จะสามารถเข้าถึงข้อมูลการจ้างงานในพื้นที่ได้ตรงกับความต้องการจ้างงานในพื้นที่
ขณะที่มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย จะเน้นให้ลงไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย อย่าง แม่ค้า หาบเร่ จากมาตรการช่วงที่ผ่านมากระจุกตัวที่ร้านอาหาร และร้านค้าที่สามารถออกบิลได้ แต่จะไม่เน้นการแจกเงินเพื่อไปซื้อของ ส่วนใหญ่จะเป็นการ Co-Pay โดยเน้นเงินกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และรัฐออกส่วนหนึ่ง
ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการจ้างงานยังมีในกลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ตอนนี้จึงต้องดึงข้อมูลจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน (เงินเยียวยา 5,000 บาท) ราว 15-16 ล้านคน เพื่อมาดูว่ากลุ่มนี้ยังมีงานทำหรือไม่ และจะมีการทำมาตรการเพิ่มดูแลอย่างไร
ปัจจุบันมีคนไทยในระบบตกงาน 400,000 คน และมีกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะตกงาน 1.7 ล้านคน ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องเน้นไปที่การทำให้ภาคธุรกิจคงการจ้างงานไว้ ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งถือว่าแก้ปัญหาง่ายกว่าคนตกงาน ล่าสุดภายในวงเงินเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่เริ่มอนุมัติไปคาดว่าจะสร้างการจ้างงานราว 97,000 คน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์