วันนี้ (16 ส.ค.) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2562 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน
ภายหลังการประชุม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง มั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 316,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบกลางไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐราว 207,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกองทุนต่างๆ 5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 โดยเสนอชุดมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 2. มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนประเทศ และ 3. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย
มาตรการแรกคือ การเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่ 13 จังหวัด กว่า 900,900 ราย ซึ่งเป็นหนี้อยู่กับ ธ.ก.ส. โดยจะมีการช่วยลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 1 ปี ขณะที่เกษตรกรรายย่อยจะได้รับสินเชื่อฉุกเฉิน 5 หมื่นบาทต่อราย โดยในปีแรกจะปลอดดอกเบี้ย วงเงินทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูซ่อมแซมเสียหายจากภัยแล้ง วงเงินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท รวมวงเงิน 5,000 ล้านบาท และขยายเวลาชำระเงินกู้พิเศษ สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตข้าวนาปี 62/63 ปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกือบ 3 ล้านราย
สำหรับมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศนั้น สนับสนุนให้ประชาชนไทยท่องเที่ยว ‘ชิม ช้อป ใช้’ ข้ามจังหวัด โดยให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย วางเป้าหมายผู้เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนา 10 ล้านคน ประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสำหรับการท่องเที่ยวผ่านอีวอลเล็ต 1,000 บาท สามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที เพื่อใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว (ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น) เช่น ซื้อสินค้าท้องถิ่น รับประทานอาหาร พักโรงแรมต่างๆ และยังให้ผู้ที่ได้สิทธิสามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอเงินคืนได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีความชัดเจน หลังเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศไทย โดยเสนอการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวอินเดีย
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยเสนอให้หักค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องจักรจากการลงทุน สามารถหักภาษี 1.5 เท่า ภายใน 5 ปี และให้สินเชื่อผ่อนปรนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะเวลากู้ 7 ปี ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินรัฐให้เร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี กรุงไทย และออมสิน รวม 1 แสนล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อบ้าน 52,000 ล้านบาท และให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ โดยลดค่าธรรมเนียมให้เอสเอ็มอีในช่วง 2 ปีแรก ส่วนมาตรการดูแลค่าครองชีพผ่านกลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเป็น 500 บาทต่อราย จากเดิมผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 300 บาทต่อเดือน และผู้มีรายได้ 3 หมื่นถึง 1 แสนบาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท และให้เงินดูแลเด็กแรกเกิดเพิ่มอีกเดือนละ 300 บาท โดยการช่วยเหลือเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้มีระยะเวลา 2 เดือน คือเดือนสิงหาคมกับกันยายนนี้เท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจงว่า มาตรการต่างๆ เหล่านี้ ได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณมาโดยตลอด โดยคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถเดินหน้าเติบโตและบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ร้อยละ 3 ทั้งปี
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล