×

ครม. อนุมัติมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรับมือโควิด-19 บรรเทาวิกฤตระยะสั้น จับตาลดดอกเบี้ยนโยบาย

โดย SCB WEALTH
10.03.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

บ่ายวันนี้ (10 มีนาคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ดังนี้

 

1.มาตรการด้านการเงิน

– ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในอัตราดอกเบี้ย 2 % ต่อปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย รวมวงเงินสินเชื่อ 1.5 แสนล้านบาท

– การปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้

– ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ (มีผลบังคับใช้แล้ว)

– สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 3 % ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนหมุนเวียน

 

2.มาตรการด้านภาษี

– ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ จาก 3 % เหลือ 1.5 % ช่วงเวลา 1 เมษายน – 30 กันยายน 2563

– ให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่กู้เงินซอฟต์โลนด์ และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ในช่วง 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563

– ให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่จ้างงานลูกจ้างต่อ ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2563

– ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 15 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วัน สำหรับที่ยื่นแบบปกติ

 

3.มาตรการอื่นๆ

– ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้กับภาคเอกชน เช่น ค่าเช่าพื้นที่ราชพัสดุ

– บรรเทาภาระค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือนและกิจการขนาดเล็ก

– ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง จากเดิม 5 % เหลือ 4 % เวลา 6 เดือน

– มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มอีก 2 แสนบาท สำหรับการลงทุนในช่วง 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 จากเดิมที่ให้หักลดหย่อนได้ 2 แสนบาท โดยอาจพิจารณาขยายเวลาให้อีกหากมีความจำเป็น

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ตลาดหุ้นไทยรีบาวน์หลังปรับตัวลงแรงกว่า 108 จุดวานนี้ โดยช่วงเช้า SET Index ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,285.65 จุด เพิ่มขึ้น 29.71 จุด หรือเพิ่มขึ้น 2.3%DoD จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 1,255.94 ก่อนที่ช่วงบ่ายดัชนีจะย่อตัวลง แม้จะมีแรงหนุนเพิ่มจาก ครม. มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 โดยสิ้นวันนี้ ดัชนีปิดที่ 1271.25 จุด เพิ่มขึ้น 15.31 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.22%DoD

 

โดยวันนี้หุ้นที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อดัชนี ได้แก่ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) เพิ่มขึ้น 2.75%DoD มีผลกระทบต่อดัชนี 2.29 จุด, บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) เพิ่มขึ้น 1.66%DoD มีผลกระทบต่อดัชนี 1.32 จุด, บมจ. ปตท. (PTT) เพิ่มขึ้น 1.79%DoD มีผลกระทบต่อดัชนี 1.32 จุด, บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เพิ่มขึ้น 3.06%DoD มีผลกระทบต่อดัชนี 0.99 จุด, บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เพิ่มขึ้น 5.04%DoD มีผลกระทบต่อดัชนี 0.98 จุด

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่า มาตรการข้างต้นเป็นเพียงแค่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงช่วยลดความกังวลต่อภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้บ้างในช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยนักลงทุนคงต้องติดตามมาตรการเยียวยาผลกระทบในระยะถัดไปอีก 

 

หลังประเมินทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยลบกดดันทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังต้องจับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่ง SCBS คาดว่า จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 0.75% ในการประชุมครั้งนี้

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาว ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกประเทศจีนที่รุนแรงขึ้น รวมถึงสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียที่ยังกดดันต่อหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำ ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ต่อภาพรวมการลงทุนที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

หมายเหตุ %DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X